คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13992/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 57, 91 และ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ, 157/1 ซึ่งเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท แม้ความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ, 157/1 จะเป็นบทหนัก แต่ความผิดตามบทมาตราดังกล่าวถือว่าเป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 5 ด้วย ดังนั้น ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องที่ขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีนี้จึงเป็นที่สุดตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 18 วรรคหนึ่ง และตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง คู่ความอาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องไปพร้อมกับฎีกาต่อศาลฎีกาภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาของศาลนั้นให้คู่ความฝ่ายที่ขออนุญาตฎีกาฟัง เพื่อขอให้พิจารณารับฎีกาไว้วินิจฉัยก็ได้ แต่ฎีกาของจำเลยมิได้มีคำขอโดยทำเป็นคำร้องมาพร้อมกับฎีกาเพื่อขอให้ศาลฎีกาพิจารณารับฎีกาของจำเลยไว้วินิจฉัย แม้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นจะอนุญาตให้จำเลยฎีกาก็ไม่ต้องด้วยบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยจึงเป็นการมิชอบ อย่างไรก็ตาม เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม การที่จำเลยยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงนั้น พอแปลได้ว่าจำเลยประสงค์จะขอให้ศาลฎีกาพิจารณารับฎีกาในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดไว้วินิจฉัยตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 19 วรรคหนึ่ง แล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 57, 91 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ, 157/1 พักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ของจำเลย
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 57, 91 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157/1 วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157/1 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 91 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 8 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 เดือน พักใช้ใบอนุญาตขับขี่รถยนต์เฉพาะส่วนบุคคล ชนิดที่ 3 เลขที่ 1 พช.00037/47 ของจำเลยเป็นเวลา 6 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 5 บัญญัติว่า “ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด” หมายความว่า ความผิดตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด และ “กฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด” หมายความว่า กฎหมายว่าด้วยการป้องกันการใช้สารระเหย กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กฎหมายว่าด้วยมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ และกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 57, 91 และพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ, 157/1 ซึ่งเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท แม้ความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ, 157/1 จะเป็นบทหนัก แต่ความผิดตามบทมาตราดังกล่าวถือว่าเป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 5 ด้วย ดังนั้น ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องที่ขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีนี้จึงเป็นที่สุดตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 18 วรรคหนึ่ง และตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง คู่ความอาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องไปพร้อมกับฎีกาต่อศาลฎีกาภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาของศาลนั้นให้คู่ความฝ่ายที่ขออนุญาตฎีกาฟัง เพื่อขอให้พิจารณารับฎีกาไว้วินิจฉัยก็ได้ แต่ฎีกาของจำเลยมิได้มีคำขอโดยทำเป็นคำร้องมาพร้อมกับฎีกาเพื่อขอให้ศาลฎีกาพิจารณารับฎีกาของจำเลยไว้วินิจฉัย แม้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นจะอนุญาตให้จำเลยฎีกาก็ไม่ต้องด้วยบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยจึงเป็นการมิชอบ อย่างไรก็ตาม เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม การที่จำเลยยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงนั้น พอแปลได้ว่า จำเลยประสงค์จะขอให้ศาลฎีกาพิจารณารับฎีกาในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดไว้วินิจฉัยตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 19 วรรคหนึ่ง แล้ว และศาลฎีกาพิจารณาแล้ว เห็นว่า ข้อความที่ตัดสินไม่เป็นปัญหาสำคัญที่ศาลฎีกาควรจะได้วินิจฉัย จึงไม่อนุญาตให้ฎีกา
พิพากษายกฎีกาของจำเลย

Share