คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4922/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้โจทก์จะฟ้องว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันว่าจ้างให้โจทก์ลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์แต่โจทก์นำสืบได้ความว่าจำเลยที่2ซึ่งเป็นผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดของจำเลยที่1ทำสัญญาแทนจำเลยที่1ศาลฎีกาก็มีอำนาจวินิจฉัยให้จำเลยที่1รับผิดต่อโจทก์ได้ไม่เป็นเรื่องนอกคำฟ้องของโจทก์เพราะเป็นการวินิจฉัยตรงตามประเด็นพิพาทแห่งคดีเนื่องจากในการติดต่อว่าจ้างทำของจำเลยที่1อาจกระทำโดยตนเองหรือโดยมีจำเลยที่2เป็นตัวแทนไปติดต่อทำสัญญากับโจทก์แทนก็ได้จำเลยที่1จะอ้างว่าจำเลยที่2ลงชื่อในสัญญาเป็นเรื่องส่วนตัวหาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันว่าจ้างให้โจทก์ลงโฆษณารับสมัครพนักงานกับโครงการบ้านและที่ดินให้แก่จำเลยทั้งสองในหนังสือพิมพ์ 2 ฉบับ โดยทำสัญญาว่าจ้างโจทก์2 คราว คราวแรกเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2533 เป็นเงินค่าจ้าง84,600 บาท คราวที่สองเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2533 เป็นเงินค่าจ้าง12,960 บาท รวมเป็นเงินค่าจ้างทั้งหมด 97,560 บาท โจทก์ได้ดำเนินการลงโฆษณาให้ครบถ้วนแล้ว ต่อมาวันที่ 31 ธันวาคม 2533โจทก์ได้ส่งใบแจ้งหนี้ให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ จำเลยทั้งสองได้รับแล้วแต่เพิกเฉย จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันชำระเงินต้นแต่ละจำนวนพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีตามสัญญา นับตั้งแต่วันที่5 มกราคม 2534 และวันที่ 29 ธันวาคม 2533 เป็นต้นไปจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 13,139.28 บาท และ 2,048.20 บาท ตามลำดับ รวมเป็นเงินที่จำเลยทั้งสองจะต้องชำระจำนวน 112,747.48 บาท จึงขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 112,747.48 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของเงินต้น 97,560 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม จำเลยที่ 1 ไม่เคยตกลงหรือร่วมกับจำเลยที่ 2 ว่าจ้างโจทก์ให้ลงโฆษณาตามฟ้องสัญญาว่าจ้างโจทก์ทั้งสองคราวมีแต่ชื่อจำเลยที่ 2 เป็นคู่สัญญากับโจทก์เท่านั้น โดยจำเลยที่ 1 ไม่เคยมอบอำนาจเป็นหนังสือหรือวาจาให้จำเลยที่ 2 ทำสัญญาแทนและไม่ได้ให้สัตยาบันแต่อย่างใดสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าวไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1ไม่เคยรับหนังสือทวงถามจากโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าโฆษณาจำนวน97,560 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันที่ 5 มกราคม 2534 จากเงินต้น 84,600 บาท และนับตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2533 จากเงินต้น 12,960 บาท เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้อง (วันที่ 20 มกราคม 2535)มีจำนวนรวมกันต้องไม่เกิน 15,187.48 บาท ยกฟ้องจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง (ที่ถูก พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 เสียด้วย)
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองให้ฎีกาในข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่อำเภอเมืองเชียงใหม่จังหวัดเชียงใหม่ และสำนักงานสาขาอยู่ที่เลขที่ 88/30ถนนเทศบาลสงเคราะห์ แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2533 และวันที่ 25 ธันวาคม 2533 จำเลยที่ 2ซึ่งเป็นผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดของจำเลยที่ 1 ได้ลงชื่อในสัญญาว่าจ้างโฆษณากิจการขายอาคารพร้อมที่ดินและการรับสมัครพนักงานซึ่งมีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ว่าจ้างตามสัญญาลงโฆษณาเอกสารหมาย จ.5 และ จ.10 รวมเป็นค่าจ้าง 97,560 บาท ซึ่งโจทก์ได้จัดให้มีการลงโฆษณาตามสัญญาดังกล่าว ตามที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์เอกสารหมาย จ.6 ถึง จ.9 จ.11 และ จ.12 ต่อมามีการแจ้งหนี้และตรวจสอบการชำระเงินค่าโฆษณาตามเอกสารหมาย จ.14 และ 15 เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2534 จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนเพิ่มเติมสาขาของจำเลยที่ 1 ที่กรุงเทพมหานครตามเอกสารหมาย ล.1ต่อมาวันที่ 11 เมษายน 2534 จำเลยที่ 2 ได้มีหนังสือแจ้งให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องทราบว่า จำเลยที่ 2 ได้ลาออกจากการเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ.20 และเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2534จำเลยที่ 1 ได้มีคำส่งปิดสำนักงานของจำเลยที่ 1 สาขากรุงเทพมหานครตามคำสั่งที่ พ.1/2534 ตามเอกสารหมาย จ.21 ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงต่อไปว่า จำเลยที่ 1 ได้ว่าจ้างโจทก์ให้ลงโฆษณาตามสัญญาลงโฆษณาเอกสารหมาย จ.5 และ จ.10 จำเลยที่ 1จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาว่าจ้างลงโฆษณาเอกสารหมาย จ.5 และจ.10 แม้โจทก์จะฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันว่าจ้างให้โจทก์ลงโฆษณา แต่โจทก์นำสืบได้ความว่า จำเลยที่ 2 ทำสัญญาแทนจำเลยที่ 1ศาลฎีกาก็มีอำนาจวินิจฉัยให้จำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ได้ ไม่เป็นเรื่องนอกคำฟ้องของโจทก์ เพราะเป็นการวินิจฉัยตรงตามประเด็นพิพาทแห่งคดี เนื่องจากในการติดต่อว่าจ้างทำของจำเลยที่ 1 อาจกระทำโดยตนเองหรือโดยมีจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนไปติดต่อทำสัญญากับโจทก์แทนก็ได้ จำเลยที่ 1 จะอ้างว่าจำเลยที่ 1เพิ่งจดทะเบียนสาขากรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2534ตามเอกสารหมาย ล.1 และจำเลยที่ 2 ลงชื่อในสัญญาว่าจ้างลงโฆษณาเป็นเรื่องส่วนตัวหาได้ไม่
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share