แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
กิจการขนส่งระหว่างประเทศที่จะอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม หมายถึงกิจการขนส่งที่บางส่วนได้ทำหรือได้ใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 77/2 แต่กิจการของโจทก์ในส่วนที่เป็นการขนส่งสินค้านอกราชอาณาจักรจากประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่ง มีลักษณะเป็นการรับขนสินค้านอกราชอาณาจักรทั้งสิ้น ไม่มีส่วนใดได้ทำหรือได้ใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร จึงไม่อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 ดังนั้น จึงไม่อาจนำภาษีซื้อที่เกี่ยวกับกิจการในส่วนนี้มาหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ เนื่องจากเป็นภาษีซื้อต้องห้ามที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับกิจการตามมาตรา 82/5 (3)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มเลขที่ ภ.พ.73.1 – 01002071 – 25480427 – 005-00091 ถึง 00092 ลงวันที่ 27 เมษายน 2548 คำวินิจฉัยอุทธรณ์ ภ.ส.7 เลขที่ สภ.1 (อธ 4) 74 ถึง 75/2549 ลงวันที่ 9 มีนาคม 2549 และโจทก์มีสิทธิได้รับคืนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเงินจำนวน 188,055.50 บาท อีกทั้งขอให้ลดเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม
จำเลยทั้งสี่ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลาง พิพากษาให้แก้ไขการประเมินตามหนังสือแจ้งการประเมิน (ที่ถูก หนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.73.1) ฉบับลงวันที่ 27 เมษายน 2548 จำนวน 2 ฉบับ และให้งดเบี้ยปรับแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการเดียวว่า ภาษีซื้อในเดือนภาษีพิพาทคดีนี้เป็นภาษีซื้อต้องห้ามไม่ให้นำมาหักในการคำนวณภาษี เนื่องจากเป็นภาษีซื้อที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการของผู้ประกอบการตามประมวลรัษฎากร มาตรา 82/5 (3) หรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์มีสิทธินำภาษีซื้อจากรายจ่ายในการดำเนินกิจการของโจทก์แต่ละเดือนภาษีพิพาทไปหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ ไม่เป็นการต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร มาตรา 82/5 (3) เนื่องจากการให้บริการของโจทก์เป็นการให้บริการในราชอาณาจักร นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นว่าการประกอบกิจการให้บริการขนส่งระหว่างประเทศโดยเรือเดินทะเลที่กระทำโดยผู้ประกอบการที่เป็นนิติบุคคลที่จะอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น หมายถึงกิจการขนส่งที่บางส่วนได้ทำหรือได้ใช้บริการนั้นในราชอาณาจักรตามประมวลรัษฎากร มาตรา 77/2 วรรคสอง และวรรคท้าย สำหรับกิจการของโจทก์ในส่วนที่เป็นการขนส่งสินค้าจากในราชอาณาจักรออกไปยังนอกราชอาณาจักรและในส่วนที่เป็นการขนส่งสินค้าจากนอกราชอาณาจักรเข้ามาในราชอาณาจักร ถือว่าเป็นกิจการที่บางส่วนได้ทำหรือได้ใช้บริการนั้นในราชอาณาจักรจึงอยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มแม้เรือจะอยู่นอกราชอาณาจักรในเดือนภาษีพิพาทก็ตามแต่สำหรับกิจการของโจทก์ในส่วนที่เป็นการขนส่งสินค้าจากนอกราชอาณาจักรแห่งหนึ่งไปยังนอกราชอาณาจักรอีกแห่งหนึ่งมีลักษณะเป็นการรับขนสินค้านอกราชอาณาจักรทั้งสิ้น แม้โจทก์จะอ้างว่ามีการทำธุรกรรมการประสานงานหรือการติดต่อลูกค้าในราชอาณาจักรหรือไม่ก็ตาม แต่ลักษณะสำคัญของการให้บริการโดยตรงของโจทก์คือการให้บริการรับขนสินค้า เมื่อการทำงานในส่วนนี้มิใช่เป็นการรับขนสินค้าออกนอกราชอาณาจักรหรือรับขนสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร ถือว่าเป็นกิจการที่ไม่มีส่วนใดได้ทำหรือได้ใช้บริการนั้นในราชอาณาจักรจึงไม่อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามบทบัญญัติในหมวดว่าด้วยภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 77/2 ดังนั้น แม้ในเดือนภาษีพิพาทโจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนถูกผู้ประกอบการจดทะเบียนอื่นเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มก็ตาม แต่ไม่ปรากฏว่า ภาษีซื้อดังกล่าวเกี่ยวข้องโดยตรงกับกิจการขนส่งสินค้าจากในราชอาณาจักรออกไปนอกราชอาณาจักรหรือจากนอกราชอาณาจักรเข้ามาในราชอาณาจักรที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม โจทก์จึงไม่อาจนำภาษีมูลค่าเพิ่มที่ถูกเรียกเก็บดังกล่าวมาหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มในกิจการนี้ได้ เนื่องจากเป็นภาษีซื้อที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการของผู้ประกอบกิจการตามประมวลรัษฎากร มาตรา 82/5 (3) ส่วนอุทธรณ์ข้ออื่นของโจทก์เกี่ยวกับปัญหานี้ไม่จำต้องวินิจฉัย เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง
สำหรับปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสี่ที่ว่า มีเหตุงดเบี้ยปรับทั้งหมดแก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลางหรือไม่ เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลภาษีอารกลางจึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง เมื่อปรากฏว่า โจทก์ได้รับหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 2 ฉบับ ทุนทรัพย์ในการอุทธรณ์จึงต้องแยกพิจารณาตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มแต่ละฉบับ เพราะการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มแต่ละเดือนภาษีสามารถแยกจากกันได้ ดังนั้น สำหรับเดือนภาษีพฤศจิกายน 2547 โจทก์ได้รับหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มให้ชำระเบี้ยปรับตามประมวลรัษฎากร มาตรา 89 (4) จำนวน 2,209.17 บาท และคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ให้ลดเบี้ยปรับคงเหลือจำนวน 1,546.42 บาท จึงมีทุนทรัพย์พิพาทไม่เกิน 50,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 25 ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่รับวินิจฉัยให้สำหรับเดือนภาษีนี้ คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสี่เฉพาะหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเดือนภาษีกุมภาพันธ์ 2547 เท่านั้น เห็นว่า การที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มโดยนำภาษีซื้อที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการของผู้ประกอบการตามประมวลรัษฎากร มาตรา 82/5 มาคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นเหตุให้จำนวนภาษีซื้อในเดือนภาษีที่แสดงไว้คลาดเคลื่อนไปย่อมอาจทำให้รัฐต้องเสียหาย แต่เมื่อโจทก์ให้ความร่วมมือตรวจสอบด้วยดี จึงเห็นควรลดเบี้ยปรับให้เรียกเก็บเพียงร้อยละ 50 ของเบี้ยปรับตามกฎหมาย อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสี่ฟังขึ้นบางส่วนให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 4,000 บาท แทนจำเลยทั้งสี่นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้แก้ไขการประเมินตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเดือนภาษีกุมภาพันธ์ 2547 โดยลดเบี้ยปรับลงคงเรียกเก็บร้อยละ 50 ของเบี้ยปรับตามกฎหมาย ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลาง