แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 วรรคสอง จำคุก 2 ปี และปรับ 200,000 บาท ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้ให้ลงโทษตามมาตรา 66 วรรคหนึ่ง จำคุก 3 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 2 แก้เฉพาะวรรคในมาตรา 66 และแก้โทษด้วยนั้น โดยความผิดตามวรรคหนึ่งและวรรคสองของพระราชบัญญัติดังกล่าวมีอัตราโทษขั้นต่ำและขั้นสูงต่างกันมาก ซึ่งความผิดตามวรรคหนึ่งนั้น มีอัตราโทษจำคุกขั้นต่ำสี่ปี ขั้นสูงสิบห้าปี หรือปรับขั้นต่ำแปดหมื่นบาทถึงสามแสนบาท แต่วรรคสองมีอัตราโทษจำคุกขั้นต่ำสี่ปี ขั้นสูงจำคุกตลอดชีวิต และปรับขั้นต่ำสี่แสนบาท ขั้นสูงห้าล้านบาท การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 แก้วรรคและแก้โทษในกรณีความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 นั้น เป็นการแก้ไขมาก ไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218
เมทแอมเฟตามีนของกลางที่จำเลยทั้งสองมีไว้ในครอบครองมีจำนวน 50 เม็ด คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 1.10 กรัม จึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2) ให้ถือว่าเป็นการมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายลงโทษตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 วรรคสอง
โทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางที่เจ้าพนักงานตำรวจยึดได้จากจำเลยที่ 2 นั้น จำเลยที่ 2 ได้นำโทรศัพท์เคลื่อนที่ดังกล่าวมาใช้ในการติดต่อซื้อขายเมทแอมเฟตามีนกับสายลับ โดยติดต่อนัดหมายเวลาและสถานที่ในการส่งมอบเมทแอมเฟตามีน โทรศัพท์เคลื่อนที่ดังกล่าวจึงเป็นเครื่องมือ เครื่องใช้ หรือวัตถุอื่น ซึ่งได้ใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 102 จึงให้ริบ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ริบเมทแอมเฟตามีนและโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง
จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยานโจทก์ จำเลยที่ 1 ขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพ
จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง วรรคสาม (2), 66 วรรคสอง จำคุกคนละ 6 ปี และปรับคนละ 400,000 บาท จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ส่วนจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 3 ปี และปรับ 200,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 4 ปี 6 เดือน และปรับ 300,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้กักขังแทนค่าปรับได้ไม่เกินสองปี ริบเมทแอมเฟตามีนและโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคหนึ่ง จำคุก 6 ปี โดยไม่ลงโทษปรับ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้ว คงจำคุก 3 ปี ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ไม่ริบโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 0 1403 8842 ของกลาง โดยให้คืนแก่เจ้าของ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีในส่วนของจำเลยที่ 1 นั้น ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 วรรคสอง จำคุก 2 ปี และปรับ 200,000 บาท ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้ให้ลงโทษตามมาตรา 66 วรรคหนึ่ง จำคุก 3 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 2 แก้เฉพาะวรรคในมาตรา 66 และแก้โทษด้วยนั้น โดยความผิดตามวรรคหนึ่งและวรรคสองของพระราชบัญญัติดังกล่าวมีอัตราโทษขั้นต่ำและขั้นสูงต่างกันมาก ซึ่งความผิดตามวรรคหนึ่งนั้นมีอัตราโทษจำคุกขั้นต่ำสี่ปี ขั้นสูงสิบห้าปี หรือปรับขั้นต่ำแปดหมื่นบาทถึงสามแสนบาท แต่วรรคสองมีอัตราโทษจำคุกขั้นต่ำสี่ปี ขั้นสูงจำคุกตลอดชีวิต และปรับขั้นต่ำสี่แสนบาท ขั้นสูงห้าล้านบาท การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 แก้วรรคและแก้โทษในกรณีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 นั้น เป็นการแก้ไขมาก ไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง ร้อยตำรวจเอกปกรณ์กับพวกจับกุมจำเลยทั้งสองได้พร้อมเมทแอมเฟตามีน จำนวน 50 เม็ด โดยกล่าวหาว่าร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า พยานหลักฐานของโจทก์รับฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครอง ดังนั้น เมื่อเมทแอมเฟตามีนของกลางที่จำเลยทั้งสองมีไว้ในครอบครองมีจำนวน 50 เม็ด คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 1.10 กรัม จึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2) ให้ถือว่าเป็นการมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย พยานหลักฐานของโจทก์จึงรับฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 50 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวการร่วมกันในการมีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 50 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ซึ่งเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 วรรคสอง ส่วนโทรศัพท์เคลื่อนที่ หมายเลข 0 1403 8842 ที่เจ้าพนักงานตำรวจยึดได้จากจำเลยที่ 2 นั้น โจทก์ได้นำสืบว่า จำเลยที่ 2 ได้นำโทรศัพท์เคลื่อนที่ดังกล่าวมาใช้สำหรับติดต่อซื้อขายเมทแอมเฟตามีนกับสายลับ โดยติดต่อนัดหมายเวลาและสถานที่ในการส่งมอบเมทแอมเฟตามีน โทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางดังกล่าวจึงเป็นเครื่องมือ เครื่องใช้ หรือวัตถุอื่น ซึ่งได้ใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 102 จึงให้ริบเสีย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีจำเลยทั้งสองไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น