คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9523/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่เจ้าพนักงานบังคับคดี กรมบังคับคดี ทำสัญญาซื้อขายทรัพย์จำนองกับจำเลยที่ 1 ถือว่าเจ้าพนักงานบังคับคดี กรมบังคับคดี กระทำในฐานะเป็นผู้แทนธนาคาร ท. ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีเดิม เมื่อจำเลยที่ 1 ผู้เข้าสู้ราคาสูงสุดในการขายทอดตลาดชั้นเดิมละเลยไม่นำเงินค่าซื้อทรัพย์ส่วนที่เหลือมาชำระตามสำเนาสัญญาซื้อขาย จนเจ้าพนักงานบังคับคดีต้องขายทอดตลาดทรัพย์จำนองซ้ำอีกครั้งหนึ่งและได้เงินสุทธิไม่คุ้มราคาและค่าขายทอดตลาดชั้นเดิม ย่อมทำให้ธนาคาร ท. เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีเดิมได้รับความเสียหายเนื่องจากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดครั้งหลังน้อยกว่าครั้งก่อน ทำให้ธนาคาร ท. ไม่ได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาจนครบถ้วน จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดในส่วนที่ขาดตามที่ระบุในสัญญาและตาม ป.พ.พ. มาตรา 516 การกระทำของจำเลยที่ 1 ถือได้ว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิของธนาคาร ท. โจทก์ในคดีเดิมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55
จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์รับโอนหนี้จากธนาคาร ท. หลังจากคดีเดิมสิ้นสุดแล้ว โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น ในปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับอำนาจฟ้องซึ่งเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ แม้จะมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง ประกอบมาตรา 247 พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาตรา 7 บัญญัติว่า “ในการโอนสินทรัพย์ไปให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ ถ้ามีการฟ้องบังคับสิทธิเรียกร้องเป็นคดีอยู่ในศาล ให้บริษัทบริหารสินทรัพย์เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนในคดีดังกล่าว … และในกรณีที่ศาลได้มีคำพิพากษาบังคับตามสิทธิเรียกร้องนั้นแล้ว ก็ให้เข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษานั้น” ดังนั้น แม้คดีเดิมธนาคาร ท. อยู่ระหว่างบังคับคดีแก่จำเลยที่ 1 ธนาคาร ท. สามารถโอนสิทธิเรียกร้องที่มีต่อจำเลยที่ 1 ซึ่งศาลได้มีคำพิพากษาบังคับตามสิทธิเรียกร้องแล้วให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 ได้ โจทก์มีสิทธิที่จะขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาโดยบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว และการเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาโดยผลของกฎหมายในกรณีนี้ หาได้ขัดต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ภาค 4 ในเรื่องการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง และหาได้ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 แต่ประการใดไม่ โจทก์ในฐานะตัวการย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีนี้ได้โดยไม่จำต้องเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีเดิมก่อน
หนังสือสัญญาซื้อขายระบุให้ผู้ซื้อทรัพย์ต้องรับผิดในกรณีที่ผู้ซื้อทรัพย์ผิดสัญญา และเจ้าพนักงานบังคับคดีนำทรัพย์ดังกล่าวออกขายทอดตลาดครั้งใหม่หากได้ราคาสุทธิต่ำกว่าครั้งก่อนเท่าใด ผู้ซื้อทรัพย์เดิมต้องรับผิดในส่วนที่ขาดนั้น ซึ่งเป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 516 ข้อตกลงดังกล่าวเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้า ในกรณีที่ผู้ซื้อผิดสัญญา ถือว่าเป็นเบี้ยปรับอย่างหนึ่งซึ่งหากกำหนดไว้สูงเกินส่วน ศาลย่อมมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 2,933,482.74 บาท พร้อมดอกเบี้ย อัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 2,650,300 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 2,650,300 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2552 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2552) ต้องไม่เกิน 283,182.74 บาท กับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 6,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์โดยได้รับอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์บางส่วน
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 366,780 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัด (วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2552) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ โดยกำหนด ค่าทนายความรวม 9,000 บาท และให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ทั้งสองศาลให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 ฎีกาโดยได้รับอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลชั้นฎีกาบางส่วน
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 1 ประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อขายทรัพย์จำนองกับเจ้าพนักงานบังคับคดี กรมบังคับคดี ไม่ได้ทำสัญญากับธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) หรือโจทก์ ดังนั้น เมื่อกรมบังคับคดีผู้เสียหายมิได้มอบอำนาจให้โจทก์ ประกอบกับโจทก์รับโอนหนี้จากธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) หลังจากคดีเดิมสิ้นสุดลงแล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เห็นว่า ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ภาค 4 ว่าด้วยอำนาจและหน้าที่ของเจ้าพนักงานบังคับคดี เมื่อศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีแล้ว นับแต่วันที่ได้ส่งหมายบังคับคดีให้แก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษา เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจในฐานะเป็นผู้แทนเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในอันที่จะรับชำระหนี้หรือทรัพย์สินที่ลูกหนี้นำมาวางและออกใบรับให้ กับมีอำนาจที่จะยึดหรืออายัดและยึดถือทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาไว้ และมีอำนาจที่จะเอาทรัพย์สินเช่นว่านี้ออกขายทอดตลาด ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 278 ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานบังคับคดี กรมบังคับคดี ทำสัญญาซื้อขายทรัพย์จำนองกับจำเลยที่ 1 ถือว่าเจ้าพนักงานบังคับคดี กรมบังคับคดี กระทำในฐานะเป็นผู้แทนธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีเดิม เมื่อจำเลยที่ 1 ผู้เข้าสู้ราคาสูงสุดในการขายทอดตลาดชั้นเดิมละเลยไม่นำเงินค่าซื้อทรัพย์ ส่วนที่เหลือมาชำระตามสำเนาสัญญาซื้อขาย ข้อ 2.3 จนเจ้าพนักงานบังคับคดีต้องขายทอดตลาดทรัพย์จำนองซ้ำอีกครั้งหนึ่งและได้เงินสุทธิไม่คุ้มราคาและค่าขายทอดตลาดชั้นเดิม ย่อมทำให้ธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีเดิมได้รับความเสียหายเนื่องจากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดครั้งหลังน้อยกว่าครั้งก่อน ทำให้ธนาคารไทยธนาคาร จำกัด ไม่ได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาจนครบถ้วน จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดในส่วนที่ขาดตามที่ระบุในสัญญาและตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 516 การกระทำของจำเลยที่ 1 ถือได้ว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิของธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) โจทก์ในคดีเดิมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ส่วนเจ้าพนักงานบังคับคดี กรมบังคับคดี คงเป็นเพียงเจ้าพนักงานในสังกัดกรมบังคับคดีในการที่จะบังคับคดีตามคำพิพากษาเท่านั้น ไม่มีอำนาจหน้าที่ที่จะเข้าเป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือเป็นคู่ความได้แต่ประการใด ที่จำเลยฎีกาว่า กรมบังคับคดีซึ่งเป็นคู่สัญญากับจำเลยที่ 1 ย่อมเป็นผู้เสียหาย เมื่อกรมบังคับคดีไม่ได้มอบอำนาจให้ธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) หรือโจทก์ดำเนินคดีนี้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์รับโอนหนี้จากธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) หลังจากคดีเดิมสิ้นสุดแล้ว โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น ในปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับอำนาจฟ้องซึ่งเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ แม้จะมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคสอง ประกอบมาตรา 247 เห็นว่า พระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาตรา 7 บัญญัติว่า “ในการโอนสินทรัพย์ไปให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ ถ้ามีการฟ้องบังคับเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนในคดีดังกล่าว … และในกรณีที่ศาลได้มีคำพิพากษาบังคับตามสิทธิเรียกร้องนั้นแล้ว ก็ให้เข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษานั้น” ดังนั้น แม้คดีเดิมธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) อยู่ระหว่างบังคับคดีแก่จำเลยที่ 1 ธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) สามารถโอนสิทธิ เรียกร้องที่มีต่อจำเลยที่ 1 ซึ่งศาลได้มีคำพิพากษาบังคับตามสิทธิเรียกร้องแล้วให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 ได้ โจทก์มีสิทธิที่จะขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาโดยบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว และการเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาโดยผลของกฎหมายในกรณีนี้ หาได้ขัดต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ภาค 4 ในเรื่องการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง และหาได้ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 แต่ประการใดไม่ และการโอนสิทธิเรียกร้องในรายของจำเลยที่ 1 โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนได้มอบอำนาจให้ธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเดิมเป็นผู้รับมอบอำนาจดำเนินคดีแทน ซึ่งถือได้ว่าเป็นการมอบหมายให้ธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) เป็นตัวแทนเรียกเก็บและรับชำระหนี้ที่เกิดขึ้นตามมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าว โจทก์ในฐานะตัวการย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีนี้ได้โดยไม่จำต้องเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีเดิมก่อน ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 1 ในประการต่อมาว่า จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 หรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ใช้หลักเกณฑ์การหาราคาที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดเป็นเบี้ยปรับโดยคำนวณจากราคาประเมินทรัพย์จำนองของเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นเงิน 5,200,000 บาท หักกับจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 ประมูลครั้งก่อนในราคาสูงสุด 5,630,000 บาท คงเหลือยอดเงิน 410,000 บาท หักกับเงินมัดจำที่จำเลยที่ 1 วางไว้ 50,000 บาท คงเหลือเงินที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิด 360,000 บาท เป็นการคำนวณความเสียหายที่ไม่เป็นธรรมแก่จำเลยที่ 1 และเกินกว่าความเสียหายที่โจทก์ได้รับนั้น เห็นว่า ตามหนังสือสัญญาซื้อขาย ข้อ 2.3 ระบุให้ผู้ซื้อทรัพย์ต้องรับผิดในกรณีที่ผู้ซื้อทรัพย์ผิดสัญญา และเจ้าพนักงานบังคับคดีนำทรัพย์ดังกล่าวออกขายทอดตลาดครั้งใหม่หากได้ราคาสุทธิต่ำกว่าครั้งก่อนเท่าใด ผู้ซื้อทรัพย์เดิมต้องรับผิดในส่วนที่ขาดนั้น ซึ่งเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 516 ข้อตกลงดังกล่าวเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้า ในกรณีที่ผู้ซื้อผิดสัญญา ถือว่าเป็นเบี้ยปรับอย่างหนึ่งซึ่งหากกำหนดไว้สูงเกินส่วน ศาลย่อมมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 ซึ่งในการวินิจฉัยว่าสมควรเพียงใดนั้น กฎหมายให้พิเคราะห์ถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า โจทก์ประมูลซื้อทรัพย์ไปในราคา 3,110,000 บาท ต่ำกว่าราคาที่จำเลยที่ 1 ประมูลไปในครั้งแรกอยู่ 2,520,000 บาท และยังไม่เพียงพอ ที่จะนำเงินดังกล่าวไปชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้ครบถ้วน ย่อมทำให้โจทก์ซึ่งมีสิทธิขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษายังไม่ได้รับชำระหนี้จนครบถ้วน ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดในความเสียหายดังกล่าวเป็นเงิน 2,520,000 บาท ซึ่งเป็นความเสียหายที่จำเลยที่ 1 คาดหมายได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ใช้หลักเกณฑ์การคำนวณค่าเสียหายข้างต้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา แต่เมื่อโจทก์ไม่ได้ฎีกา และค่าเสียหายที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดให้จำเลยที่ 1 รับผิดนั้น เป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 มากแล้ว ศาลฎีกาไม่เปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
จำเลยที่ 1 ฎีกาเป็นประการสุดท้ายว่า จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดในค่าใช้จ่ายในการขายทอดตลาดครั้งหลังเป็นเงิน 6,780 บาท หรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 ฎีกาว่า กรมบังคับคดีได้หักค่าใช้จ่ายในการขายทอดตลาดครั้งหลังเป็นเงิน 6,780 บาท จากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดครั้งหลังแล้วตามบัญชีแสดงรายการรับจ่ายนั้น เห็นว่า เงินค่าใช้จ่ายดังกล่าว กรมบังคับคดีหักจากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดครั้งหลังและเงินมัดจำของจำเลยที่ 1 อีก 50,000 บาท โจทก์จึงต้องเสียเงินจำนวนนี้ไปให้แก่กรมบังคับคดี จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชดใช้เงินส่วนนี้ให้โจทก์ ทั้งมิใช่กรณีที่กรมบังคับคดีซึ่งได้รับเงินค่าใช้จ่ายส่วนนี้คืนไปแล้วไม่ได้รับความเสียหายดังที่จำเลยที่ 1 ฎีกา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ในค่าใช้จ่ายดังกล่าวด้วยนั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน ส่วนฎีกาข้ออื่นของจำเลยที่ 1 ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาได้ ศาลฎีกาไม่จำต้องวินิจฉัย
พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกาแทนโจทก์เป็นเงิน 3,000 บาท

Share