แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งได้บัญญัติเกี่ยวกับสิทธิของผู้ร้องไว้ในมาตรา296จัตวา(3)คือถ้าผู้ร้องไม่ได้ยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษว่าผู้ร้องไม่ใช่บริวารของจำเลยต่อศาลชั้นต้นเสียภายในกำหนดเวลา8วันนับแต่วันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีปิดประกาศให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ร้องเป็นบริวารของจำเลยการที่กฎหมายเพียงแต่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ร้องเป็นบริวารของจำเลยในกรณีที่ผู้ร้องมิได้ยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษว่าผู้ร้องไม่ใช่บริวารของจำเลยเสียภายในกำหนดเวลา8วันนับแต่วันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีปิดประกาศแสดงว่ากฎหมายมิได้บัญญัติบังคับไว้โดยเด็ดขาดว่าถ้าผู้ร้องไม่ได้ยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลภายในกำหนดเวลา8วันนับแต่วันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีปิดประกาศแล้วผู้ร้องจะต้องเป็นบริวารของจำเลยสถานเดียวแม้ล่วงเลยกำหนดเวลา8วันนับแต่วันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีปิดประกาศไปแล้วถ้าผู้ร้องมีหลักฐานสืบแสดงได้ว่าผู้ร้องไม่ใช่บริวารของจำเลยผู้ร้องก็ชอบที่จะยื่นคำร้องนำพยานหลักฐานมาสืบพิสูจน์ถึงสถานภาพของผู้ร้องได้ว่าผู้ร้องไม่ใช่บริวารของจำเลยและแม้ผู้ร้องจะไม่ได้ขอขยายระยะเวลายื่นคำร้องเสียก่อนสิ้นระยะเวลา8วันนับแต่วันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีปิดประกาศก็ไม่ตัดสิทธิผู้ร้องที่จะยื่นคำร้องในภายหลังเพราะระยะเวลา8วันดังกล่าวเป็นเพียงระยะเวลาที่กฎหมายสันนิษฐานถึงสถานภาพของบุคคลว่าใช่หรือไม่ใช่บริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษาเท่านั้นมิใช่ระยะเวลาสิ้นสุดเพื่อให้ดำเนินหรือมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาใดๆตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา23
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากอาคารเลขที่ 285, 316, 317, 340 และ 341 ภายในกำหนด 7 วัน นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความและให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 10,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์จึงขอให้ศาลออกหมายบังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดีปิดประกาศกำหนดเวลาให้ผู้ที่อ้างว่าไม่ใช่บริวารของจำเลยยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลภายในกำหนดเวลา 8 วัน นับแต่วันปิดประกาศ ถ้าไม่ยื่นภายในกำหนดดังกล่าวให้สันนิษฐานว่าเป็นบริวารของจำเลย
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของบุตรรวม 4 คน ไม่ใช่บริวารของจำเลย แต่ผู้ร้องและบุตรเป็นผู้มีสิทธิและอำนาจพิเศษที่จะอยู่ในอาคารเลขที่ 316ได้โดยชอบด้วยกฎหมายเพราะอาคารดังกล่าวตลอดจนที่ดินโฉนดเลขที่ 3900 และ 3902 ซึ่งอาคารดังกล่าวปลูกสร้างอยู่บนที่ดินเป็นทรัพย์สินส่วนหนึ่งที่รวมอยู่กับทรัพย์สินอื่น ๆ ในกองมรดกของนายบัณฑูร องค์วิศิษฐ์ เจ้ามรดกซึ่งได้ถึงแก่ความตายเมื่อปี 2510 กองมรดกของนายบัณฑูรยังไม่ได้แบ่งให้แก่ทายาททรัพย์สินดังกล่าวจึงไม่ใช่ทรัพย์สินของโจทก์ โจทก์เป็นเพียงผู้ถือกรรมสิทธิ์ทางทะเบียนในฐานะเป็นตัวแทนทายาทอื่น ๆ ในกองมรดกของนายบัณฑูรเท่านั้น นายเฉลิมชัย องค์วิศิษฐ์เป็นบุตรนายบัณฑูรกับนางเฉลียว องค์วิศิษฐ์ ซึ่งเป็นทายาทของนายบัณฑูรได้ทำการปกครองทรัพย์มรดกดังกล่าวมา และทำประโยชน์ร่วมกับผู้ร้องในที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดกจนถึงวันที่นายเฉลิมชัยถึงแก่ความตาย เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2532 ผู้ร้องและบุตรก็ยังปกครองทรัพย์มรดกต่อมาจนถึงทุกวันนี้ ผู้ร้องเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายเฉลิมชัยได้อยู่ร่วมกันในที่ดินแปลงดังกล่าว และมีบุตรกับนายเฉลิมชับรวม 4 คน คือนางสาวเหมวดี องค์วิศิษฐ์นางสาวฉัตรวดี องค์วิศิษฐ์ เด็กชายอภิชัย องค์วิศิษฐ์และนายอภิชาติ องค์วิศิษฐ์ เมื่อนายเฉลิมชัยถึงแก่ความตายผู้ร้องและบุตรทั้งสี่จึงเป็นผู้มีสิทธิรับมรดกแทนที่นายเฉลิมชัย(ที่ถูกคือรับมรดกของนายเฉลิมชัย) ตามกฎหมายในกองทรัพย์มรดกของนายบัณฑูรอันรวมถึงที่ดินที่ถูกฟ้องขับไล่นี้ด้วย ผู้ร้องและบุตรทั้งสี่จึงเป็นผู้มีสิทธิและอำนาจพิเศษที่จะอยู่ในที่ดินดังกล่าว ผู้ร้องและบุตรทั้งสี่ไม่ใช่บริวารของจำเลย โจทก์จึงไม่มีอำนาจขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาแก่ผู้ร้องและบุตรทุกคนของผู้ร้อง เหตุที่ผู้ร้องไม่ได้ยื่นคำร้องนี้ภายในกำหนด 8 วัน นับแต่วันปิดประกาศนั้นเนื่องจากผู้ร้องเป็นบุคคลภายนอกคดีที่โจทก์จำเลยได้สมคบกันทำเป็นคดีนี้ และเรื่องนี้เกิดขึ้นนานมาแล้ว เอกสารที่ต้องสืบเสาะติดตามเป็นจำนวนมากทำให้ล่วงเวลาเกินกว่าที่กฎหมายได้กำหนดไว้ ผู้ร้องและบุตรทุกคนไม่ใช่บริวารของจำเลยแต่มีสิทธิและอำนาจพิเศษที่จะอยู่ในอาคารพิพาทได้ จึงไม่อยู่ภายใต้การบังคับคดีตามคำพิพากษาในคดีนี้
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องยื่นคำร้องเกิน 8 วัน นับแต่วันปิดประกาศของเจ้าพนักงานบังคับคดี เหตุผลที่ยื่นคำร้องเกินเวลา 8 วัน รับฟังไม่ได้ การกระทำของผู้ร้องเป็นการประวิงการบังคับคดี ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกเลิกการบังคับคดีเกี่ยวกับผู้ร้อง
โจทก์ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า เมื่อผู้ร้องมิได้ยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษว่าผู้ร้องไม่ใช่บริวารของจำเลยเสียภายในกำหนดเวลา 8 วันนับแต่วันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีปิดประกาศผู้ร้องจะมายื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษเมื่อเลยกำหนดเวลาดังกล่าวได้หรือไม่ว่าผู้ร้องไม่ใช่บริวารของจำเลย เห็นว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งได้บัญญัติเกี่ยวกับสิทธิของผู้ร้องไว้ในมาตรา 296 จัตวา (3) คือถ้าผู้ร้องไม่ได้ยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษว่าผู้ร้องไม่ใช่บริวารของจำเลยต่อศาลชั้นต้นเสียภายในกำหนดเวลา 8 วันนับแต่วันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีปิดประกาศ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ร้องเป็นบริวารของจำเลย การที่กฎหมายเพียงแต่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ร้องเป็นบริวารของจำเลยในกรณีที่ผู้ร้องมิได้ยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษว่าผู้ร้องไม่ใช่บริวารของจำเลยเสียภายในกำหนดเวลา 8 วันนับแต่วันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีปิดประกาศ แสดงว่ากฎหมายมิได้บัญญัติบังคับไว้โดยเด็ดขาดว่า ถ้าผู้ร้องไม่ได้ยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลภายในกำหนดเวลา 8 วันนับแต่วันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีปิดประกาศแล้วผู้ร้องจะต้องเป็นบริวารของจำเลยสถานเดียวโดยบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว จะเห็นได้ว่าแม้ล่วงเลยกำหนดเวลา8 วันนับแต่วันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีปิดประกาศไปแล้ว ถ้าผู้ร้องมีหลักฐานสืบแสดงได้ว่าผู้ร้องไม่ใช่บริวารของจำเลยผู้ร้องก็ชอบที่จะยื่นคำร้องนำพยานหลักฐานมาสืบพิสูจน์ถึงสถานภาพของผู้ร้องได้ว่า ผู้ร้องไม่ใช่บริวารของจำเลย และแม้ผู้ร้องจะไม่ได้ขอขยายระยะเวลายื่นคำร้องเสียก่อนสิ้นระยะเวลา 8 วันนับแต่วันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีปิดประกาศก็ไม่ตัดสิทธิผู้ร้องที่จะยื่นคำร้องภายหลังเพราะระยะเวลา 8 วันดังกล่าวเป็นเพียงระยะเวลาที่กฎหมายสันนิษฐานถึงสถานภาพของบุคคลว่าใช่หรือไม่ใช่บริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษาเท่านั้น มิใช่ระยะเวลาสิ้นสุดเพื่อให้ดำเนินหรือมิได้ดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ดังที่โจทก์ฎีกา
พิพากษายืน