คำวินิจฉัยที่ 13/2558

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนยื่นฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีทั้งเก้าซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองอ้างว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้จัดการมรดกของบิดา โดยก่อนบิดาถึงแก่ความตายได้มีทรัพย์สินเป็นที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. แต่ถูกนายอำเภอเมืองหนองบัวลำภูอ้างว่าออกทับที่สาธารณประโยชน์ และให้เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ นำแบบคำขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมกับแบบบันทึกถ้อยคำที่ยังไม่กรอกข้อความมาให้บิดาของผู้ฟ้องคดีลงลายมือชื่อว่า บิดาของผู้ฟ้องคดีทราบว่าที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. ออกทับที่สาธารณประโยชน์ จึงขอโอนที่ดินพิพาทให้เป็นที่สาธารณประโยชน์โดยไม่มีค่าตอบแทน และได้จดทะเบียนโอนเป็นที่สาธารณประโยชน์ จากนั้นผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๔ ถึงที่ ๘ ก่อสร้างถนนและอาคารรุกล้ำทับที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. พิพาท ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม บันทึกถ้อยคำ ให้บิดาของผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. พิพาท เพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เลขที่ นภ. ๐๐๐๑ ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ เปลี่ยนแปลงทางทะเบียนที่ดินพิพาทเป็นชื่อของบิดาผู้ฟ้องคดี พร้อมทั้งให้รื้อถอนถนนและอาคารส่วนที่รุกล้ำทับที่ดินพิพาท และทำให้ที่ดินพิพาทอยู่ในสภาพเดิมหากทำไม่ได้ให้ร่วมกันชดใช้ค่าที่ดินพิพาทให้แก่บิดาผู้ฟ้องคดี ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ถึงที่ ๙ ให้การว่า บิดาผู้ฟ้องคดีได้โอนที่ดินพิพาทให้เป็นที่สาธารณประโยชน์โดยไม่มีค่าตอบแทนด้วยตนเอง และมีการจดทะเบียนโอนโดยชอบด้วยกฎหมาย ปัจจุบันที่ดินแปลงนี้ได้ถูกถอนสภาพจากที่สาธารณประโยชน์สำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันมาเป็นเพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะโดยใช้เป็นศูนย์ราชการจังหวัดหนองบัวลำภูกว่า ๒๐ ปี แล้ว เห็นว่า เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของผู้ฟ้องคดีที่ใช้สิทธิทางศาลก็เพื่อให้ศาลรับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างเป็นสำคัญ การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นของบิดาผู้ฟ้องคดีตามที่กล่าวอ้างหรือไม่เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๓/๒๕๕๘

วันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๕๘

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลปกครองอุดรธานี
ระหว่าง
ศาลจังหวัดหนองบัวลำภู

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองอุดรธานีโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๕๖ ร้อยตำรวจตรี สมบูรณ์หรือสมพร แก่นผา ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้องกระทรวงมหาดไทย ที่ ๑ จังหวัดหนองบัวลำภู ที่ ๒ กรมที่ดิน ที่ ๓ กรมโยธาธิการและผังเมือง ที่ ๔ กรมคุมประพฤติ ที่ ๕ กรมส่งเสริมการเกษตร ที่ ๖ กรมส่งเสริมสหกรณ์ ที่ ๗ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ที่ ๘ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองอุดรธานี เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๒๖๐/๒๕๕๖ โดยศาลมีคำสั่งเรียกกรมธนารักษ์เข้ามาเป็นคู่ความและกำหนดให้เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๙ ความว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้จัดการมรดกของบิดาตามคำสั่งศาล ก่อนถึงแก่ความตายบิดามีทรัพย์สินเป็นที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ ๓๒๘ เลขที่ดิน ๑๖๑ ตำบลลำภู อำเภอหนองบัวลำภู จังหวัดอุดรธานี เนื้อที่ ๒๗ ไร่ ๓ งาน ๘๐ ตารางวา แต่ถูกนายอำเภอเมืองหนองบัวลำภูอ้างว่าออกทับที่สาธารณประโยชน์ (โสกบักเหน่ง) ในคราวสำรวจที่ดินเพื่อเตรียมก่อสร้างศูนย์ราชการจังหวัดหนองบัวลำภู และให้เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ นำแบบคำขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมกับแบบบันทึกถ้อยคำที่ยังไม่กรอกข้อความมาให้บิดาของผู้ฟ้องคดีลงลายมือชื่อ โดยข้อความมีสาระสำคัญว่า บิดาของผู้ฟ้องคดีทราบว่าที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๓๒๘ ออกทับที่สาธารณประโยชน์ จึงมีความประสงค์ขอโอนที่ดินพิพาท ให้เป็นที่สาธารณประโยชน์โดยไม่มีค่าตอบแทน และได้จดทะเบียนโอนเป็นที่สาธารณประโยชน์ ต่อมา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๔ ถึงที่ ๘ ก่อสร้างถนนและอาคารรุกล้ำทับที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๓๒๘ ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม บันทึกถ้อยคำ ให้บิดาของผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. พิพาท เพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เลขที่ นภ. ๐๐๐๑ ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ เปลี่ยนแปลงทางทะเบียนที่ดินพิพาทเป็นชื่อของบิดาผู้ฟ้องคดี พร้อมทั้งให้รื้อถอนถนนและอาคารส่วนที่รุกล้ำทับที่ดินพิพาท และทำให้ที่ดินพิพาทอยู่ในสภาพเดิมหากทำไม่ได้ให้ร่วมกันชดใช้ค่าที่ดินพิพาทให้แก่บิดาผู้ฟ้องคดี
ศาลมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องในส่วนของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ไว้พิจารณา
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ถึงที่ ๙ ให้การว่า บิดาผู้ฟ้องคดีได้โอนที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๓๒๘ เนื้อที่ ๒๗ ไร่ ๓ งาน ๖๖ ตารางวา ให้เป็นที่สาธารณประโยชน์โดยไม่มีค่าตอบแทนด้วยตนเอง และมีการจดทะเบียนโอนโดยชอบด้วยกฎหมาย ปัจจุบันที่ดินแปลงนี้ได้ถูกถอนสภาพจากที่สาธารณประโยชน์สำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน มาเป็นเพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะโดยใช้เป็นศูนย์ราชการจังหวัดหนองบัวลำภูกว่า ๒๐ ปี แล้ว
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ถึงที่ ๖ และที่ ๙ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองอุดรธานีพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่า นายอำเภอเมืองหนองบัวลำภูได้ให้เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ นำแบบคำขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม (ท.ด.๑ ก.) กับแบบบันทึกถ้อยคำซึ่งไม่ได้กรอกข้อความมาให้บิดาผู้ฟ้องคดีลงลายมือชื่อแล้วนำไปกรอกข้อความเกี่ยวกับการอุทิศที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๓๒๘ คืนแก่รัฐเพื่อก่อสร้างศูนย์ราชการจังหวัดหนองบัวลำภู โดยบิดาผู้ฟ้องคดีไม่รู้เห็นหรือยินยอม ขอให้ศาลเพิกถอนคำขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม บันทึกถ้อยคำ และเพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เลขที่ นภ. ๐๐๐๑ และคืนที่ดินพิพาทหรือชดใช้ค่าที่ดินพิพาทให้แก่บิดาผู้ฟ้องคดี จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายในการออกคำสั่งและเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของ ศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ส่วนประเด็นปัญหาว่า ที่ดินแปลงพิพาทเป็นของบิดาผู้ฟ้องคดีหรือเป็นที่สาธารณประโยชน์นั้น เป็นเพียงประเด็นปัญหาย่อยประเด็นหนึ่งที่ศาลจะต้องพิจารณาในเนื้อหาของคดีซึ่งศาลปกครองย่อมมีอำนาจวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวได้ และแม้การวินิจฉัยประเด็นย่อยดังกล่าวจะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือประมวลกฎหมายที่ดิน แต่การนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดี ก็มิใช่เกณฑ์การพิจารณาลักษณะคดีว่าอยู่ในเขตอำนาจของศาลใด และไม่มีบทบัญญัติใดห้ามศาลปกครองมิให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดี หรือมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกำหนดให้เป็นอำนาจของศาลหนึ่งศาลที่จะนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายเหล่านั้นมาวินิจฉัยข้อพิพาทของคดีไว้โดยเฉพาะ นอกจากนั้น มาตรา ๗๑ (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินมีผลผูกพันบุคคลภายนอก อันเป็นบทบัญญัติที่ยืนยันให้เห็นว่า ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน
ศาลจังหวัดหนองบัวลำภูพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้เป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ โต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ซึ่งการที่ศาลจะมีคำพิพากษาตามที่ผู้ฟ้องคดีมีคำขอได้นั้น จำต้องต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นของบิดาผู้ฟ้องคดีหรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ซึ่งต่อมาเป็นที่ราชพัสดุประเภทเพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ ส่วนที่ขอให้รื้อถอนถนนและอาคารในส่วนที่รุกล้ำทับที่ดินพิพาท และให้ชดใช้ค่าทดแทนกรณีไม่สามารถทำที่ดินให้กลับคืนสู่สภาพเดิมได้นั้น จะต้องเป็นกรณีที่ศาลได้วินิจฉัยให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีหรือไม่ คดีนี้จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนยื่นฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีทั้งเก้าซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองโดยอ้างว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้จัดการมรดกของบิดาตามคำสั่งศาล โดยก่อนบิดาถึงแก่ความตายได้มีทรัพย์สินเป็นที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ ๓๒๘ เลขที่ดิน ๑๖๑ แต่ถูกนายอำเภอเมืองหนองบัวลำภูอ้างว่าออกทับที่สาธารณประโยชน์ (โสกบักเหน่ง) ในคราวสำรวจที่ดินเพื่อเตรียมก่อสร้างศูนย์ราชการจังหวัดหนองบัวลำภู และให้เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ นำแบบคำขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมกับแบบบันทึกถ้อยคำที่ยังไม่กรอกข้อความมาให้บิดาของผู้ฟ้องคดีลงลายมือชื่อ โดยข้อความมีสาระสำคัญว่า บิดาของผู้ฟ้องคดีทราบว่าที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๓๒๘ ออกทับที่สาธารณประโยชน์ จึงมีความประสงค์ขอโอนที่ดินพิพาท ให้เป็นที่สาธารณประโยชน์โดยไม่มีค่าตอบแทน และได้จดทะเบียนโอนเป็นที่สาธารณประโยชน์ จากนั้นผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๔ ถึงที่ ๘ ก่อสร้างถนนและอาคารรุกล้ำทับที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๓๒๘ ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม บันทึกถ้อยคำ ให้บิดาของผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. พิพาท เพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เลขที่ นภ. ๐๐๐๑ ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ เปลี่ยนแปลงทางทะเบียนที่ดินพิพาทเป็นชื่อของบิดาผู้ฟ้องคดี พร้อมทั้งให้รื้อถอนถนนและอาคารส่วนที่รุกล้ำทับที่ดินพิพาท และทำให้ที่ดินพิพาทอยู่ในสภาพเดิมหากทำไม่ได้ให้ร่วมกันชดใช้ค่าที่ดินพิพาทให้แก่บิดาผู้ฟ้องคดี โดยศาลมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องในส่วนของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ไว้พิจารณา ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ถึงที่ ๙ ให้การว่า บิดาผู้ฟ้องคดีได้โอนที่ดินพิพาทให้เป็นที่สาธารณประโยชน์โดยไม่มีค่าตอบแทนด้วยตนเอง และมีการจดทะเบียนโอนโดยชอบด้วยกฎหมาย ปัจจุบันที่ดินแปลงนี้ได้ถูกถอนสภาพจากที่สาธารณประโยชน์สำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันมาเป็นเพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะโดยใช้เป็นศูนย์ราชการจังหวัดหนองบัวลำภูกว่า ๒๐ ปี แล้ว เห็นว่า เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของผู้ฟ้องคดีที่ใช้สิทธิทางศาลก็เพื่อให้ศาลรับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างเป็นสำคัญ การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นของบิดาผู้ฟ้องคดีตามที่กล่าวอ้างหรือไม่เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างร้อยตำรวจตรี สมบูรณ์หรือสมพร แก่นผา ผู้ฟ้องคดี กระทรวงมหาดไทย ที่ ๑ จังหวัดหนองบัวลำภู ที่ ๒ กรมที่ดิน ที่ ๓ กรมโยธาธิการและผังเมือง ที่ ๔ กรมคุมประพฤติ ที่ ๕ กรมส่งเสริมการเกษตร ที่ ๖ กรมส่งเสริมสหกรณ์ ที่ ๗ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ที่ ๘ กรมธนารักษ์ ที่ ๙ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share