คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8229/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการมีมติว่าผู้คัดค้านร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ และเสนอความเห็นไปยังนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งหรือดำเนินการให้มีการสั่งลงโทษไล่ออกจากการราชการ รวมทั้งแจ้งให้ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินที่ร่ำรวยผิดปกติหรือเพิ่มขึ้นผิดปกติตกเป็นของแผ่นดินก่อนผู้คัดค้านเกษียณอายุราชการ ผู้ร้องย่อมดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไปได้เสมือนว่าผู้คัดค้านยังมิได้พ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา 21 จัตวา แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติชอบในวงการ พ.ศ.2518 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงการราชการ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2530 ผู้ร้องจึงมีอำนาจยื่นคำร้อง
พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ พ.ศ.2518 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2530 มาตรา 21 ตรี วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “บรรดาทรัพย์สินที่คณะกรรมการมีมติว่าเป็นทรัพย์สินที่ร่ำรวยผิดปกติหรือเพิ่มขึ้นผิดปกติตามมาตรา 21 ทวิ ให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลโดยไม่ชักช้าเพื่อขอให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดิน เว้นแต่เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นจะสามารถนำพยานหลักฐานมาแสดงให้เห็นว่า ทรัพย์สินดังกล่าวนั้นตนได้มาโดยชอบ ในกรณีนี้ให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม” จากผลของบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว คำร้องของผู้ร้องจึงเป็นมาตรการในทางแพ่งเพื่อบังคับให้ทรัพย์สินที่ผู้คัดค้านร่ำรวยผิดปกติหรือมีเพิ่มขึ้นผิดปกติตกเป็นของแผ่นดิน มิใช่เป็นการลงโทษแก่ผู้กระทำความผิดทางอาญาอันจะสามารถบังคับได้ต่อเมื่อมีกฎหมายบัญญัติและกำหนดโทษไว้ตาม ป.อ มาตรา 2 แม้ในขณะยื่นคำร้องเพื่อดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวมีการยักย้ายทรัพย์สินไปก่อน และบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ พ.ศ.2518 มาตรา 21 ตรี วรรคหนึ่ง ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปราบการทุจริต และประพฤติมิชอบในวงราชการ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2530 มิได้กล่าวถึงวิธีการบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินดังกล่าวนั้นตามที่ผู้คัดค้านฎีกา แต่เมื่อต่อมาได้มี พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 83 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 บัญญัติวิธีการบังคับคดีในกรณีไม่สามารถบังคับเอาแก่ทรัพย์สินที่ต้องตกเป็นของแผ่นดิน โดยให้บังคับเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของผู้ถูกกล่าวหาไม่เกินมูลค่าของทรัพย์สินที่ศาลมีคำสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดิน จึงชอบที่จะนำบทบัญญัติดังกล่าวมาใช้บังคับให้มีผลย้อนหลังแก่ทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ต้องตกเป็นของแผ่นดินนั้นได้ด้วย การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ผู้คัดค้านชดใช้เงิน 73,525,436.09 บาท จึงเป็นการกำหนดวิธีปฏิบัติตามคำพิพากษาในการบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของผู้คัดค้านแทนทรัพย์สินที่ศาลมีคำพิพากษาให้ตกเป็นของแผ่นดิน หรือเพื่อให้มีการขอให้เพิกถอนการโอนหรือการกระทำใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ได้กระทำหลังจากผู้คัดค้านแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 82 จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องเพื่อให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินของผู้คัดค้านตกเป็นของแผ่นดิน ในนามกระทรวงการคลัง 19 อันดับ แต่เนื่องจากผู้คัดค้านยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินอันดับที่ 4 ถึง 6 และ 13 ถึง 19 ไปเสียแล้ว จึงขอให้บังคับผู้คัดค้านชดใช้เงิน 73,525,436.09 บาท คืนแก่แผ่นดินในนามกระทรวงการคลัง
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 44339 ตำบลคลองแสนแสบ (คลองสี่ตก) อำเภอมีนบุรี กรุงเทพมหานคร ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1032 ตำบลเกาะพงัน อำเภอเกาะพงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เฉพาะส่วนของผู้คัดค้าน รถยนต์ยี่ห้อฮอนด้า หมายเลขทะเบียน 6 ธ 8883 กรุงเทพมหานคร รถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า หมายเลขทะเบียน 2 ช 8844 กรุงเทพมหานคร หุ้นบริษัทวิเศษคอนกรีต จำกัด 2,500 หุ้น บริษัทปันนา จำกัด 1,000 หุ้น เงินในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาบางโพ เลขที่ 033-2-43431-4 และเงินในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาบางเขน เลขที่ 070-2-7110-0 ตกเป็นของแผ่นดิน ให้ผู้คัดค้านโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน รถยนต์ หุ้น และเงินฝากในธนาคารตามหลักฐานที่มีชื่อผู้คัดค้านอยู่แก่กระทรวงการคลัง หากไม่โอน ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของผู้คัดค้าน และให้ผู้คัดค้านชดใช้เงิน 73,525,436.09 บาท แทนทรัพย์สินอันดับที่ 4 ถึง 6 และ 13 ถึง 19 คืนแก่แผ่นดินโดยชำระให้แก่กระทรวงการคลัง และให้ผู้คัดค้านใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้ร้อง คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับทรัพย์สินอันดับที่ 7 รถยนต์ยี่ห้อฮอนด้า หมายเลขทะเบียน 6 ธ 8883 กรุงเทพมหานคร ให้แก้ไขมูลค่าที่ต้องใช้แทนเป็นเงิน 720,000 บาท ทรัพย์สินอันดับที่ 8 รถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า หมายเลขทะเบียน 2 ช 8844 กรุงเทพมหานคร ให้แก้ไขมูลค่าที่ต้องใช้แทนเป็นเงิน 624,000 บาท ให้ยกคำร้องส่วนที่ขอให้ทรัพย์สินอันดับที่ 11 เงินในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์เลขที่ 033-2-43431-4 ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาบางโพ และให้ผู้คัดค้านใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนผู้ร้อง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาผู้คัดค้านข้อแรกว่า ผู้ร้องมีอำนาจยื่นคำร้องหรือไม่ ผู้คัดค้านฎีกาว่า พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ พ.ศ.2518 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2530 มีเจตนารมณ์ให้ผู้ร้องยื่นคำร้องได้เฉพาะกรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติยังมิได้พ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ จึงใช้บังคับแก่ผู้ที่พ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐเพราะเกษียณอายุราชการแล้วดังเช่นผู้คัดค้านมิได้ เห็นว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติ มิชอบในวงราชการ มีมติว่าผู้คัดค้านร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ และเสนอความเห็นไปยังนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งหรือดำเนินการให้มีการสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการ รวมทั้งแจ้งให้ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินที่ร่ำรวยผิดปกติหรือเพิ่มขึ้นผิดปกติตกเป็นของแผ่นดินตั้งแต่วันที่ 29 มิถุนายน 2537 ก่อนผู้คัดค้านเกษียณอายุราชการ ตามสำเนามติการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ ดังนั้น ผู้ร้องย่อมดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไปได้เสมือนว่าผู้คัดค้านยังมิได้พ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา 21 จัตวา แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ พ.ศ.2518 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2530 ผู้ร้องจึงมีอำนาจยื่นคำร้อง ฎีกาของผู้คัดค้านข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านข้อสุดท้ายมีว่า ผู้คัดค้านจะต้องรับผิดชดใช้เงินให้แก่กระทรวงการคลังแทนทรัพย์สินอันดับที่ 4 ถึง 6 และ 13 ถึง 19 หรือไม่ ผู้คัดค้านฎีกาว่า พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ พ.ศ.2518 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2530 มีเจตนารมณ์ให้ใช้บังคับแก่ทรัพย์สินที่เจ้าหน้าที่ของรัฐได้มาโดยมิชอบและยังคงมีอยู่ในครอบครองของเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้น หรือมีบุคคลอื่นถือกรรมสิทธิ์แทน แต่ขณะผู้ร้องยื่นคำร้องทรัพย์สินอันดับที่ 4 ถึง 6 และ 13 ถึง 19 มิได้มีอยู่ และผู้คัดค้านก็มิใช่ลูกหนี้แผ่นดินผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้บังคับผู้คัดค้านรับผิดชดใช้เงินให้แก่กระทรวงการคลังแทนทรัพย์สินอันดับที่ 4 ถึง 6 และ 13 ถึง 19 นั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ พ.ศ.2518 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2530 มาตรา 21 ตรี วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “บรรดาทรัพย์สินที่คณะกรรมการมีมติว่าเป็นทรัพย์สินที่ร่ำรวยผิดปกติหรือเพิ่มขึ้นผิดปกติตามมาตรา 21 ทวิ ให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลโดยไม่ชักช้าเพื่อขอให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดิน เว้นแต่เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นจะสามารถนำพยานหลักฐานมาแสดงให้เห็นว่า ทรัพย์สินดังกล่าวนั้นตนได้มาโดยชอบ ในกรณีนี้ให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม” จากผลของบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว คำร้องของผู้ร้องจึงเป็นการดำเนินการในทางแพ่งเพื่อบังคับให้ทรัพย์สินที่ผู้คัดค้านร่ำรวยผิดปกติหรือมีเพิ่มขึ้นผิดปกติตกเป็นของแผ่นดิน มิใช่เป็นการลงโทษแก่ผู้กระทำความผิดทางอาญาอันจะสามารถบังคับได้ต่อเมื่อมีกฎหมายบัญญัติและกำหนดโทษไว้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 แม้ในขณะยื่นคำร้องเพื่อดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวมีการยักย้ายทรัพย์สินไปก่อน และบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ พ.ศ.2518 มาตรา 21 ตรี วรรคหนึ่ง ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติ มิชอบในวงราชการ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2530 มิได้กล่าวถึงวิธีการบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินดังกล่าวนั้นตามที่ผู้คัดค้านฎีกา แต่เมื่อต่อมาได้มีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 83 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 บัญญัติวิธีการบังคับคดีในกรณีไม่สามารถบังคับเอาแก่ทรัพย์สินที่ต้องตกเป็นของแผ่นดิน โดยให้บังคับเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของผู้ถูกกล่าวหาไม่เกินมูลค่าของทรัพย์สินที่ศาลมีคำสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดิน จึงชอบที่จะนำบทบัญญัติดังกล่าวมาใช้บังคับให้มีผลย้อนหลังแก่ทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ต้องตกเป็นของแผ่นดินนั้นได้ด้วย เมื่อได้ความว่ามีการยักย้ายทรัพย์สินอันดับที่ 4 ถึงที่ 6 และอันดับที่ 13 ถึง 19 ไปก่อนผู้ร้องยื่นคำร้อง การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ผู้คัดค้านชดใช้เงิน 73,525,436.09 บาท จึงเป็นการกำหนดวิธีปฏิบัติตาม คำพิพากษาในการบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของผู้คัดค้านแทนทรัพย์สินที่ศาลมีคำพิพากษาให้ตกเป็นของแผ่นดิน หรือเพื่อให้มีการขอให้เพิกถอนการโอนหรือการกระทำใดๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ได้กระทำหลังจากผู้คัดค้านแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 82 จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ฎีกาข้อนี้ของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน
อนึ่ง ที่ผู้คัดค้านฎีกาว่า หากผู้คัดค้านจะต้องชดใช้ราคารถยนต์ยี่ห้อฮอนด้าหมายเลขทะเบียน 6 ธ 8883 กรุงเทพมหานคร และรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า หมายเลขทะเบียน 2 ช 8844 กรุงเทพมหานคร ก็จะต้องชดใช้ราคาตามสภาพปัจจุบัน มิใช่ตามสภาพในขณะที่ซื้อนั้น เป็นข้อที่ผู้คัดค้านมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share