แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์เป็นเพียงผู้นั่งโดยสารมากับรถจักรยานยนต์ของต.คันเกิดเหตุมิได้มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นด้วยจำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์เต็มจำนวนโดยไม่อาจแบ่งความรับผิดให้แก่โจทก์ได้การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าเหตุเกิดเพราะต. ประมาทมากกว่าจำเลยให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์เพียง1ใน3จึงไม่ชอบและเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้โจทก์จะไม่ได้ยกขึ้นอ้างในอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์ก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเพื่อความเป็นธรรมแก่โจทก์ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2531 จำเลยขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน น-0744 นครสวรรค์ เข้าไปในซอยพิชัยอรุณซึ่งกว้างประมาณ 4.20 เมตร มีบ้านเรือนอยู่หนาแน่นทั้ง 2 ข้างทางพอใกล้จะถึงประตูหอพักแสงสุรีย์ซึ่งอยู่ข้างทาง จำเลยควรใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ โดยการหยุดหรือชะลอความเร็วของรถลงจำเลยอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านี้ได้ แต่หาได้ใช้เพียงพอไม่กลับขับรถด้วยความเร็วสูง ขณะนั้นนางสาวต้องพร พงษ์เสรีขับรถจักรยานยนต์คันหมายเลขทะเบียน นครสวรรค์ ง-9872 โดยมีโจทก์เป็นผู้ซ้อนท้ายออกมาจากประตูหอพักดังกล่าวแล้วเกิดเสียหลักล้มลงที่หน้าประตู แต่จำเลยไม่ยอมชะลอความเร็วเป็นเหตุให้ชนรถจักรยานยนต์และโจทก์ได้รับบาดเจ็บสาหัส กระดูกต้นขาซ้ายหักต้องผ่าตัดเสียค่ารักษาพยาบาลและไม้ค้ำยันเป็นเงิน 10,250 บาทเสียค่าจ้างคนมาช่วยดูแลรักษาพยาบาลหลังจากผ่าตัดช่วงระหว่างวันที่ 23 มีนาคม 2531 ถึงวันที่ 11 เมษายน 2531 เป็นเงิน5,000 บาท ระหว่างพักรักษาตัวที่บ้านพักในอำเภอเมืองนครสวรรค์และที่บ้านมารดาโจทก์ โจทก์ไม่สามารถเข้าห้องน้ำได้ตามปกติจึงต้องซื้อเครื่องสุขภัณฑ์มาใช้เป็นเงิน 400 บาท เสียค่ายาและค่าตรวจบาดแผลเป็นเงิน 2,470 บาท เสียค่าพาหนะเดินทางไปตรวจรักษาไปกลับที่คลินิกแพทย์ 24 เที่ยว เป็นเงิน 12,000 บาทค่าแพทย์ผ่าตัดต้นขา ใช้เหล็กดามกระดูกและผ่าตัดเหล็กออกเป็นเงิน10,000 บาท โจทก์ขอเรียกค่าสินไหมทดแทนเนื่องจากต้องทนทุกข์ทรมานเป็นเงิน 50,000 บาท โจทก์ต้องพิการเนื่องจากขาซ้ายและขวาไม่เท่ากัน สูญเสียความสามารถในการประกอบการงานจนตลอดชีวิตขอเรียกค่าสินไหมทดแทนในส่วนนี้ 100,000 บาท รวมค่าสินไหมทดแทนที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสิ้นเป็นเงิน 190,120 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี คิดเป็นเงิน 14,180 บาทขอให้จำเลยชดใช้เงินจำนวน 204,300 บาท ให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 190,120 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยมิได้เป็นผู้ก่อความเสียหายให้แก่โจทก์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 39,940 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 19มีนาคม 2531 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินเพิ่มอีกจำนวน39,940 บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า อุทธรณ์ของโจทก์เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งมีทุนทรัพย์ตามอุทธรณ์เพียง 39,940 บาท ศาลอุทธรณ์ภาค 2จึงไม่ควรรับอุทธรณ์ของโจทก์ไว้พิจารณา เพราะโจทก์เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่วินิจฉัยเกี่ยวกับจำนวนค่าสินไหมทดแทนทั้งหมด แต่โจทก์เห็นว่า จำเลยควรต้องรับผิดในค่าสินไหมทดแทน2 ใน 3 ส่วน ในฐานะที่จำเลยประมาทมากกว่านางสาวต้องพร พงษ์เสรีกล่าวคือ ให้เพิ่มจำนวนมากขึ้นจากที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยไว้อีก39,940 บาท เงินจำนวนนี้จึงเป็นทุนทรัพย์ในชั้นอุทธรณ์ จะนำดอกเบี้ยนับแต่วันเกิดเหตุถึงวันอุทธรณ์มารวมกับเงินดังกล่าวเพื่อเป็นทุนทรัพย์ไม่ได้ และข้อที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยประมาทมากกว่านางสาวต้องพรเป็นปัญหาข้อเท็จจริงนั้น เห็นว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง(ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2534 บัญญัติว่า “ในคดีที่ราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกินห้าหมื่นบาท ฯลฯห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง เว้นแต่ ฯลฯ” ตามบทบัญญัติดังกล่าวที่แก้ไขใหม่นี้ให้คิดคำนวณทุนทรัพย์ในชั้นอุทธรณ์ มิใช่ทุนทรัพย์ที่ว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้นเหมือนก่อนมีการแก้ไขทั้งจะนำดอกเบี้ยนับแต่วันเกิดเหตุถึงวันอุทธรณ์มารวมคำนวณเข้าเป็นทุนทรัพย์ชั้นอุทธรณ์ด้วยไม่ได้ คดีนี้จึงมีทุนทรัพย์ในชั้นอุทธรณ์เพียง 39,940 บาท ทั้งข้อที่ว่าจำเลยหรือนางสาวต้องพรประมาทมากกว่ากันก็เป็นข้อเท็จจริง ฉะนั้นอุทธรณ์ของโจทก์จึงต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าวมา ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้นส่วนที่จำเลยฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์ดังกล่าว เป็นการพิพากษานอกเหนือไปจากอุทธรณ์ของโจทก์และเกินคำขอเพราะโจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงมิได้อุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมายนั้น เห็นว่า โจทก์เป็นเพียงผู้นั่งโดยสารมากับรถจักรยานยนต์ของนางสาวต้องพรค้นเกิดเหตุ มิได้มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นด้วย จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์เต็มจำนวนโดยไม่อาจแบ่งความรับผิดให้แก่โจทก์ได้ การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า เหตุเกิดเพราะนางสาวต้องพรประมาทมากกว่าจำเลยให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์เพียง1 ใน 3 จึงไม่ชอบ และปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้โจทก์จะไม่ได้ยกขึ้นอ้างในอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเพื่อความเป็นธรรมแก่โจทก์ได้ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้นชอบแล้ว”
พิพากษายืน