คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15208/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การเสนอคำฟ้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4 (1) ให้เสนอต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลหรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดในเขตศาลไม่ว่าจำเลยจะมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่ คำว่า “มูลคดีเกิด” หมายถึง เหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิอันจะทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้อง เมื่อโจทก์อนุมัติจ่ายเงินให้แก่จำเลย เนื่องจากการดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา ได้รับเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่น ณ ที่ทำการของโจทก์ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้น ต่อมาคณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีมติให้มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาใหม่ในเขตการเลือกตั้งจังหวัดระนองแทนจำเลยเนื่องจากจำเลยได้รับการเลือกตั้งมาโดยไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 โจทก์ฟ้องจำเลยคืนเงินดังกล่าวแก่โจทก์ ดังนั้น เหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิที่ทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้องซึ่งถือว่าเป็นมูลคดีได้เกิดขึ้น ณ ที่ทำการของโจทก์ ซึ่งตั้งอยู่ที่แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร อันอยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้นอีกแห่งหนึ่งด้วย โจทก์จึงมีอำนาจเสนอคำฟ้องคดีนี้ต่อศาลชั้นต้นได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4 (1) ประกอบมาตรา 5
วันที่ 13 มีนาคม 2544 คณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีคำวินิจฉัยว่า ก่อนจำเลยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา จำเลยกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 มาตรา 44 (1) ประกอบมาตรา 90 เนื่องจากการเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมมีผลให้สมาชิกภาพของจำเลยสิ้นสุดลงนับแต่วันมีคำสั่ง ตามมาตรา 96 กรณีของจำเลยจึงเป็นการออกจากตำแหน่งเพราะเหตุที่จำเลยได้รับเลือกตั้งมาโดยไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 ที่มีผลบังคับใช้ในขณะนั้น จำเลยจึงต้องคืนเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่จำเลยได้รับมาเนื่องจากการดำรงตำแหน่งดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 97 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องให้จำเลยชำระเงินดังกล่าวคืนได้ การที่โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยคืนเงินและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่น เป็นกรณีที่เจ้าของทรัพย์สินติดตามเอาทรัพย์ของตนคืนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 มิใช่อายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
เมื่อจำเลยเป็นผู้ขอให้โจทก์แต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญและผู้ปฏิบัติงานประจำตัวจำเลย ซึ่งเป็นสิทธิของจำเลยที่ได้มาระหว่างที่จำเลยดำรงตำแหน่งและเป็นประโยชน์แก่จำเลยเอง เงินที่โจทก์ได้จ่ายให้แก่บุคคลที่จำเลยขอให้โจทก์แต่งตั้งจึงมีลักษณะเป็นประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่จำเลยได้รับมาเนื่องจากการดำรงตำแหน่ง จำเลยจึงต้องคืนให้แก่โจทก์ด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 1,615,940.80 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 1,566,062.77 บาท แก่โจทก์ นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 1,615,940.08 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 1,566,062.77 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จและให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 934,911.16 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 18 พฤษภาคม 2549 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 3,000 บาท แทนโจทก์
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2543 คณะกรรมการการเลือกตั้งได้รับรองว่า จำเลยได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาเขตการเลือกตั้งจังหวัดระนอง ทำให้สมาชิกภาพในการเป็นสมาชิกวุฒิสภาของจำเลยเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม 2543 ซึ่งเป็นวันถัดจากวันครบวาระการดำรงตำแหน่งของสมาชิกวุฒิสภาชุดก่อน ต่อมานายคำภูและนายบุญรินทร์ ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาเขตการเลือกตั้งจังหวัดระนองร้องคัดค้านว่า การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาเขตการเลือกตั้งจังหวัดระนองในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม เนื่องจากก่อนได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา จำเลยได้กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 คณะกรรมการการเลือกตั้งไต่สวนแล้ว เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2544 มีคำวินิจฉัยว่า กรณีมีเหตุอันควรเชื่อว่า มีบุคคลให้เงินแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้แก่จำเลย อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 44 (1) ประกอบมาตรา 90 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 ทำให้การเลือกตั้งของเขตเลือกตั้งจังหวัดระนองในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลย มิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม จึงมีคำสั่งให้มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาใหม่ในเขตเลือกตั้งจังหวัดระนองแทนจำเลย มีผลทำให้สมาชิกภาพของจำเลยสิ้นสุดลงนับแต่วันที่มีคำสั่ง ตั้งแต่จำเลยได้รับการเลือกตั้งและดำรงตำแหน่งดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม 2543 ถึงวันที่ 13 มีนาคม 2544 ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดสมาชิกภาพของจำเลย จำเลยได้รับเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มจำนวน 871,838.70 บาท เบี้ยประชุมกรรมาธิการ 21,500 บาท ใบเบิกทาง 31,572 บาท ค่าเบี้ยประกันสุขภาพ 10,000.46 บาท รวมเป็นเงิน 934,911.16 บาท นอกจากนี้โจทก์ได้แต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญประจำตัวจำเลย 1 คน คือ นายเรืองวิทย์ และแต่งตั้งผู้ปฏิบัติงานประจำตัวจำเลย 5 คน ได้แก่ นางสาววาสิฎฐี นางสาวพรทิพย์ นายวันชัย นางสาวอำพร และนายปกรณ์ เพื่อให้คำปรึกษาและแนะนำด้านวิชาการ ช่วยดำเนินการต่าง ๆ ให้แก่จำเลย โจทก์ได้จ่ายเงินตอบแทนให้แก่ผู้เชี่ยวชาญ อัตรา 15,000 บาทต่อเดือน เป็นเงิน 175,645.16 บาท ค่าตอบแทนผู้ปฏิบัติงานอัตรา 7,780 บาท ต่อคนต่อเดือนเป็นเงิน 455,506.45 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,566,062.77 บาท
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกมีว่า ศาลชั้นต้นมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้หรือไม่ จำเลยฎีกาว่า ที่โจทก์อ้างว่าจำเลยได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดระนองมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ขอให้จำเลยคืนเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่ได้รับมาเนื่องจากการดำรงตำแหน่งดังกล่าว ต้นเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้เกิดขึ้นที่จังหวัดระนอง สถานที่จ่ายเงินมิใช่ต้นเหตุแห่งการฟ้องร้อง ศาลชั้นต้นจึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้นั้น เห็นว่า การเสนอคำฟ้อง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4 (1) บัญญัติว่า “คำฟ้อง ให้เสนอต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล หรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดในเขตศาลไม่ว่าจำเลยจะมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่” คำว่า “มูลคดีเกิด” หมายถึง เหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิอันจะทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้อง เมื่อโจทก์อนุมัติจ่ายเงินให้แก่จำเลย เนื่องจากการดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา ได้รับเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่น ณ ที่ทำการของโจทก์ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้น ต่อมาคณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีมติให้มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาใหม่ในเขตการเลือกตั้งจังหวัดระนองแทนจำเลยเนื่องจากจำเลยได้รับการเลือกตั้งมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 จำเลยจึงต้องคืนเงินดังกล่าวแก่โจทก์ ดังนั้นเหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิที่ทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้องซึ่งถือว่าเป็นมูลคดีได้เกิดขึ้น ณ ที่ทำการของโจทก์ ซึ่งตั้งอยู่ที่แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร อันอยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้นอีกแห่งหนึ่งด้วย โจทก์จึงมีอำนาจเสนอคำฟ้องคดีนี้ต่อศาลชั้นต้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4 (1) ประกอบมาตรา 5 ศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อต่อไปมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องให้จำเลยชำระเงินคืนและฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า แม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ซึ่งโจทก์ใช้อ้างสิทธิมาฟ้องร้องจำเลยเป็นคดีนี้จะได้ถูกยกเลิกโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขไปก่อนที่โจทก์จะใช้สิทธิฟ้องร้องจำเลยก็ตาม แต่ก็เป็นการยกเลิกภายหลังจากที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องเอากับจำเลยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ดังกล่าวแล้ว จึงไม่กระทบถึงสิทธิในการฟ้องร้องของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ซึ่งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 97 บัญญัติว่า “การลาออกจากตำแหน่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาภายหลังวันที่สมาชิกภาพสิ้นสุดลง หรือวันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพของสมาชิกคนใดคนหนึ่งสิ้นสุดลง ย่อมไม่กระทบกระเทือนกิจการที่สมาชิกผู้นั้นได้กระทำไปในหน้าที่สมาชิก รวมทั้งการได้รับเงินประจำตำแหน่งหรือประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นก่อนที่สมาชิกผู้นั้นออกจากตำแหน่ง หรือก่อนที่ประธานแห่งสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิกได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แล้วแต่กรณี เว้นแต่ในกรณีที่ออกจากตำแหน่งเพราะเหตุที่ผู้นั้นได้รับเลือกตั้งมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ให้คืนเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่ผู้นั้นได้รับมาเนื่องจากการดำรงตำแหน่งดังกล่าว” ดังนี้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าวันที่ 13 มีนาคม 2544 คณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีคำวินิจฉัยว่า ก่อนจำเลยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาจำเลยได้กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 มาตรา 44 (1) ประกอบมาตรา 90 เนื่องจากการเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมมีผลให้สมาชิกภาพของจำเลยสิ้นสุดลงนับแต่วันมีคำสั่ง ตามมาตรา 96 กรณีของจำเลยจึงเป็นการออกจากตำแหน่งเพราะเหตุที่จำเลยได้รับเลือกตั้งมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 ที่มีผลบังคับใช้ในขณะนั้น จำเลยจึงต้องคืนเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่จำเลยได้รับมาเนื่องจากการดำรงตำแหน่งดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 97 ดังนั้น โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องให้จำเลยชำระเงินดังกล่าวคืนได้ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่าคดีโจทก์ขาดอายุความ เนื่องจากโจทก์มิได้ฟ้องภายใน 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 นั้น เห็นว่า การที่โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยคืนเงินและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นเป็นกรณีที่เจ้าของทรัพย์สินติดตามเอาทรัพย์ของตนคืนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 มิใช่กรณีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 ดังที่จำเลยฎีกา ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยต้องจ่ายเงินคืนค่าตอบแทนที่โจทก์แต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญและผู้ปฏิบัติงานประจำตัวของจำเลยหรือไม่ เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 97 บัญญัติว่า “การออกจากตำแหน่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาภายหลังวันที่สมาชิกภาพสิ้นสุดลง หรือวันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของสมาชิกคนใดคนหนึ่งสิ้นสุดลง ย่อมไม่กระทบกระเทือนกิจการที่สมาชิกนั้นได้กระทำไปในหน้าที่ รวมทั้งการได้รับเงินประจำตำแหน่งหรือประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นก่อนที่สมาชิกผู้นั้นออกจากตำแหน่งหรือก่อนที่ประธานแห่งสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิกได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แล้วแต่กรณี เว้นแต่ในกรณีที่ออกจากตำแหน่งเพราะเหตุที่ผู้นั้นได้รับเลือกตั้งมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาให้คืนเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่ผู้นั้นรับมาเนื่องจากการดำรงตำแหน่งดังกล่าว” เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติว่า จำเลยถูกออกจากตำแหน่งหรือสมาชิกภาพของจำเลยสิ้นสุดลง เพราะเหตุที่จำเลยได้รับเลือกตั้งมาโดยไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 มาตรา 44 (1) ประกอบมาตรา 90 กรณีจึงต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 97 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 จำเลยจึงต้องคืนเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่จำเลยได้รับมาเนื่องจากการดำรงตำแหน่งดังกล่าว เมื่อจำเลยเป็นผู้ขอให้โจทก์ตั้งผู้เชี่ยวชาญและผู้ปฏิบัติงานประจำตัวจำเลย ซึ่งเป็นสิทธิของจำเลยที่ได้มาระหว่างที่จำเลยดำรงตำแหน่งและเป็นประโยชน์แก่จำเลยเอง เงินที่โจทก์ได้จ่ายให้แก่บุคคลที่จำเลยขอให้โจทก์แต่งตั้งจึงมีลักษณะเป็นประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่จำเลยได้รับมาเนื่องจากการดำรงตำแหน่ง จำเลยจึงต้องคืนให้แก่โจทก์ด้วย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาในประเด็นนี้ว่า จำเลยไม่ต้องคืนเงินค่าตอบแทนในส่วนนี้ให้แก่โจทก์นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น ส่วนฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share