แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ตามกรมธรรม์ประกันภัยทางทะเลคุ้มครองที่และจากแหลมฉบัง ประเทศไทยถึงโฮจิมินห์ในประเทศเวียดนามคำว่าที่และจากแหลมฉบังย่อมเป็นการคุ้มครองภัยที่เกิดที่ท่าเรือแหลมฉบังด้วยไม่ใช่เฉพาะนับจากเรือออกจากท่าเรือแหลมฉบัง ดังนั้นกรมธรรม์ประกันภัยทางทะเลที่มีผลคุ้มครองสินค้าตั้งแต่เวลาที่สินค้าอยู่ที่ท่าเรือแหลมฉบังขณะรอบรรทุกลงเรือจึงคุ้มครองสินค้าขณะอยู่ในคลังสินค้าของจำเลยที่ 5 ที่บริเวณท่าเรือแหลมฉบังก่อนขนสินค้าลงเรือด้วย เมื่อสินค้าได้สูญหายไปขณะที่อยู่ในคลังสินค้าของจำเลยที่ 5 โจทก์ผู้รับประกันภัยสินค้าซึ่งได้ชำระค่าสินไหมทดแทนเพื่อสินค้าที่สูญหายให้แก่ผู้รับตราส่งไปแล้วตามความผูกพันในกรมธรรม์ประกันภัยทางทะเล จึงรับช่วงสิทธิมาฟ้องไล่เบี้ยเอาค่าเสียหายจากจำเลยที่ 5 ที่รับฝากสินค้าไว้และจำเลยที่ 6 ในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนภัยของจำเลยที่ 4 ผู้รับฝากสินค้าไว้ได้
โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 5 รับผิดในฐานะที่เป็นผู้รับฝากตู้สินค้าไว้แล้วสินค้าได้สูญหายไปในระหว่างที่จำเลยที่ 5 รับฝากเป็นการฟ้องเรียกให้ใช้ราคาทรัพย์ ไม่ใช่เรียกค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวแก่การฝากทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 671 และกรณีนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความ10 ปี ตามมาตรา 193/30 เมื่อผู้ขนส่งส่งมอบและผู้รับตราส่งรับมอบสินค้าเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2541 ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่ผู้รับตราส่งรู้ว่าสินค้าหายไป จากวันดังกล่าวนับถึงวันฟ้องคือวันที่ 9 ธันวาคม 2542 ยังไม่ครบ 10 ปี ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 5 จึงไม่ขาดอายุความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นบริษัทร่วมทุน จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลที่ประเทศเดนมาร์ค แต่จดทะเบียนรวมกันเป็นผู้ค้าหรือผู้ขนส่งรายเดียวกัน มีสำนักงานสาขาและมีภูมิลำเนาในประเทศไทย ใช้ชื่อทางการค้าอีกอย่างหนึ่งว่า เมอส์ก สาขากรุงเทพหรือสายการเดินเรือเมอส์ก หรือ เมอส์กไลน์ ประกอบกิจการรับขนของทางทะเลโดยมีบำเหน็จเป็นทางค้าปกติ มีจำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 เป็นบริษัทในเครือ โดยมีจำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจำเลยเหล่านี้ หรือมิฉะนั้นกรรมการหรือผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นผู้ก่อตั้งบริษัทจำเลยเหล่านี้ขึ้นเพื่อเป็นนายคลังสินค้ารับฝากสินค้าของตนเองจำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นเจ้าของเรือและเป็นเจ้าของตู้สินค้าหรือตู้คอนเทนเนอร์และดวงตราผนึกตู้สินค้าในคดีนี้ จำเลยที่ 3 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดตามกฎหมายไทย เป็นบริษัทในเครือของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ประกอบกิจการรับขนส่งสินค้าทั้งภายในและภายนอกประเทศเพื่อบำเหน็จทางค้าปกติ และเป็นผู้ออกใบตราส่งให้แก่ผู้ส่งสินค้า แต่อ้างว่าออกใบตราส่งแทนจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นตัวการมีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศจำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดในหนี้ที่เกิดจากการขนส่งทางทะเลโดยลำพังตนเอง จำเลยที่ 4 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จดทะเบียนก่อตั้งที่ประเทศเวียดนาม ประกอบกิจการรับขนส่งระหว่างประเทศเพื่อบำเหน็จทางค้าปกติ ไม่มีสาขาในประเทศไทย จำเลยที่ 5 จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายไทย ประกอบกิจการรับขนของ ขนถ่ายสินค้าเป็นนายคลังสินค้าส่วนจำเลยที่ 6 จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดตามกฎหมายไทย ประกอบกิจการรับประกันวินาศภัยทุกประเภท และเป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนความเสี่ยงภัยของจำเลยที่ 5 เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2541 โจทก์รับประกันภัยสินค้าส่วนประกอบของรถจักรยานยนต์ยี่ห้อ ซูซูกิ รุ่น เอฟดี 110 ซีดี ล็อตที่ 64-68 จำนวน 600 หน่วย (600 ชุด)แยกบรรจุในลัง 210 ลัง ให้ไว้แก่บริษัทไทยซูซูกิ มอเตอร์ จำกัด ซึ่งสินค้านี้จะถูกขนส่งทางทะเลจากท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี ประเทศไทย ไปส่งมอบแก่บริษัทเวียดนามซูซูกิ คอร์ปอร์เรชั่น ยังเมืองท่าโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม โดยเรืออินทีกรา ซึ่งเป็นของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 หรือจำเลยเหล่านี้นำมาร่วมขนส่งหาประโยชน์ร่วมกัน ในวงเงินประกันภัย 523,710 ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทย 19,900,980 บาท (อัตราแลกเปลี่ยน1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 38 บาท) โดยโจทก์สัญญาว่า หากสินค้าเสียหาย สูญหายหรือประสบวินาศภัยอย่างใดอย่างหนึ่งในระหว่างการขนส่ง โจทก์จะชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยตามความเสียหายที่ได้รับแต่ไม่เกินวงเงินประกันภัยบริษัทไทยซูซูกิ มอเตอร์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยได้ว่าจ้างจำเลยที่ 3 ขนส่ง โดยจำเลยที่ 2 นำเรือของจำเลยที่ 1 ที่ 2 มาขนส่งแล้วผู้เอาประกันภัยนำสินค้า 210 ลัง น้ำหนัก 42,386กิโลกรัม ไปบรรจุตู้สินค้าขนาด 40 ฟุต ของจำเลยที่ 1 ที่ 2 จำนวน 5 ตู้ และปิดตราผนึกของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ประตูตู้ แล้วขนส่งตู้สินค้าไปฝากจำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นนายคลังสินค้า จำเลยที่ 5 นำไปวางที่ลานวางตู้ของตนระหว่างวันที่ 3 ถึง 6 ธันวาคม 2541 เพียงรอจำเลยที่ 3 นำตู้บรรทุกลงเรือ ต่อมาวันที่ 6 ธันวาคม 2541 จำเลยที่ 1 ที่ 2 ตรวจสอบตู้สินค้าและตราผนึกของตนเห็นว่าเรียบร้อย จึงร่วมกับจำเลยที่ 5 นำตู้สินค้าบรรทุกเรืออินทีกรา แล้วจำเลยที่ 3 เรียกเก็บค่าระวางขนส่งจากผู้เอาประกันภัย และออกใบตราส่งชนิดบรรทุกแล้วและรวมการขนส่งหลายทอดให้แก่ผู้ส่งของหรือผู้เอาประกันภัยจากนั้นเรืออินทีกราได้ออกเดินทางจากท่าเรือแหลมฉบังในวันที่ 6 ธันวาคม 2541 เมื่อผู้รับตราส่งชำระสินค้าให้ผู้ส่งของโดยวิธีผ่านธนาคาร ผู้ส่งของก็โอนเอกสารทางการค้า คือกรมธรรม์ประกันภัยใบกำกับสินค้า ใบรายการบรรจุหีบห่อ ไปให้ผู้รับตราส่งผ่านทางธนาคารผู้รับตราส่งจึงรับโอนสิทธิในสินค้าและในสัญญาประกันภัยเรืออินทีกราเดินทางถึงท่าเรือโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2541 จำเลยที่ 3 ได้ขนถ่ายตู้สินค้าจากเรือลงสู่ท่า แล้วนำไปวางที่ลานพักตู้ของจำเลยที่ 3 จากนั้นในวันที่ 15 ธันวาคม 2541 ผู้รับตราส่งมาออกของจากท่าเรือและเจ้าหน้าที่ศุลกากรแห่งเวียดนามแล้วลากตู้สินค้าทั้งหมดไปยังโรงงานของผู้รับตราส่ง ก่อนเปิดตู้ต่อหน้าเจ้าหน้าที่ศุลกากร ตัวแทนของผู้รับตราส่ง และตัวแทนของจำเลยที่ 3 พบว่ามีการทุจริตเปลี่ยนตราผนึกจากตราเดิมที่ระบุไว้ในใบตราส่งและเมื่อเปิดตู้สินค้าเลขที่ เอ็มเออียู 7000144ปรากฏว่าสินค้าสูญหาย โดยถูกลักขโมยไป 20 ลัง จากทั้งหมด 210 ลัง คิดเป็นค่าเสียหาย75,623.18 ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทย 2,873,680.84 บาท ซึ่งความเสียหายของสินค้านี้เกิดในขณะสินค้าอยู่ในความครอบครองดูแลของจำเลยทั้งหกซึ่งเป็นผู้ขนส่งและจำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นนายคลังสินค้าโดยจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 นำเรือและตู้สินค้ามาขนส่งโดยไม่จัดการดูแลความปลอดภัยทั้งขณะก่อนและหลังการนำสินค้าบรรทุกลงเรือ ทั้งจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ไม่ได้ระมัดระวังและปฏิบัติการให้เหมาะสมในการบรรทุกของลงเรือ การยกขน เคลื่อนย้ายและดูแลรักษาสินค้า เป็นเหตุให้มีการทุจริตเปลี่ยนตราผนึกตู้สินค้าและลักสินค้าไป จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินค้า หรือคืนสินค้าที่สูญหายหากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแก่ผู้เอาประกันภัยและจำเลยที่ 5 ในฐานะนายคลังสินค้าผู้รับฝากสินค้าโดยเรียกเก็บค่าฝากจากผู้ส่งของไม่ใช้ฝีมือเท่าที่เป็นธรรมดาจะต้องใช้และสมควรจะต้องใช้ในกิจการของตนจึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 รับผิดต่อผู้รับตราส่งส่วนจำเลยที่ 6 ในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนของจำเลยที่ 5 ต้องรับผิดกับจำเลยที่ 5 ต่อผู้รับตราส่ง ผู้รับตราส่งได้เรียกร้องมายังผู้ส่งของและจำเลยทั้งหก แต่จำเลยทั้งหกปฏิเสธ ผู้รับตราส่งจึงเรียกร้องมายังโจทก์ โจทก์เห็นว่าสินค้าสูญหายระหว่างการขนส่งโดยเฉพาะเกิดจากเจตนาทุจริตกระทำผิดอาญา ซึ่งอยู่ในเงื่อนไขของการประกันภัย จึงชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้รับตราส่งเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2542 เป็นเงิน 75,623.18 ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทย 2,873,680.84 บาท ผู้รับตราส่งได้ออกใบรับช่วงสิทธิให้โจทก์ โจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยทั้งหกชดใช้ค่าเสียหายนั้นแล้ว แต่เพิกเฉย จำเลยทั้งหกจึงผิดนัดต้องชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในเงินต้น 2,873,680.84 บาท นับจากวันผิดนัดวันที่ 17 พฤศจิกายน 2542 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คิดถึงวันฟ้องเป็นเวลา 23 วัน เป็นเงินดอกเบี้ย 13,581.13 บาท รวมเป็นเงินต้นและดอกเบี้ย 2,887,261.97 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งหกร่วมกันชำระเงิน 2,887,261.97 บาท และดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ในเงินต้น 2,873,680.84 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้การว่า ไม่ได้ร่วมกับจำเลยที่ 3 และจำเลยอื่นขนส่งสินค้าคดีนี้และไม่ได้นำสินค้าไปเก็บไว้ที่คลังสินค้าของจำเลยที่ 5 ใบตราส่งที่โจทก์กล่าวอ้างว่าเป็นแบบฟอร์มของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ก็ระบุชัดเจนว่าเป็นของจำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 3 เป็นผู้ออกให้แก่ผู้ส่งของโดยอ้างว่าออกแทนจำเลยที่ 4 จำเลยที่ 1 ที่ 2 ไม่ใช่เป็นผู้ออกใบตราส่ง เรืออินทีกราไม่ได้เป็นของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และไม่ได้เป็นผู้จัดหาเรือนี้มาขนส่งจำเลยที่ 1 ที่ 2 จึงไม่เป็นผู้ขนส่งหรือผู้ขนส่งอื่น นอกจากนี้การขนส่งสินค้าคดีนี้เป็นการขนส่งในระบบ ซีวาย/ซีวาย (CY/CY) ซึ่งผู้ขนส่งหรือผู้ขนส่งอื่น รวมทั้งจำเลยที่ 1 ที่ 2 ไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการบรรจุสินค้าเข้าตู้ และนำออกจากตู้ มิได้เป็นผู้ผนึกตราตู้ หากมีการเปลี่ยนตราผนึกตู้ก็ไม่ได้เกิดจากการกระทำหรืองดเว้นกระทำของจำเลยที่ 1ที่ 2 โดยเจตนาให้สินค้าสูญหาย ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ที่ 4 ให้การว่า จำเลยที่ 3 ประกอบกิจการเป็นตัวแทนเรือให้เรือเดินทะเลที่เข้าและออกประเทศ โดยทำหน้าที่ติดต่อหน่วยราชการต่าง ๆ แทนเจ้าของเรือ ได้รับค่าตอบแทนเป็นค่าบำเหน็จตัวแทนเท่านั้น ซึ่งตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเลพ.ศ. 2534 มาตรา 3 ไม่ให้ถือว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้ขนส่งอื่น จำเลยที่ 3 เป็นเพียงตัวแทนเรือให้จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นผู้ขนส่งสินค้าคดีนี้ โดยนำเรืออินทีกราซึ่งไม่ใช่เรือของจำเลยที่ 1 ที่ 2 เข้ามารับขนสินค้าให้ผู้ส่งของ และรับค่าจ้างจากผู้ส่งของผ่านทางจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อในใบตราส่งในฐานะเป็นตัวแทนของผู้ขนส่งหรือผู้เช่า จำเลยที่ 3 ที่ 4 ไม่ได้ร่วมบรรจุสินค้าเข้าตู้ แต่ผู้ส่งของเป็นผู้คัดเลือกและรับมอบตู้สินค้าที่จำเลยที่ 4 จัดไว้ให้พร้อมตราผนึกตู้ไปบรรจุสินค้าเข้าตู้ที่โรงงานของตน แล้วลากตู้มายังท่าเรือต้นทางจำเลยที่ 5 ซึ่งจำเลยที่ 5 จะเป็นผู้ควบคุมดูแลตู้สินค้าจนกว่าจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นผู้ขนส่งตามสัญญารับขนของทางทะเลจะขนไปจากท่าเรือของจำเลยที่ 5 จำเลยที่ 3 ที่ 4 ไม่ใช่ผู้นำสินค้าบรรทุกลงเรืออินทีกรา นอกจากนี้ เมื่อเรืออินทีกราเดินทางถึงท่าเรือโฮจิมินห์ประเทศเวียดนาม จำเลยที่ 3 ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการขนถ่ายตู้สินค้าจากเรือลงสู่ท่าเรือ โดยจำเลยที่ 4 ตัวแทนของผู้รับตราส่งและเจ้าหน้าที่ท่าเรือได้ร่วมกันดูแลการขนถ่าย แล้วผู้รับตราส่งลากตู้สินค้าไปเปิดที่โรงงานของตน ซึ่งหากมีการทุจริตเปลี่ยนตราผนึกตู้ ก็อาจเกิดในระหว่างขนย้ายตู้สินค้าได้ จำเลยที่ 3 ที่ 4 จึงไม่ต้องรับผิดในความสูญหายของสินค้า ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 5 จำเลยที่ 6 ให้การว่า จำเลยที่ 5 ไม่ได้ประกอบกิจการรับขนของ ไม่ได้ประกอบกิจการขนส่งร่วมกับจำเลยที่ 3 ที่ 4 และไม่ได้ประกอบกิจการรับขนถ่ายสินค้าคดีนี้ หากแต่เป็นเพียงผู้รับฝากสินค้าจากผู้ขนส่งจากต่างประเทศเพื่อส่งมอบให้ผู้รับสินค้าหรือรับฝากสินค้าจากบุคคลอื่นเพื่อรอบรรทุกลงเรือขนส่งไปต่างประเทศ เกี่ยวกับสินค้าคดีนี้ จากคำฟ้องแสดงว่าจำเลยที่ 5 ได้ส่งมอบตู้สินค้าและผนึกตราผนึกในสภาพเรียบร้อยให้แก่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ขนส่งแล้ว สินค้าสูญหายไปหลังจากส่งมอบดังกล่าว จำเลยที่ 5 จึงไม่ต้องรับผิด และจำเลยที่ 6 ในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนความเสี่ยงภัยของจำเลยที่ 5 จึงไม่ต้องรับผิดด้วย อย่างไรก็ตามหากศาลฟังว่าสินค้าสูญหายระหว่างการดูแลรักษาของจำเลยที่ 5 ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 5 และจำเลยที่ 6 ก็ขาดอายุความเพราะฟ้องเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2542 เกิน 6 เดือน นับแต่วันสิ้นสัญญาฝากทรัพย์ในวันที่ 6 ธันวาคม 2541 ซึ่งเป็นวันที่สินค้าถูกขนขึ้นเรือทั้งโจทก์ก็ไม่อาจรับช่วงสิทธิมาฟ้องจำเลยที่ 5 และจำเลยที่ 6 เพราะตามกรมธรรม์ประกันภัยของโจทก์เริ่มคุ้มครองตั้งแต่การเริ่มขนส่งโดยเรืออินทีกราจากท่าเรือแหลมฉบังไปยังท่าเรือโฮจิมินห์และสิ้นสุดความคุ้มครองที่ปลายทาง หากสินค้าสูญหายระหว่างการดูแลรักษาของจำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นคลังสินค้า กรมธรรม์ของโจทก์ก็ยังไม่เริ่มคุ้มครอง และแสดงว่าสินค้ายังไม่ถึงตำบลที่กำหนดให้ผู้รับตราส่งยังไม่ได้เรียกให้ส่งมอบสินค้า สิทธิทั้งหลายของผู้ส่งของอันเกิดแต่สัญญารับขนจึงยังไม่โอนไปยังผู้รับตราส่ง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 5 และจำเลยที่ 6 ร่วมกันชำระเงิน 2,873,680.84 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 17 พฤศจิกายน 2542 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นแก่โจทก์ (แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องวันที่ 9 ธันวาคม 2542 ต้องไม่เกิน 13,581.13 บาท ตามที่โจทก์ขอ) และให้จำเลยที่ 5 ที่ 6 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้20,000 บาท ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 4 แต่ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยที่ 1 ที่ 2 โดยกำหนดค่าทนายความให้ 10,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ที่ 4 ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 5 และที่ 6 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว เนื่องจากคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์จึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางในชั้นนี้คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 5 และที่ 6 เท่านั้น ซึ่งข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติแล้วว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยการขนส่งทางทะเลสินค้าส่วนประกอบรถจักรยานยนต์ยี่ห้อซูซูกิ 600 หน่วย ของบริษัทไทยซูซูกิ มอเตอร์ จำกัดโดยรวมบรรจุได้ 210 ลัง แล้วนำเข้าบรรจุในตู้สินค้าของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เพื่อส่งไปให้บริษัทเวียดนาม ซูซูกิ คอร์ปอร์เรชั่น ที่ประเทศเวียดนาม ทั้งนี้มีจำเลยที่ 4 เป็นผู้รับขนส่งด้วยการใช้เรือเดินทะเลชื่ออินทีกราของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จากท่าเรือแหลมฉบังไปยังท่าเรือโฮจิมินห์ประเทศเวียดนาม ซึ่งในการขนส่งสินค้าลงบรรทุกเรือเดินทะเลอินทีกราดังกล่าวนั้น บริษัทไทยซูซูกิ มอเตอร์ จำกัด ได้ขนสินค้าจากโรงงานของบริษัทไทยซูซูกิมอเตอร์ จำกัด ที่จังหวัดปทุมธานีมาเก็บไว้ที่คลังสินค้าของจำเลยที่ 5 ก่อน และในการรับฝากสินค้าของจำเลยที่ 5 มีจำเลยที่ 6 เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุน ต่อมาเมื่อเรือเดินทะเลอินทีกราเดินทางไปถึงท่าเรือโฮจิมินห์และนำตู้สินค้ามาเปิดตรวจนับสินค้าแล้วพบว่าสินค้าสูญหายไปรวม 20 ลัง โดยปรากฏว่าสินค้าสูญหายจากตู้สินค้าตั้งแต่อยู่ในคลังสินค้าของจำเลยที่ 5 ที่แหลมฉบัง โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้ใช้ค่าเสียหายให้แก่บริษัทเวียดนาม ซูซูกิ คอร์ปอร์เรชั่น ผู้รับตราส่งเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2542 เป็นเงิน 2,873,680.88 บาท โจทก์จึงรับช่วงสิทธิมาฟ้องเป็นคดีนี้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยชั้นนี้ว่า จำเลยที่ 5 และที่ 6 ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์หรือไม่ ที่จำเลยที่ 5 และที่ 6 อุทธรณ์สรุปประการแรกว่า จำเลยที่ 5 เป็นนายคลังสินค้ารับฝากสินค้าไว้ก่อนที่จะนำลงบรรทุกในเรือเดินทะเลอินทีกราที่แหลมฉบังเพื่อเดินทางไปยังท่าเรือโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม แม้โจทก์จะเป็นผู้รับประกันภัยทางทะเลสินค้าจากบริษัทไทยซูซูกิ มอเตอร์ จำกัด ก็ตาม แต่กรมธรรม์ประกันภัยทางทะเลเอกสารหมายจ.7 ก็ไม่คุ้มครองถึงสินค้าขณะที่อยู่ในคลังสินค้าของจำเลยที่ 5 ถึงโจทก์จะได้ชำระค่าเสียหายให้แก่บริษัทเวียดนาม ซูซูกิ คอร์ปอร์เรชั่น ผู้รับตราส่งโจทก์ก็ไม่อาจรับช่วงสิทธิมาฟ้องเรียกค่าเสียหายเอาจากจำเลยที่ 5 และที่ 6 ได้นั้น เห็นว่าตามกรมธรรม์ประกันภัยทางทะเลเอกสารหมาย จ.7 มีข้อความว่า “VOYAGE: At and form LAEM CHABANG,THAILAND TO HOCHI MINH” แปลว่าคุ้มครองที่และจากแหลมฉบัง ประเทศไทยถึงโฮจิมินห์ ในประเทศเวียดนาม คำว่า ที่และจากแหลมฉบังย่อมเป็นการชัดแจ้งอยู่แล้วว่าคุ้มครองภัยที่เกิดที่ท่าเรือแหลมฉบังด้วย ไม่ใช่เฉพาะนับจากเรือออกจากท่าเรือแหลมฉบังข้อเท็จจริงได้ความจากบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงและความเห็นของนางสุนี เงาสุวรรณกิจ และนายประสิทธิ์ โศภิษฐ์สิริกุล พยานโจทก์ต้องกันว่า ได้มีการนำตู้สินค้าเข้าไปเก็บในคลังสินค้าของจำเลยที่ 5 ที่บริเวณท่าเรือแหลมฉบัง เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2541 เวลา 9.52 นาฬิกา เพื่อรอยกตู้สินค้าบรรทุกเรือเดินทะเล ต่อมาจึงได้ยกตู้สินค้าลงบรรทุกเรือเดินทะเลอินทีกราในวันที่ 6 ธันวาคม 2541 เวลา 6.41 นาฬิกา ดังนั้นตามกรมธรรม์ประกันภัยทางทะเลเอกสารหมาย จ.7 ที่มีผลคุ้มครองสินค้าตั้งแต่เวลาที่สินค้าอยู่ที่ท่าเรือแหลมฉบังขณะรอบรรทุกลงเรือจึงคุ้มครองสินค้าขณะอยู่ในคลังสินค้าของจำเลยที่ 5 ก่อนขนสินค้าลงเรือด้วย เมื่อข้อเท็จจริงเป็นยุติแล้วว่าสินค้าได้สูญหายไปขณะที่อยู่ในคลังสินค้าของจำเลยที่ 5 โจทก์ผู้รับประกันภัยสินค้าตามกรมธรรม์ประกันภัยทางทะเลเอกสารหมาย จ.7 ซึ่งได้ชำระค่าสินไหมทดแทนเพื่อสินค้าที่สูญหายให้แก่ผู้รับตราส่งไปแล้วตามความผูกพันในกรมธรรม์ประกันภัยทางทะเลดังกล่าวจึงรับช่วงสิทธิมาฟ้องไล่เบี้ยเอาค่าเสียหายจากจำเลยที่ 5 ที่รับฝากสินค้าไว้และจำเลยที่ 6ในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนภัยของจำเลยที่ 4 ผู้รับฝากสินค้าไว้ได้โดยชอบ การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า โจทก์มีสิทธิเข้ารับช่วงสิทธิของบริษัทเวียดนาม ซูซูกิ คอร์ปอเรชั่น ผู้รับตราส่งจึงชอบแล้ว อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยที่ 5 และที่ 6 ฟังไม่ขึ้น…..
มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายว่า ฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 5 ขาดอายุความหรือไม่ โดยจำเลยที่ 5 และที่ 6 อุทธรณ์ว่า ฟ้องโจทก์ที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 5 ขาดอายุความ เพราะเป็นการฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวแก่การฝากทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 671 อันมีอายุความ 6 เดือน นับแต่วันสิ้นสัญญา แต่โจทก์ฟ้องเกินกว่า 6 เดือน ฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 5 จึงขาดอายุความ จำเลยที่ 5 และจำเลยที่ 6 จึงไม่ต้องรับผิดนั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 5 รับผิดในฐานะที่เป็นผู้รับฝากตู้สินค้าไว้แล้วสินค้าได้สูญหายไปในระหว่างที่จำเลยที่ 5 รับฝากเป็นการฟ้องเรียกให้ใช้ราคาทรัพย์ ไม่ใช่เรียกค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวแก่การฝากทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 671 และกรณีนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 คดีนี้ข้อเท็จจริงเป็นยุติแล้วว่าผู้ขนส่งส่งมอบและผู้รับตราส่งรับมอบสินค้าเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2541 ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่ผู้รับตราส่งรู้ว่าสินค้าหายไปจากวันดังกล่าวนับถึงวันฟ้องคือวันที่ 9 ธันวาคม 2542 ยังไม่ครบ 10 ปี ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 5 จึงไม่ขาดอายุความ จำเลยที่ 5 และที่ 6 ต้องรับผิดต่อโจทก์อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยที่ 5 และที่ 6 ก็ฟังไม่ขึ้น ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ทุกข้อของจำเลยที่ 5 และที่ 6 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 5 และที่ 6 ใช้ค่าทนายความชั้นนี้แทนโจทก์จำนวน 20,000 บาท