คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11340/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 มาตรา 45 บัญญัติว่า “ให้ถือว่าพระภิกษุซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในการปกครองคณะสงฆ์และไวยาวัจกรเป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญา” และตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 3 (พ.ศ.2520) ออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 4 (พ.ศ.2536) ออกตามความในพระราชบัญญัติดังกล่าว ข้อ 4 กำหนดว่า “การปกครองคณะสงฆ์แต่ละคณะให้มีบรรพชิตเป็นผู้ปกครองตามตำแหน่ง ดังนี้ (11) เจ้าอาวาส” ดังนี้ เมื่อขณะเกิดเหตุจำเลยซึ่งเป็นพระภิกษุและได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ซึ่งเป็นตำแหน่งในการปกครองคณะสงฆ์ตามกฎกระทรวง จึงถือว่าจำเลยเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาตามบทบัญญัติดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 157 พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 มาตรา 23, 31, 37, 45 และให้จำเลยคืนเงินจำนวน 14,242,629 บาท ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 157 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 147 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 ปี และให้จำเลยคืนเงินจำนวน 12,785,000 บาท แก่ผู้เสียหาย คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติโดยคู่ความไม่ได้โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า วันเวลาเกิดเหตุตามฟ้องจำเลยดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส วัดราษฎร์ศรัทธาราม ผู้เสียหาย ซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย ระหว่างดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดดังกล่าวจำเลยเบียดบังเอาเงินของวัดผู้เสียหายตามบัญชีกองทุนวัดราษฎร์ศรัทธาราม และบัญชีกองทุนแจ่มจันเพื่อพระพุทธศาสนาและการศึกษาไปเป็นของจำเลยหรือผู้อื่นโดยทุจริต มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 มาตรา 45 บัญญัติว่า ” ให้ถือว่าพระภิกษุซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในการปกครองคณะสงฆ์และไวยาวัจกร เป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญา” และตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 3 (พ.ศ.2520) ออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่4 (พ.ศ.2536) ออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ข้อ 4 กำหนดว่า “การปกครองคณะสงฆ์แต่ละคณะ ให้มีบรรพชิตเป็นผู้ปกครองตามตำแหน่ง ดังนี้ (11) เจ้าอาวาส ” ดังนี้ เมื่อขณะเกิดเหตุจำเลยซึ่งเป็นพระภิกษุและได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ซึ่งเป็นตำแหน่งในการปกครองคณะสงฆ์ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 4 (พ.ศ.2536) ข้อ 4 จึงถือว่าจำเลยเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาตามบทบัญญัติดังกล่าว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยข้อสุดท้ายว่า มีเหตุที่จะลงโทษจำเลยในสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยหรือไม่ เห็นว่า เงินที่จำเลยเบียดบังไปเป็นเงินจำนวน 12,785,000 บาท ซึ่งเป็นเงินจำนวนมาก ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด 6 ปี นับว่าเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ทั้งเงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินที่มีผู้บริจาคให้แก่ผู้เสียหาย แต่จำเลยกลับเบียดบังไปเป็นของจำเลยหรือผู้อื่นโดยทุจริต เป็นการกระทำความผิดที่เห็นประโยชน์แก่ส่วนตนโดยไม่คำนึงถึงความเสียหายของผู้เสียหายและวัตถุประสงค์ของผู้บริจาคเงิน พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องที่ร้ายแรง ไม่มีเหตุที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย แต่อย่างไรก็ตามคำให้การของจำเลยตามบันทึกคำให้การที่ว่า จำเลยได้เบิกเงินจากกองทุนวัดราษฎร์ศรัทธาราม จำนวน 6,000,000 บาท ไปให้ญาติพี่น้องและคนใกล้ชิดกู้ยืม โดยจำเลยได้ดอกเบี้ยเดือนละ 25,000 บาท ตั้งแต่ปี 2547 เรื่อยมา เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาเห็นสมควรลดโทษให้จำเลยหนึ่งในสี่ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ลดโทษให้จำเลยหนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 ปี 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share