คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17235/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 4 ให้ความหมายคำว่า “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” รวมถึงข้าราชการด้วย จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว ไม่ว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามที่โจทก์ฟ้องจะเป็นความผิดต้องด้วยบทเฉพาะตาม ป.อ. มาตรา 149 ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัย หรือเป็นความผิดต้องด้วยบทเฉพาะตาม ป.อ. มาตรา 148 ดังที่โจทก์ฎีกา แต่ก็ถือได้ว่าฟ้องโจทก์เป็นการกล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริตตาม ป.อ. มาตรา 157 ซึ่งเป็นบททั่วไป และความผิดตามบทมาตราทั้งสามดังกล่าวบัญญัติไว้ในหมวด 2 ของ ป.อ. ว่าด้วยความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับการกระทำของจำเลยทั้งสามในส่วนนี้จึงเป็นการกล่าวหาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 โดยจำเลยที่ 3 เป็นผู้สนับสนุน ซึ่งมาตรา 19 (3) 43 (4) และมาตรา 88 ของ พ.ร.บ.ดังกล่าวกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงเมื่อมีการกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐว่ากระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ทั้งนี้ ตามมาตรา 4 ผู้ถูกกล่าวหายังหมายความรวมถึงตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุนการกระทำดังกล่าวด้วย โดยกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่โดยเฉพาะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว แทนการให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนตาม ป.วิ.อ. ดังเช่นคดีอาญาอื่นๆ การที่พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนในข้อหาความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการจึงเป็นการสอบสวนโดยมิชอบ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามในความผิดตามข้อหาดังกล่าว
แม้ต่อมาจะมี พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 ยกเลิกความในมาตรา 19 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และให้ใช้ข้อความใหม่แทน โดยมาตรา 19 (4) ที่แก้ไขใหม่ บัญญัติให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจหน้าที่ไต่สวนและวินิจฉัยว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่นซึ่งไม่ใช่บุคคลตาม (2) หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูงหรือข้าราชการซึ่งดำรงตำแหน่งตั้งแต่ผู้อำนวยการกองร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือความผิดที่เกี่ยวข้องกัน รวมทั้งดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือข้าราชการในระดับต่ำกว่าที่ร่วมกระทำความผิดกับผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว หรือกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือที่กระทำความผิดในลักษณะที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นสมควรดำเนินการด้วย และตาม พ.ร.บ.มาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2551 มาตรา 17 (4) บัญญัติให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ (คณะกรรมการ ป.ป.ท.) มีอำนาจหน้าที่ไต่สวนข้อเท็จจริงและชี้มูลเกี่ยวกับการกระทำทุจริตในภาครัฐของเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นผลให้การกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งไม่ได้เป็นข้าราชการที่ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองหรือสูงกว่าผู้อำนวยการกอง ไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็ตาม แต่อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และอำนาจสอบสวนของพนักงานสอบสวน รวมตลอดถึงอำนาจของพนักงานอัยการในการยื่นฟ้องคดี ย่อมเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น กรณีจึงต้องบังคับใช้ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ฉบับเดิม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148, 157, 264, 265, 268, 337, 371, 83, 86, 91 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ.2498 มาตรา 4, 6, 22, 23 ริบอาวุธปืนออโตเมติกขนาด .45 ไม่มีเครื่องหมายทะเบียน เครื่องวิทยุคมนาคม 2 เครื่อง และแผ่นป้ายทะเบียน 2ฮ – 6673 กรุงเทพมหานคร ของกลางและนับโทษจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 3 ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 213/2541 และคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 6139/2545 ของศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 1 และที่ 3 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148, 157, 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265, 337, 371 ประกอบมาตรา 83 และจำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148, 157 ประกอบมาตรา 86, 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265, 337, 371 จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำเลยที่ 1 และที่ 3 มีความผิดตามมาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง อีกบทหนึ่ง และจำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ.2498 มาตรา 6, 23 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฐานเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ฐานเป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และฐานกรรโชก เป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 18 ปี ลงโทษจำเลยที่ 3 ฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และฐานกรรโชกเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามมาตรา 148, 86 อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 12 ปี ลงโทษจำเลยทั้งสามฐานใช้เอกสารราชการปลอม จำคุกคนละ 3 ปี ฐานมีเครื่องวิทยุคมนาคมไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุกคนละ 6 เดือน ฐานมีอาวุธปืนไม่มีทะเบียนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุกคนละ 1 ปี และฐานพาอาวุธปืนไม่มีทะเบียนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 6 เดือน และลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 3 ฐานพาอาวุธปืนมีทะเบียนไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุกคนละ 3 เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 23 ปี 3 เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 23 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 17 ปี 3 เดือน ให้นับโทษจำคุกจำเลยที่ 3 ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 6139/2545 ของศาลชั้นต้น ริบอาวุธปืนออโตเมติกขนาด .45 ไม่มีเครื่องหมายทะเบียน เครื่องวิทยุคมนาคม 2 เครื่อง และแผ่นป้ายทะเบียน 2ฮ – 6673 กรุงเทพมหานคร ของกลาง ส่วนคำขอของโจทก์ที่ขอให้นับโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 213/2541 (คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1894/2544) เนื่องจากโจทก์ถอนฟ้องและศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีแล้ว ให้ยกคำขอโจทก์ในส่วนนี้ ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 จำคุกคนละ 5 ปี จำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 จำคุก 3 ปี 4 เดือน ข้อหาอื่นให้ยก นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 และ 157 แต่ฟ้องโจทก์มิได้ขอให้ลงโทษตามมาตรา 149 จึงพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 และลงโทษจำเลยที่ 3 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 นั้น เป็นฟ้องที่กล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 พนักงานสอบสวนต้องส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง การที่พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนคดีนี้แล้วทำความเห็นส่งสำนวนต่อพนักงานอัยการเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามตามข้อกล่าวหาดังกล่าว เห็นว่า ตามมาตรา 4 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ให้ความหมายคำว่า “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” รวมถึงข้าราชการด้วย จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ไม่ว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามที่โจทก์ฟ้องจะเป็นความผิดต้องด้วยบทเฉพาะตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัย หรือเป็นความผิดต้องด้วยบทเฉพาะตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 ดังโจทก์ฎีกา แต่ก็ถือได้ว่าฟ้องโจทก์เป็นการกล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งเป็นบททั่วไป และความผิดตามบทมาตราทั้งสามดังกล่าวบัญญัติไว้ในหมวด 2 ของประมวลกฎหมายอาญา ว่าด้วยความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับการกระทำของจำเลยทั้งสามในส่วนนี้จึงเป็นการกล่าวหาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 โดยจำเลยที่ 3 เป็นผู้สนับสนุนการกระทำดังกล่าว ซึ่งมาตรา 19 (3) 43 (4) และมาตรา 88 ของพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงเมื่อมีการกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐว่ากระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม แม้ต่อมาจะมีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 ยกเลิกความในมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และให้ใช้ข้อความใหม่แทน โดยมาตรา 19 (4) ที่แก้ไขใหม่ บัญญัติให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจหน้าที่ไต่สวนและวินิจฉัยว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่นซึ่งไม่ใช่บุคคลตาม (2) หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูงหรือข้าราชการซึ่งดำรงตำแหน่งตั้งแต่ผู้อำนวยการกองร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือความผิดที่เกี่ยวข้องกัน รวมทั้งดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือข้าราชการในระดับต่ำกว่าที่ร่วมกระทำความผิดกับผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว หรือกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือที่กระทำความผิดในลักษณะที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นสมควรดำเนินการด้วย และตามพระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2551 มาตรา 17 (4) บัญญัติให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ (คณะกรรมการ ป.ป.ท.) มีอำนาจหน้าที่ไต่สวนข้อเท็จจริงและชี้มูลเกี่ยวกับการกระทำทุจริตในภาครัฐของเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นผลให้การกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งไม่ได้เป็นข้าราชการที่ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองหรือสูงกว่าผู้อำนวยการกอง ไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. อีกต่อไป โดยอยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ท. ก็ตาม แต่อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และอำนาจสอบสวนของพนักงานสอบสวน รวมตลอดถึงอำนาจของพนักงานอัยการในการยื่นฟ้องคดี ย่อมเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น กรณีจึงต้องบังคับใช้ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ฉบับเดิม ทั้งนี้ตามมาตรา 4 ของพระราชบัญญัติดังกล่าว นอกจากผู้ถูกกล่าวหาจะหมายถึงผู้ซึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทำการอันเป็นมูลที่นำไปสู่การดำเนินคดีอาญาแล้ว ยังหมายความรวมถึงตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุนการกระทำดังกล่าวด้วย โดยมาตรา 89 กำหนดให้พนักงานสอบสวนปฏิบัติในกรณีที่ผู้เสียหายได้ร้องทุกข์หรือมีผู้กล่าวโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมิใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่กฎหมายกำหนดต่อพนักงานสอบสวนอันเนื่องมาจากได้กระทำการตามมาตรา 88 ว่า ให้พนักงานสอบสวนส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีการร้องทุกข์หรือกล่าวโทษ และมาตรา 91 กำหนดว่า เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนข้อเท็จจริงแล้วมีมติว่าข้อกล่าวหาใดไม่มีมูลให้ข้อกล่าวหานั้นเป็นอันตกไป ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่าข้อกล่าวหาใดมีมูลความผิดทางอาญาให้ดำเนินการตามมาตรา 97 กล่าวคือ ให้ประธานกรรมการ ป.ป.ช. ส่งรายงาน เอกสาร และความเห็นไปยังอัยการสูงสุด หรือฟ้องคดีต่อศาลกรณีผู้ถูกกล่าวหาเป็นอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี โดยให้ถือว่ารายงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นสำนวนการสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวข้างต้นแสดงโดยชัดแจ้งว่า กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่โดยเฉพาะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีมีการกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐว่ากระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม รวมถึงตัวการ ผู้ใช้ และผู้สนับสนุนการกระทำดังกล่าว แทนการให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาดังเช่นคดีอาญาอื่น ๆ การที่พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนในข้อหาความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการจึงเป็นการสอบสวนโดยไม่ชอบ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามในความผิดตามข้อกล่าวหาดังกล่าว ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยทั้งสามจะมิได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้มาในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 จำเลยทั้งสามก็สามารถยกขึ้นฎีกาได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 เมื่อวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องดังกล่าวแล้ว ศาลฎีกาต้องยกฟ้องโจทก์ในความผิดตามข้อหาดังกล่าว ฎีกาของโจทก์ข้อที่ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฐานเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 จึงเป็นอันตกไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสามนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสามข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 จำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 วรรคแรก ประกอบมาตรา 86 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 จำคุกคนละ 3 ปี ลงโทษจำเลยที่ 3 ฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานกรรโชก จำคุก 2 ปี ฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรและโดยไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 72 ทวิ วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน รวมลงโทษจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 3 ปี 6 เดือน ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 กับยกฟ้องจำเลยที่ 3 ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share