คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4373/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ผู้เสียหายในทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำไปในทางปฏิบัติหน้าที่ ฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากหน่วยงานรัฐโดยตรง แต่ห้ามมิให้ฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากเจ้าหน้าที่รัฐนั้น เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดในขณะที่ปฏิบัติหน้าที่ จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์ในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 1 ได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวหาได้บัญญัติให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ผู้กระทำละเมิดดังเช่นในฐานะนายจ้างกับลูกจ้างไม่ จึงไม่อาจกำหนดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง มาใช้บังคับ แต่เนื่องจากตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มิได้บัญญัติอายุความฟ้องร้องหน่วยงานรัฐได้โดยเฉพาะ จึงต้องนำกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 มาใช้บังคับแก่กรณีนี้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 97,785.38 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 90,963.15 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 24 เมษายน 2555 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 5 กันยายน 2555) ให้ไม่เกิน 6,822.23 บาท ตามที่โจทก์ขอกับให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุที่สมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างประจำของสำนักงานเขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่นและเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 โดยจำเลยที่ 1 ทำหน้าที่เป็นพนักงานขับรถยนต์บรรทุกขนขยะของสำนักงานเขตดอนเมือง อันเป็นกิจการของจำเลยที่ 2 ผู้เป็นนายจ้าง เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2554 เวลา 9 นาฬิกาเศษ ขณะที่จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกขยะหมายเลขทะเบียน 93 – 9725 กรุงเทพมหานคร ไปตามถนนกำแพงเพชร 6 จากทางดอนเมืองมุ่งหน้าไปทางหลักสี่ รถยนต์คันที่จำเลยที่ 1 ขับพุ่งชนท้ายรถยนต์เก๋ง ยี่ห้อโตโยต้ารุ่นคัมรี่ หมายเลขทะเบียน สร 6766 กรุงเทพมหานคร ซึ่งนายวัชริศม์เป็นผู้ขับและเอาประกันภัยไว้แก่โจทก์ เป็นเหตุให้รถยนต์เก๋งคันดังกล่าวได้รับความเสียหาย โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันนั้นได้ออกเงินซ่อมแซมรถยนต์จนอยู่ในสภาพที่ดี โจทก์จึงรับช่วงสิทธิของนายวัชริศม์ที่จะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนในมูลละเมิดจากจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 880 ครั้นต่อมาเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2555 โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 และสำนักงานเขตดอนเมืองเป็นจำเลยต่อศาลชั้นต้นขอให้บังคับให้จำเลยที่ 1 และสำนักงานเขตดอนเมือง ร่วมกันชดใช้ค่าซ่อมรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยให้แก่โจทก์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2555 ว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างในหน่วยงานของรัฐ แม้จำเลยที่ 1 กระทำละเมิดโจทก์ก็ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ให้ชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ได้ แต่ต้องฟ้องหน่วยงานของรัฐเป็นจำเลย ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ส่วนสำนักงานเขตดอนเมืองจำเลยที่ 2 ไม่เป็นนิติบุคคล จึงมีคำสั่งไม่รับฟ้องของโจทก์ ให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความ วันที่ 5 กันยายน 2555 โจทก์จึงยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้
ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า เหตุละเมิดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2554 แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2555 ซึ่งล่วงพ้นกำหนดปีหนึ่งนับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง เห็นว่า ตามที่พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ผู้เสียหายในมูลละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำไปในการปฏิบัติหน้าที่ฟ้องเรียก ค่าสินไหมทดแทนจากหน่วยงานของรัฐโดยตรง แต่ห้ามมิให้ฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากเจ้าหน้าที่นั้น เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดในขณะที่ปฏิบัติหน้าที่ จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์ในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 1 ได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวหาได้บัญญัติให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ผู้กระทำละเมิดดังเช่นในฐานะนายจ้างกับลูกจ้างไม่ จึงไม่อาจนำกำหนดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง มาใช้บังคับแก่กรณีนี้ได้ แต่เนื่องจากตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มิได้บัญญัติอายุความฟ้องร้องหน่วยงานของรัฐไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำกำหนดอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 มาใช้บังคับแก่กรณีนี้ ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 1 กระทำละเมิดเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2554 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2555 ยังไม่พ้นกำหนดอายุความ 10 ปี คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share