คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12454/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมดำเนินคดีอาญาตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 และ พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 แม้พนักงานอัยการจะมีคำสั่งไม่ฟ้องจำเลยในความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าวซึ่งเป็นอำนาจของพนักงานอัยการที่มีความเห็นในการสั่งคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาก็ตาม แต่เป็นกรณีถือได้ว่าไม่มีผู้ใดฟ้องทางอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 51 วรรคหนึ่ง ทั้งคดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่าการกระทำของจำเลยเป็นการทำลาย ทำให้สูญหายและเสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติซึ่งเป็นของรัฐที่โจทก์มีหน้าที่ดูแลรักษา ส่งเสริม ทำนุบำรุงป่าและการเกี่ยวกับการป่าไม้ ฯลฯ ทำให้พื้นที่ป่าต้นน้ำลำธารและติดอยู่ในเขตพื้นที่โซนอนุรักษ์ตามมติคณะรัฐมนตรีได้รับความเสียหายทางด้านป่าไม้ คิดเป็นค่าเสียหายให้แก่โจทก์ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา 97 และมีโทษทางอาญาตามมาตรา 99 ประกอบมาตรา 43 ถือว่า โจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายฟ้องทางแพ่งเนื่องจากความผิดทางอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 51 วรรคหนึ่ง จึงต้องใช้อายุความฟ้องคดีอาญาตามมาตรา 99 ดังกล่าวซึ่งมีระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 95 (3) ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 751,971.31 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 513,375 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยและบริวารออกจากป่าสงวนแห่งชาติที่เกิดเหตุ
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง แต่ให้จำเลยและบริวารออกไปจากป่าสงวนแห่งชาติที่เกิดเหตุ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 330,352.80 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ทั้งนี้ดอกเบี้ยก่อนฟ้องต้องไม่เกิน 238,596.31 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกมีว่า คดีโจทก์ขาดอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคแรก หรือไม่ จำเลยฎีกาว่า พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องจำเลยในความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 และพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 จึงต้องใช้อายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคแรก ซึ่งมีอายุความ 1 ปี เห็นว่า จำเลยถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมดำเนินคดีอาญาตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 และพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 แม้พนักงานอัยการจะมีคำสั่งไม่ฟ้องจำเลยในความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าวซึ่งเป็นอำนาจของพนักงานอัยการที่มีความเห็นในการสั่งคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาก็ตาม แต่เป็นกรณีถือได้ว่าไม่มีผู้ใดฟ้องทางอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 51 วรรคหนึ่ง ทั้งคดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่าการกระทำของจำเลยเป็นการทำลาย ทำให้สูญหายและเสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติซึ่งเป็นของรัฐ ที่โจทก์มีหน้าที่ดูแลรักษา ส่งเสริม ทำนุบำรุงป่าและการเกี่ยวกับการป่าไม้ ฯลฯ ทำให้พื้นที่ป่าต้นน้ำลำธารและติดอยู่ในเขตพื้นที่โซนอนุรักษ์ ตามมติคณะรัฐมนตรีได้รับความเสียหายทางด้านป่าไม้คิดเป็นค่าเสียหายให้แก่โจทก์ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา 97 และมีโทษทางอาญาตามมาตรา 99 ประกอบมาตรา 43 ถือว่า โจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายฟ้องทางแพ่งเนื่องจากความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 51 วรรคหนึ่ง จึงต้องใช้อายุความฟ้องคดีอาญาตามมาตรา 99 ดังกล่าวซึ่งมีระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 (3) ประกอบประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคสอง หาใช่มีอายุความ 1 ปี ตามที่จำเลยฎีกาแต่อย่างใดไม่ เมื่อโจทก์ฟ้องคดีไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2542 ซึ่งโจทก์อ้างว่ามีการกระทำความผิดเกิดขึ้น คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ส่วนคำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยอ้างข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาในปัญหาดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้จำเลยชำระค่าทนายความชั้นฎีกา 6,000 บาท แทนโจทก์

Share