คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15436/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความผิดฐานสำแดงเท็จในการยื่นตราสารอันเกี่ยวด้วย พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในการนำเข้าสินค้าตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 99 มี พ.ร.บ.ศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ.2482 มาตรา 16 บัญญัติว่า “การกระทำที่บัญญัติไว้ใน… มาตรา 99 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พุทธศักราช 2469 นั้น ให้ถือว่าเป็นความผิดโดยมิพักต้องคำนึงว่าผู้กระทำมีเจตนาหรือกระทำโดยประมาทเลินเล่อหรือหาไม่” แสดงให้เห็นว่า ความรับผิดของผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 99 เป็นความรับผิดเด็ดขาด แม้ผู้กระทำมิได้มีเจตนาในการกระทำความผิดโดยผู้กระทำมิได้รู้ว่าตราสารที่ยื่นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในการนำเข้าสินค้านั้นได้สำแดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือผู้กระทำได้กระทำโดยประมาทเลินเล่อในการยื่นตราสารซึ่งสำแดงข้อความอันเป็นเท็จนั้น ผู้กระทำก็ยังคงมีความผิดตามมาตรา 99 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว
แม้จำเลยทั้งสามเป็นเพียงผู้รับจ้างทำพิธีการศุลกากร ไม่ใช่ผู้สั่งซื้อสินค้าหรือเจ้าของสินค้า และขณะยื่นใบขนสินค้าและการสำแดงใด ๆ เกี่ยวกับการนำเข้าและส่งออกซึ่งสินค้าบุหรี่ดังกล่าวนั้นบรรจุอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์และอยู่ในอารักขาของกรมศุลกากร จำเลยทั้งสามจะไม่ทราบว่าสินค้าบุหรี่ดังกล่าวเป็นสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าปลอมก็ตาม แต่เมื่อความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 99 เป็นความผิดที่แม้ผู้กระทำไม่มีเจตนาหรือมิได้กระทำโดยประมาท ผู้กระทำการยื่นใบขนสินค้าขาเข้าที่สำแดงข้อความอันเป็นเท็จต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ยังคงมีความผิดตาบทบัญญัติดังกล่าว เป็นหน้าที่ของจำเลยทั้งสามต้องตรวจสอบข้อความในใบขนสินค้าขาเข้าที่สำแดงให้ตรงกับความเป็นจริงก่อนยื่นเอกสาร

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 และ 99 พระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ.2509 มาตรา 19, 27, 49 และ 52 พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 108 และ 110 (1) พระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ.2522 มาตรา 5 และ 20 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83 และ 91 กับให้ริบของกลาง
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดฐานร่วมกันสำแดงเท็จในการนำเข้าสินค้า ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 99 (ที่ถูกประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83) ลงโทษจำเลยที่ 1 ปรับ 80,000 บาท และลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 จำคุกคนละ 2 เดือน และปรับคนละ 50,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนดคนละ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับ ให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ชำระค่าปรับ ให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และ 30 ริบของกลาง คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยทั้งสามไม่โต้แย้งกันในชั้นอุทธรณ์รับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 มีฐานะเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 3 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ตั้งแต่จดทะเบียนก่อตั้งบริษัทจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2539 เป็นต้นมา ตามสำเนาหนังสือรับรอง ต่อมาวันที่ 22 มิถุนายน 2548 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนแก้ไขกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 จากจำเลยที่ 3 มาเป็นจำเลยที่ 2 โดยลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 กระทำการแทนจำเลยที่ 1 ได้ ต่อมาเมื่อวันที่ 21 ถึงวันที่ 29 พฤศจิกายน 2548 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 3 กรรมการบริษัทจำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำขออนุญาตนำยาสูบชนิดบุหรี่ซิกาแรตที่ผลิตในต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักร โดยยื่นใบขนสินค้าขาเข้าเพื่อขอรับสินค้าบุหรี่ที่ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “MARLBOLO” ระบุแหล่งกำเนิดของสินค้าว่าประเทศสหรัฐอเมริกาจำนวน 515,000 ซอง และยื่นคำขออนุญาตส่งยาสูบดังกล่าวออกไปนอกราชอาณาจักรที่ประเทศมาเลเซียต่อสำนักงานสรรพสามิตกรุงเทพมหานครพื้นที่ 3 สำนักงานสรรพสามิตกรุงเทพมหานครพื้นที่ 3 ได้ออกใบอนุญาตให้นำยาสูบดังกล่าวเข้าและส่งออกไปนอกราชอาณาจักรให้แก่จำเลยที่ 1 โดยวิธีที่เรียกว่า “RE – EXPORT” จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 3 ได้ชำระอากรขาเข้าสำหรับการนำเข้าและส่งออกโดยวิธีดังกล่าวจำนวน 1,000 บาท แล้วตามใบอนุญาตให้นำเข้าและใบอนุญาตให้ส่งออกไปนอกราชอาณาจักรและใบขนสินค้าขาเข้าชนิด “RE – EXPORT ต่อมาวันที่ 30 พฤศจิกายน 2548 ขณะที่สินค้าบุหรี่ดังกล่าวอยู่ในอารักขาของกรมศุลกากรโดยบรรจุอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์ซึ่งเก็บไว้ที่โรงพักสินค้าที่ 16 ของท่าเรือกรุงเทพ จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 3 ได้ว่าจ้างนายกิตติคุณทำพิธีการศุลกากรเพื่อนำเข้าสินค้าบุหรี่ดังกล่าวและส่งออกไปประเทศมาเลเซีย หรือ “RE – EXPORT” เจ้าพนักงานศุลกากรได้ทำการตรวจสอบสินค้าดังกล่าวโดยเปิดตู้คอนเทนเนอร์เพื่อตรวจสอบสภาพ ชนิดและจำนวนสินค้า ปรากฏว่าสินค้ามีจำนวนตรงตามที่ระบุในใบขนสินค้าขาเข้า แต่เจ้าพนักงานศุลกากรมีเหตุอันควรสงสัยว่าสินค้าดังกล่าวเป็นสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “MARLBOLO” ปลอม จึงได้ติดต่อไปยังบริษัทติลลิกีแอนด์กิบบินส์อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งเป็นตัวแทนของฟิลิปมอร์ริส โปรดัคส์ เอส.อา. ซึ่งเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าดังกล่าวและได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไว้กับสินค้ายาสูบชนิดบุหรี่ซิกาแรตที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว ซึ่งจากการตรวจสอบของบริษัทดังกล่าวพบว่าสินค้าบุหรี่ที่นำเข้าทั้งหมดเป็นสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าคำว่า “MARLBOLO” ของบริษัทผู้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร บริษัทดังกล่าวจึงได้แจ้งความต่อเจ้าพนักงานศุลกากรให้ดำเนินคดีตามกฎหมาย เจ้าพนักงานศุลกากรได้ยึดสินค้าบุหรี่ทั้งหมดเป็นของกลางและประเมินราคาสำหรับสินค้าดังกล่าวเป็นเงินจำนวน 11,399,068.71 บาท ค่าอากรขาเข้าจำนวน 6,839,441 บาท ค่าภาษีสรรพสามิตจำนวน 54,715,530 บาท ค่าภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 5,106,738 บาท และเงินบำรุงกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพจำนวน 1,094,311 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 79,155,133.71 บาท กรมศุลกากรพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานสำแดงเท็จหลีกเลี่ยงข้อห้ามข้อจำกัดตามมาตรา 27 และ 99 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 และได้มีหนังสือถึงจำเลยที่ 1 ให้ชี้แจงข้อเท็จจริง จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 3 ได้มีหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 เพียงแต่รับจ้างทำพิธีการศุลกากรให้แก่เจ้าของสินค้าเท่านั้น โดยจำเลยที่ 1 ไม่มีเจตนานำเข้าของต้องห้ามตามสำเนาหนังสือขอให้ชี้แจงข้อเท็จจริงลงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2549 และหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงลงวันที่ 10 มีนาคม 2549 ต่อมาวันที่ 5 เมษายน 2549 กรมศุลกากรมีหนังสือถึงจำเลยที่ 1 ให้ไปทำความตกลงระงับคดี แต่จำเลยที่ 1 ไม่ไปและมีหนังสือชี้แจงว่าบริษัทชางเต้าทอนด้าเทรดดิ้ง จำกัด เป็นเจ้าของสินค้าและเป็นผู้ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ทำพิธีการศุลกากรในการนำสินค้าเข้าและส่งออกโดยวิธีที่เรียกว่า “RE – EXPORT” ไปยังประเทศมาเลเซียโดยจำเลยที่ 1 ไม่ทราบว่าสินค้าที่นำเข้าเป็นสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าปลอมและขอให้กรมศุลกากรพิจารณาทบทวนคำสั่งอีกครั้ง ตามสำเนาหนังสือขอให้ไปทำความตกลงระงับคดีลงวันที่ 5 เมษายน 2549 และหนังสือขออุทธรณ์คดีลงวันที่ 26 พฤษภาคม 2549 จากนั้นกรมศุลกากรได้ส่งเรื่องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด
สำหรับความผิดฐานนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งของต้องห้ามโดยหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากรตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ความผิดฐานนำยาสูบเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตและฐานมีไว้ในครอบครองซึ่งสินค้ายาสูบโดยมิได้ปิดแสตมป์ยาสูบ ตามพระราชบัญญัติยาสูบพ.ศ.2509 มาตรา 49 ประกอบมาตรา 19 กับมาตรา 52 ประกอบมาตรา 27 และความผิดฐานนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 108 ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ไม่อุทธรณ์ ความผิดฐานดังกล่าวทั้งหมดจึงเป็นอันยุติไป
คงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามเพียงข้อเดียวว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดฐานร่วมกันสำแดงเท็จในการนำเข้าสินค้าตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 99 ดังที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาหรือไม่ เห็นว่า ความผิดฐานสำแดงเท็จในการยื่นตราสารอันเกี่ยวด้วยพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในการนำเข้าสินค้าตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 99 นั้น พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ.2482 มาตรา 16 บัญญัติว่า “การกระทำที่บัญญัติไว้ใน … มาตรา 99 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 นั้น ให้ถือว่าเป็นความผิดโดยมิพักต้องคำนึงว่าผู้กระทำมีเจตนาหรือกระทำโดยประมาทเลินเล่อหรือหาไม่” แสดงให้เห็นว่าความรับผิดของผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 99 เป็นความรับผิดเด็ดขาด แม้ผู้กระทำมิได้มีเจตนาในการกระทำความผิดโดยผู้กระทำมิได้รู้ว่าตราสารที่ยื่นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในการนำเข้าสินค้านั้นได้สำแดงข้อความอันเป็นเท็จหรือผู้กระทำได้กระทำโดยประมาทเลินเล่อในการยื่นตราสารซึ่งสำแดงข้อความอันเป็นเท็จนั้น ผู้กระทำก็ยังคงมีความผิดตามมาตรา 99 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า บริษัทจำเลยที่ 1 ซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนได้ให้จำเลยที่ 3 กรรมการบริษัทซึ่งเคยเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ยื่นคำขออนุญาตนำยาสูบชนิดบุหรี่ซิกาแรตที่ผลิตในต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักรโดยยื่นใบขนสินค้าขาเข้าเพื่อขอรับสินค้าบุหรี่ที่ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “MARLBOLO” ระบุแหล่งกำเนิดของสินค้าว่าประเทศสหรัฐอเมริกาจำนวน 515,000 ซอง และยื่นคำขออนุญาตส่งยาสูบดังกล่าวออกไปนอกราชอาณาจักรที่ประเทศมาเลเซียต่อสำนักงานสรรพสามิตกรุงเทพมหานครพื้นที่ 3 โดยใช้บัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของกรมศุลกากรของจำเลยที่ 3 สำนักงานดังกล่าวได้ออกใบอนุญาตให้นำยาสูบนั้นเข้าและส่งออกไปนอกราชอาณาจักรให้แก่จำเลยที่ 1 โดยวิธี “RE – EXPORT” จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 3 ได้ชำระอากรขาเข้าสำหรับการนำเข้าและส่งออกโดยวิธีดังกล่าวจำนวน 1,000 บาท แล้วขณะที่สินค้าบุหรี่ดังกล่าวอยู่ในอารักขาของกรมศุลกากร จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 3 ได้ว่าจ้างนายกิตติคุณ ทำพิธีการศุลกากรเพื่อนำเข้าซึ่งสินค้าบุหรี่ดังกล่าวและส่งออกไปประเทศมาเลเซีย เจ้าพนักงานศุลกากรได้ทำการตรวจสินค้านั้นแล้วพบว่า สินค้ามีจำนวนตรงตามที่ระบุในใบขนสินค้าขาเข้าแต่เจ้าพนักงานศุลกากรมีเหตุอันควรสงสัยว่าสินค้านั้นเป็นสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “MARLBOLO” ปลอม จึงได้ติดต่อไปยังบริษัทติลลิกีแอนด์กิบบินส์อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งเป็นตัวแทนของฟิลิปมอร์ริส โปรดัคส์ เอส.อา. ผู้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า “MARLBOLO” และได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไว้กับสินค้ายาสูบชนิดบุหรี่ซิกาแรตที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว ซึ่งจากการตรวจสอบของบริษัทดังกล่าวพบว่าสินค้าบุหรี่ที่นำเข้าทั้งหมดเป็นสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าคำว่า “MARLBOLO” ของบริษัทผู้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร ดังนี้ ข้อความในใบขนสินค้าขาเข้าที่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 3 ยื่นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่สำแดงว่าเป็นสินค้าบุหรี่ที่ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “MARLBOLO” โดยระบุแหล่งกำเนิดของสินค้าว่าประเทศสหรัฐอเมริกานั้นจึงเป็นข้อความอันเป็นเท็จ โดยสินค้าบุหรี่ดังกล่าวมิใช่สินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “MARLBOLO” ที่แท้จริงแต่เป็นสินค้าปลอม แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ตามที่จำเลยทั้งสามนำสืบและอุทธรณ์ว่า จำเลยทั้งสามเป็นเพียงผู้รับจ้างทำพิธีการศุลกากรไม่ใช่ผู้สั่งซื้อสินค้าหรือเจ้าของสินค้า และขณะยื่นใบขนสินค้าและการสำแดงใด ๆ เกี่ยวกับการนำเข้าและส่งออกซึ่งสินค้าบุหรี่ดังกล่าวนั้นบรรจุอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์และอยู่ในอารักขาของกรมศุลกากร จำเลยทั้งสามไม่ทราบว่าสินค้าบุหรี่ดังกล่าวเป็นสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าปลอมก็ตาม แต่เมื่อความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 99 เป็นความผิดที่แม้ผู้กระทำไม่มีเจตนาหรือมิได้กระทำโดยประมาท ผู้กระทำการยื่นใบขนสินค้าขาเข้าที่สำแดงข้อความอันเป็นเท็จต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ยังคงมีความผิดตามบทบัญญัติ มาตรา 99 ดังกล่าว ทั้งนี้ โดยนัยของมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ.2482 ดังได้วินิจฉัยมาข้างต้น เป็นหน้าที่ของจำเลยทั้งสามต้องตรวจสอบข้อความในใบขนสินค้าขาเข้าที่สำแดงให้ตรงกับความเป็นจริงก่อนยื่นเอกสารนั้น เมื่อปรากฏว่าข้อความในใบขนสินค้าขาเข้าดังกล่าวเป็นความเท็จ จำเลยที่ 2 กรรมการบริษัทจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ซึ่งเคยเป็นกรรมการผู้มีอำนาจบริษัทจำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดกับบริษัทจำเลยที่ 1 กรณีถือได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานยื่นใบขนสินค้าขาเข้าที่สำแดงข้อความอันเป็นเท็จต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 99 ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสามมีความผิดฐานร่วมกันสำแดงเท็จในการนำเข้าสินค้า ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 99 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share