แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์กระบะโดยประมาทพยายามแซงรถยนต์บรรทุกพ่วงที่จำเลยที่ 3 ขับ แต่จำเลยที่ 3 ก็ขับในลักษณะไม่ยอมให้แซง จึงเป็นเหตุให้รถยนต์กระบะและรถยนต์บรรทุกพ่วงแล่นตีคู่กันไปข้างหน้าด้วยความเร็วโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของรถที่แล่นสวนมาในช่องเดินรถฝั่งตรงข้าม เมื่อโจทก์ที่ 2 ขับรถยนต์แล่นสวนทางมา รถยนต์ที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ขับเฉี่ยวชนกันแล้วเสียหลักไปชนกับรถยนต์ที่โจทก์ที่ 2 ขับ ดังนี้ จำเลยที่ 3 มีส่วนประมาททำให้เกิดเหตุในคดีนี้ไม่ยิ่งหย่อนกว่าจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 3 มีส่วนประมาททำให้เกิดความเสียหายอันเดียวกันจึงพิพากษาให้ร่วมกันรับผิดได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 438
คำพิพากษาคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ใช้บังคับเฉพาะคู่ความในคดีอาญาเท่านั้น เมื่อจำเลยที่ 3 มิได้ถูกฟ้องคดีอาญาจึงไม่อาจนำข้อเท็จจริงในคดีส่วนอาญามาฟังเป็นยุติในคดีส่วนแพ่ง
ค่าโลงศพเป็นสิ่งจำเป็นในการจัดงานศพ ส่วนอาหารก็เป็นเรื่องจำเป็นที่เจ้าภาพต้องจัดเตรียมไว้จึงไม่ใช่ค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยตาม ป.พ.พ. มาตรา 443 วรรคหนึ่ง
โจทก์ทั้งสี่ต่างใช้สิทธิเฉพาะตัวของแต่ละคนฟ้องจำเลยทั้งหกให้รับผิดฐานละเมิดมาในคดีเดียวกัน ซึ่งไม่ใช่หนี้ร่วมที่ไม่อาจแบ่งแยกกันได้ การคิดทุนทรัพย์ต้องแยกของโจทก์แต่ละคน เมื่อจำนวนเงินที่โจทก์แต่ละคนเรียกร้องไม่เกิน 300,000 บาท คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวงพระนครศรีอยุธยา การที่ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยารับคดีไว้พิจารณาพิพากษาจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ คู่ความฝ่ายที่เสียหายอาจยกกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นขึ้นว่ากล่าวได้ในเวลาใด ๆ ก่อนมีคำพิพากษา แต่ต้องไม่ช้ากว่าแปดวันนับแต่วันที่คู่ความฝ่ายนั้นได้ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้าง และต้องมิได้ดำเนินการอันใดขึ้นใหม่หลังจากได้ทราบเรื่องผิดระเบียบแล้ว หรือมิได้ให้สัตยาบันแก่การผิดระเบียบนั้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 คดีนี้ โจทก์ทั้งสี่ยื่นฟ้องจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ต่อศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยาซึ่งไม่มีอำนาจที่จะรับฟ้องไว้พิจารณา แต่จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 กลับยินยอมให้ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยาดำเนินกระบวนพิจารณา โดยสืบพยานโจทก์ทั้งสี่และจำเลยทั้งหกจนทั้งสองฝ่ายแถลงหมดพยานและศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยาพิพากษาคดีแล้ว เท่ากับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ยอมปฏิบัติตามที่ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยาดำเนินกระบวนพิจารณาจนเสร็จสิ้นอันเป็นการให้สัตยาบันแก่การผิดระเบียบนั้นแล้ว จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 จึงไม่อาจยกการผิดระเบียบดังกล่าวขึ้นกล่าวอ้างได้
อนึ่ง ศาลชั้นต้นวินิจฉัยให้โจทก์แต่ละคนได้รับค่าสินไหมทดแทนแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ร่วมกันชำระเงิน 415,000 บาท ให้แก่โจทก์ทั้งสี่ โดยให้จำเลยที่ 6 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 เป็นเงิน 250,348 บาท พร้อมดอกเบี้ย โดยมิได้แยกเป็นความรับผิดต่อโจทก์แต่ละคน ทั้งให้จำเลยที่ 6 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยของจำเลยที่ 5 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ด้วย และศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนนั้น ไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไข
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสี่ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งหกร่วมกันชำระเงิน 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 29 พฤศจิกายน 2543 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสี่ กับขอให้ศาลสงวนสิทธิที่จะแก้ไขคำพิพากษาเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาลในอนาคตของโจทก์ที่ 2 ภายใน 2 ปี
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ร่วมกันชำระเงิน 415,000 บาท โดยให้จำเลยที่ 6 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 เป็นเงิน 250,348 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 29 พฤศจิกายน 2543 จนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ทั้งสี่ กับให้จำเลยทั้งหกร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสี่ โดยกำหนดค่าทนายความ 15,000 บาท
จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ฎีกา
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ที่ 4 ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ยื่นคำร้องขอให้เรียกโจทก์ที่ 3 ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ที่ 4 เข้าเป็นคู่ความแทนศาลฎีกาอนุญาต
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ถึง ที่ 5 ประการแรกว่าจำเลยที่ 3 มีส่วนประมาททำให้เกิดเหตุคดีนี้หรือไม่ เห็นว่า โจทก์ที่ 2 เป็นประจักษ์พยานเพียงผู้เดียวที่ได้รับผลร้ายจากเหตุคดีนี้และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่จะส่อให้มีเหตุควรสงสัยว่าจะเบิกความเพื่อเข้าข้างฝ่ายใดระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 ทั้งขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางวันเส้นทางบริเวณถนนที่เกิดเหตุเป็นทางตรงจึงเชื่อได้ว่าโจทก์ที่ 2 ได้เห็นเหตุการณ์ก่อนและขณะเกิดเหตุอย่างแท้จริง ทำให้รับฟังได้ว่าแม้จำเลยที่ 1 จะขับรถยนต์กระบะโดยประมาทพยายามแซงรถยนต์บรรทุกพ่วงที่จำเลยที่ 3 ขับ แต่จำเลยที่ 3 ก็ขับรถในลักษณะไม่ยอมให้แซง จึงเป็นเหตุให้รถยนต์กระบะและรถยนต์บรรทุกพ่วงแล่นตีคู่กันไปข้างหน้าด้วยความเร็วโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของรถที่แล่นสวนมาในช่องเดินรถฝั่งตรงข้าม ข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้เป็นเหตุผลชี้ชัดให้เชื่อได้ว่าหากจำเลยที่ 3 มีจิตสำนึกในความปลอดภัยของการใช้รถใช้ถนนร่วมกัน ไม่ขับรถยนต์บรรทุกพ่วงในลักษณะไม่ยอมให้จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์กระบะแซง โดยถือเอาเพียงว่าตนขับอยู่ในทาง ทั้ง ๆ ที่ย่อมเห็นอยู่แล้วว่า มีรถยนต์ที่โจทก์ที่ 2 ขับสวนทางมา จำเลยที่ 1 ก็จะขับรถแซงพ้นและหลบเข้าช่องเดินรถของตนได้ เหตุร้ายคดีนี้ก็จะไม่เกิดขึ้น นอกจากนี้ศาลฎีกาพิเคราะห์คำให้การชั้นสอบสวนของนายประเสริฐ ซึ่งปรากฏอยู่ในสำนวนการสอบสวนคดีนี้โดยพันตำรวจตรีไพศาล พนักงานสอบสวน จัดทำไว้ และโจทก์ทั้งสี่อ้างส่งประกอบคำเบิกความของพันตำรวจตรีไพศาลว่า ก่อนจะเกิดเหตุ รถยนต์บรรทุกพ่วงซึ่งบรรทุกปูนผงเต็มรถพ่วง ได้เกิดเหตุปูนผงตกจากรถทำให้มีฝุ่นตลบเต็มถนน แล้วจึงเกิดเหตุรถชนกันขึ้น และจากคำให้การชั้นสอบสวนของนายปฏิวัติ และนายสุรศักดิ์ ซึ่งนั่งมาในรถยนต์กระบะที่จำเลยที่ 1 ขับ ก็ให้ข้อเท็จจริงทำนองเดียวกันว่า รถยนต์บรรทุกพ่วงได้หักหลบมากระแทกกระบะด้านซ้าย ข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้สนับสนุนคำเบิกความของโจทก์ที่ 2 ให้มีน้ำหนักรับฟังยิ่งขึ้น พยานจำเลยที่ 3 ซึ่งมีจำเลยที่ 3 อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่า จำเลยที่ 3 ได้ให้สัญญาณไฟแก่โจทก์ที่ 2 และจำเลยที่ 1 แต่โจทก์ที่ 2 ยังขับรถสวนทางมา และจำเลยที่ 1 ก็ยังขับรถแซงเช่นกัน จำเลยที่ 3 จึงไม่มีส่วนประมาทด้วยนั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 3 ยกขึ้นต่อสู้นั้น ขัดต่อเหตุผล เพราะหากเป็นเช่นนั้นจริง รถยนต์บรรทุกพ่วงที่จำเลยที่ 3 ขับก็ไม่น่าจะตกลงในคลองข้างทางของช่องเดินรถฝั่งตรงข้าม แต่น่าเชื่อว่าเป็นเพราะจำเลยที่ 3 เจตนาไม่ยอมให้จำเลยที่ 1 ขับแซง ทั้ง ๆ ที่เห็นอยู่แล้วว่ามีรถยนต์ที่โจทก์ที่ 2 ขับกำลังแล่นสวนทาง เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ต้องพยายามเบนรถกลับเข้าในช่องเดินรถของตนเพื่อหลบรถยนต์ที่โจทก์ที่ 2 ขับ ขณะนั้นเอง ปูนผงบนรถยนต์บรรทุกพ่วงตกลงบนพื้นถนนและฟุ้งกระจาย รถยนต์บรรทุกพ่วงจึงเสียหลักและเกิดเหตุโดยด้านหน้าขวาของรถยนต์บรรทุกพ่วงชนที่รถยนต์กระบะด้านซ้าย จึงทำให้รถยนต์กระบะเสียหลักแล่นกลับเข้าไปชนกับรถยนต์ที่โจทก์ที่ 2 ขับสวนทางมา การขับรถในกรณีเช่นนี้จึงชี้ชัดให้รับฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 มีส่วนประมาททำให้เกิดเหตุคดีนี้ไม่ยิ่งหย่อนกว่าจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 3 มีส่วนประมาททำให้เกิดความเสียหายอันเดียวกันจึงพิพากษาให้ร่วมกันรับผิดได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438 ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยต้องกันมาว่าจำเลยที่ 3 มีส่วนประมาทด้วยนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ในประการที่สองว่า ในคดีอาญา พนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 1 เพราะเห็นว่าจำเลยที่ 3 ไม่ได้มีส่วนประมาท และศาลชั้นต้นได้พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 การพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 นั้น เห็นว่า บทบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับเฉพาะคู่ความในคดีอาญาเท่านั้น ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 3 มิได้ถูกฟ้องคดีอาญา จึงไม่อาจนำข้อเท็จจริงในคดีส่วนอาญามาฟังเป็นยุติในคดีส่วนแพ่ง ฎีกาของจำเลยที่ 3 ถึงและที่ 5 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ในประการที่สามว่า ค่าทำบุญครบ 100 วัน จำนวน 10,000 บาท ค่าบำรุงวัด จำนวน 5,000 บาท และค่าถ่ายรูปงานศพ จำนวน 2,000 บาท เป็นค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการจัดการศพตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 443 วรรคหนึ่ง หรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ไม่ได้ให้การต่อสู้ว่าค่าใช้จ่ายทั้งสามรายการไม่ใช่ค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการจัดการศพแต่เพิ่งยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์และฎีกา จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รับวินิจฉัยให้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ส่วนค่าโลงศพ และค่าเลี้ยงอาหารตอนเย็นและตอนกลางคืน เป็นค่าใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือยหรือไม่นั้น เห็นว่า โลงศพเป็นสิ่งจำเป็นในการจัดงานศพ ส่วนอาหารก็เป็นเรื่องจำเป็นที่เจ้าภาพต้องจัดเตรียมไว้ จึงไม่ใช่ค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ในประการสุดท้ายว่าโจทก์ทั้งสี่ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากมูลละเมิดต่อจำเลยทั้งหก โดยโจทก์ที่ 1 เรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 50,348 บาท โจทก์ที่ 2 เรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 123,852 บาท โจทก์ที่ 3 และที่ 4 เรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 225,800 บาท เป็นการใช้สิทธิเฉพาะตัว จึงต้องคิดทุนทรัพย์แยกจากกัน เมื่อจำนวนทุนทรัพย์ที่ฟ้องของโจทก์แต่ละคนไม่เกิน 300,000 บาท คดีอยู่ในอำนาจศาลแขวงตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม โจทก์ทั้งสี่จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งหกต่อศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยานั้น เห็นว่า โจทก์ทั้งสี่ต่างใช้สิทธิเฉพาะตัวของแต่ละคนฟ้องจำเลยทั้งหกให้รับผิดฐานละเมิดมาในคดีเดียวกัน ซึ่งไม่ใช่หนี้ร่วมที่ไม่อาจแบ่งแยกกันได้ การคิดทุนทรัพย์ต้องแยกของโจทก์แต่ละคน เมื่อจำนวนเงินที่โจทก์แต่ละคนเรียกร้องไม่เกิน 300,000 บาท คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวงพระนครศรีอยุธยา การที่ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยารับคดีไว้พิจารณาพิพากษาจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ คู่ความฝ่ายที่เสียหายอาจยกกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นขึ้นว่ากล่าวได้ในเวลาใด ๆ ก่อนมีคำพิพากษา แต่ต้องไม่ช้ากว่าแปดวันนับแต่วันที่คู่ความฝ่ายนั้นได้ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้าง และต้องมิได้ดำเนินการอันใดขึ้นใหม่หลังจากได้ทราบเรื่องผิดระเบียบแล้ว หรือมิได้ให้สัตยาบันแก่การผิดระเบียบนั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 สำหรับคดีนี้โจทก์ทั้งสี่ยื่นฟ้องจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ต่อศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยาซึ่งไม่มีอำนาจที่จะรับฟ้องไว้พิจารณา แต่จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 กลับยินยอมให้ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยาดำเนินกระบวนพิจารณา โดยสืบพยานโจทก์ทั้งสี่และจำเลยทั้งหกจนทั้งสองฝ่ายแถลงหมดพยานและศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยาพิพากษาคดีแล้ว เท่ากับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ยอมปฏิบัติตามที่ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยาดำเนินกระบวนพิจารณาจนเสร็จสิ้นอันเป็นการให้สัตยาบันแก่การผิดระเบียบนั้นแล้ว จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 จึงไม่อาจยกการผิดระเบียบดังกล่าวขึ้นกล่าวอ้างได้ ฎีกาของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
อนึ่ง ศาลชั้นต้นวินิจฉัยให้โจทก์ที่ 1 ได้รับค่าสินไหมทดแทน 50,348 บาท โจทก์ที่ 2 ได้รับค่าสินไหมทดแทน 138,852 บาท และโจทก์ที่ 3 และที่ 4 ได้รับค่าสินไหมทดแทน 225,800 บาท โดยให้จำเลยที่ 6 ร่วมรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 50,348 บาท แก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 100,000 บาท และแก่โจทก์ที่ 3 และที่ 4 จำนวน 100,000 บาท แล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ร่วมกันชำระเงิน 415,000 บาท ให้แก่โจทก์ทั้งสี่ โดยให้จำเลยที่ 6 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 เป็นเงิน 250,348 บาท พร้อมดอกเบี้ยโดยมิได้แยกเป็นความรับผิดต่อโจทก์แต่ละคน ทั้งให้จำเลยที่ 6 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยของจำเลยที่ 5 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ด้วยและศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนนั้น ไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ร่วมกันชำระเงิน 50,348 บาท แก่โจทก์ที่ 1 ให้จำเลย ที่ 1 ถึงที่ 5 ร่วมกันชำระเงิน 138,852 บาท แก่โจทก์ที่ 2 ทั้งนี้ ให้จำเลยที่ 6 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ต่อโจทก์ที่ 2 ในต้นเงินไม่เกิน 100,000 บาท กับให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ร่วมกันชำระเงิน 225,800 บาท แก่โจทก์ที่ 3 และที่ 4 ทั้งนี้ ให้จำเลยที่ 6 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ต่อโจทก์ที่ 3 และที่ 4 ในต้นเงินไม่เกิน 100,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1