คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10347/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กรมธรรม์ข้อ 9 ที่ระบุว่า “ถ้ามีการขัดแย้งเกิดขึ้นภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยนี้ คู่กรณีจะเสนอให้นำข้อขัดแย้งดังกล่าวให้อนุญาโตตุลาการคนหนึ่ง ซึ่งคู่กรณีแต่งตั้งขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นผู้วินิจฉัย หรือถ้าคู่กรณีไม่สามารถตกลงเลือกบุคคลเดียวกันภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ถูกคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดร้องขอเป็นลายลักษณ์อักษร อาจจะเสนอให้แต่งตั้งอนุญาโตตุลาการสองคน ฝ่ายละ 1 คน เป็นผู้วินิจฉัย ในกรณีที่อนุญาโตตุลาการสองคนตกลงกันไม่ได้ ให้อนุญาโตตุลาการตั้งผู้ชี้ขาดเป็นลายลักษณ์อักษรทำการชี้ขาด” หาใช่เป็นการบังคับให้คู่กรณีจำต้องเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการก่อนเสมอไปไม่ แต่มีความหมายไปในทางให้โอกาสคู่กรณีฝ่ายหนึ่งเสนอต่อคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งให้นำข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาด หากจำเลยที่ 1 มีความจริงใจให้มีการเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการก่อน จำเลยที่ 1 น่าจะให้การต่อสู้ในเรื่องนี้ไว้หรือยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีเพื่อให้โจทก์และจำเลยทั้งสามไปดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการก่อนเสียตั้งแต่เนิ่น ๆ หาใช่เพิ่งยื่นคำร้องกล่าวอ้างเรื่องนี้ขึ้น หลังจากจำเลยทั้งสามยื่นคำให้การนานถึง 6 ปีเศษ พฤติกรรมของจำเลยที่ 1 ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 สละสิทธิที่จะหยิบยกข้อ 9 แห่งเงื่อนไขทั่วไปดังกล่าวขึ้นกล่าวอ้างแล้ว
ม. ผู้เอาประกันภัยชกต่อยกับ ธ. ยุติไปก่อนที่ ธ. นำอาวุธปืนมายิง ม. ฟังไม่ได้ว่า ม. เสียชีวิตขณะเข้าร่วมทะเลาะวิวาทหรือมีส่วนยั่วยุให้เกิดการทะเลาะวิวาท จึงไม่เข้าข้อยกเว้นตามกรมธรรม์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 460,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 400,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ถึงแก่ความตาย นางก้ำ บุตรโจทก์ ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท สำหรับค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนในทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี ยกฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 รับผิดเสียดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องวันที่ 10 สิงหาคม 2541 เป็นต้นไป นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า นายมานิตย์ พนักงานของจำเลยที่ 1 สาขาลำปาง ทำสัญญาประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลไว้ต่อจำเลยที่ 1 โดยมีข้อตกลงว่าหากนายมานิตย์เสียชีวิต จำเลยที่ 1 จะจ่ายเงิน 400,000 บาท แก่โจทก์ผู้รับประโยชน์ ซึ่งเป็นมารดานายมานิตย์ ตามตารางกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล ต่อมาวันที่ 1 พฤศจิกายน 2540 ซึ่งอยู่ในระยะเวลาประกันภัย นายมานิตย์ชกต่อยกับนายธวัชชัย มีผู้เข้าห้ามและแยกจากกัน นายธวัชชัยกลับเข้ามาในบ้านพักแล้วเอาอาวุธปืนออกมายิงนายมานิตย์ 1 นัด เสียชีวิต พนักงานอัยการจังหวัดลำปางฟ้องนายธวัชชัยต่อศาลชั้นต้น ข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาและเกี่ยวกับอาวุธปืน คดีถึงที่สุด ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาลงโทษจำคุกนายธวัชชัย ส่วนโจทก์ยื่นเรื่องขอรับเงิน 400,000 บาท จากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 มีหนังสือถึงโจทก์ไม่ยอมจ่ายเงินอ้างว่า นายมานิตย์ถูกยิงเสียชีวิตขณะที่เข้าร่วมทะเลาะวิวาทหรือมีส่วนยั่วยุให้เกิดการทะเลาะวิวาท เข้าข้อยกเว้นการประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลไม่คุ้มครอง โจทก์จึงฟ้องเป็นคดีนี้ โดยยื่นคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถา ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนคำร้อง จำเลยทั้งสามยื่นคำให้การเมื่อโจทก์เสียค่าขึ้นศาลครบถ้วน ศาลชั้นต้นจึงรับฟ้อง รับคำให้การ นัดสืบพยานโจทก์จำเลยทั้งสาม ครั้นถึงวันนัดจำเลยทั้งสามยื่นคำร้องขอดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการก่อนตามข้อ 9 เงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล ขอให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดี ศาลชั้นต้นยกคำร้อง ให้ดำเนินคดีต่อไป
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์ฟ้องคดีโดยมิได้เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการเพื่อชี้ขาดเสียก่อนตามข้อ 9 แห่งเงื่อนไขทั่วไปของกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า ข้อ 9 ของกรมธรรม์ดังกล่าวระบุว่า “ถ้ามีการขัดแย้งเกิดขึ้นภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยนี้ คู่กรณีจะเสนอให้นำข้อขัดแย้งดังกล่าวให้อนุญาโตตุลาการคนหนึ่ง ซึ่งคู่กรณีแต่งตั้งขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นผู้วินิจฉัย หรือถ้าคู่กรณีไม่สามารถตกลงเลือกบุคคลเดียวกันภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ถูกคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดร้องขอเป็นลายลักษณ์อักษร อาจจะเสนอให้แต่งตั้งอนุญาโตตุลาการสองคน ฝ่ายละ 1 คน เป็นผู้วินิจฉัย ในกรณีที่อนุญาโตตุลาการสองคนตกลงกันไม่ได้ ให้อนุญาโตตุลาการตั้งผู้ชี้ขาดเป็นลายลักษณ์อักษรทำการชี้ขาด” เช่นนี้ตามข้อ 9 หาใช่เป็นการบังคับให้คู่กรณีจำต้องเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการก่อนเสมอไปไม่ แต่มีความหมายไปในทางให้โอกาสคู่กรณีฝ่ายหนึ่งเสนอต่อคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งให้นำข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาด ประกอบกับ หากจำเลยที่ 1 มีความจริงใจให้มีการเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการก่อน จำเลยที่ 1 น่าจะให้การต่อสู้ในเรื่องนี้ไว้หรือยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีเพื่อให้โจทก์ จำเลยทั้งสามไปดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการก่อนเสียตั้งแต่เนิ่นๆ หาใช่เพิ่งยื่นคำร้องกล่าวอ้างเรื่องนี้ขึ้น เป็นเวลาหลังจากจำเลยทั้งสามยื่นคำให้การนานถึง ๖ ปีเศษ พฤติกรรมของจำเลยที่ 1 เช่นนี้ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 สละสิทธิที่จะหยิบยกข้อ ๙ แห่งเงื่อนไขทั่วไปดังกล่าวขึ้นกล่าวอ้างแล้ว คำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยที่ 1 อ้างมาในฎีกา ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ นำมาเทียบเคียงไม่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 เห็นว่า โจทก์มีอำนาจฟ้อง ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อต่อไปว่า จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชำระเงินแก่โจทก์หรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 ฎีกาว่า นายมานิตย์ถึงแก่ความตายอันเป็นผลมาจากนายมานิตย์เข้าร่วมทะเลาะวิวาทหรือยั่วยุให้เกิดการทะเลาะวิวาท เข้าข้อยกเว้นไม่ต้องรับผิด เห็นว่า ศาลล่างทั้งสองได้วินิจฉัยไว้ถูกต้องชัดแจ้งแล้วว่า นายมานิตย์ผู้เอาประกันภัยชกต่อยกับนายธวัชชัยยุติไปก่อนที่นายธวัชชัยนำอาวุธปืนมายิงนายมานิตย์ ฟังไม่ได้ว่านายมานิตย์เสียชีวิตขณะเข้าร่วมทะเลาะวิวาทหรือมีส่วนยั่วยุให้เกิดการทะเลาะวิวาท จึงไม่เข้าข้อยกเว้นข้อ 2 ง. ที่จะให้ต้องรับผิด ศาลฎีกาจึงไม่จำต้องวินิจฉัยซ้ำอีก ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share