คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3869/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ฟ้องโจทก์บรรยายว่า จำเลยมีซากสัตว์ป่าคุ้มครองตามกฎหมายไว้ในความครอบครอง โดยมิได้รับอนุญาตให้มีไว้ในความครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503 ฯลฯ มิได้กล่าวอ้างกฎกระทรวงฉบับที่ 11(พ.ศ. 2520) ออกตามความในพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503 อันเป็นกฎหมายที่จำเลยฝ่าฝืนไว้ในฟ้อง จึงเป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 12/2526)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยบังอาจมีเขาละมั่งพร้อมหัว 1 หัว ซึ่งเป็นซากสัตว์ป่าสงวนตามกฎหมาย และมีเขากวางพร้อมหัว 10 หัว กับเขากระทิงหรือวัวแดงพร้อมหัว 1 หัว ซึ่งเขาสัตว์ดังกล่าวเป็นซากสัตว์ป่าคุ้มครองตามกฎหมายไว้ในความครอบครองโดยมิได้รับอนุญาตให้มีซากสัตว์ป่าสงวนและซากสัตว์ป่าคุ้มครองดังกล่าวไว้ในความครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503 มาตรา 14, 16, 38, 40, 47, 47 ทวิ ฯลฯ กับขอให้ริบของกลาง

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า พยานหลักฐานโจทก์ไม่พอฟังว่าจำเลยมีเขาละมั่งอันเป็นความผิดฐานมีซากสัตว์ป่าสงวนไว้ในครอบครอง จำเลยมีความผิดฐานมีซากสัตว์ป่าคุ้มครองไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503 มาตรา 16, 40, 47 ทวิฯลฯ จำคุก 2 เดือนและปรับ 3,000 บาท ให้รอการลงโทษจำคุกไว้ 2 ปี ริบของกลาง ข้อหาอื่นให้ยก

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าพ.ศ. 2503 มาตรา 16 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 228 ลงวันที่ 18 ตุลาคม 2515 ข้อ 7 ที่โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยนั้นมีข้อความว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดค้าหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งซากของสัตว์ป่าคุ้มครองชนิดที่กำหนดในกฎกระทรวงเว้นแต่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่” ดังนั้น การที่จะเอาผิดแก่ผู้ที่มีไว้ในครอบครองซึ่งซากของสัตว์ป่าคุ้มครองตามบทกฎหมายมาตรานี้ ข้อเท็จจริงจะต้องปรากฏว่าซากของสัตว์ป่านั้นเป็นชนิดที่คุ้มครองไว้ในกฎกระทรวงว่าเป็นสัตว์ป่าชนิดใดบ้าง และผู้มีไว้ในครอบครองมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งเกี่ยวกับความผิดนี้มีกฎกระทรวงฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2520) ออกตามความในพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503 ข้อ 2 ความว่า “ให้ซากของสัตว์ป่าคุ้มครองตามบัญชีท้ายกฎกระทรวงนี้เป็นซากของสัตว์ป่าคุ้มครองชนิดที่ห้ามมิให้ผู้ใดค้าหรือมีไว้ในครอบครอง เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่” และมีบัญชีระบุซากของสัตว์ป่าคุ้มครองไว้รวมทั้งสิ้น 195 ชนิด ซึ่งกวางอยู่ในลำดับที่ 39 และกระทิงอยู่ในลำดับที่ 37 ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่มีมติว่า กรณีที่จะเป็นผิดในเรื่องนี้จะต้องเป็นการฝ่าฝืนกฎกระทรวงด้วย ถ้าเป็นซากสัตว์ที่มิได้กล่าวไว้ในกฎกระทรวงก็จะเอาผิดมิได้ เมื่อฟ้องของโจทก์มิได้กล่าวอ้างกฎกระทรวงฉบับนี้ อันเป็นกฎหมายที่จำเลยฝ่าฝืนไว้ในฟ้อง จึงเป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 ลงโทษจำเลยไม่ได้ และเมื่อฟ้องโจทก์ไม่สมบูรณ์แล้ว ศาลก็จะสั่งริบของกลางไม่ได้

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ คืนซากสัตว์ของกลางให้จำเลย

Share