คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15363/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กรณีหนี้จำนองมีจำนวนน้อยกว่าหนี้ประธาน หากเอาทรัพย์จำนองหลุดและทรัพย์สินนั้นมีราคาต่ำกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระ หรือถ้าเอาทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดใช้หนี้ ได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระ เงินยังขาดอยู่เท่าใดลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดในเงินที่ขาดนั้น แต่ในส่วนที่เกินกว่าวงเงินจำนอง ลูกหนี้ต้องรับผิดชำระหนี้ประธานต่อเจ้าหนี้จนครบจำนวนต่อไป ตามหนังสือสัญญาจำนองที่ดินระหว่างจำเลยที่ 5 กับโจทก์ จำเลยที่ 5 ตกลงจำนองที่ดินแก่โจทก์เพื่อเป็นประกันการผ่อนชำระหนี้ค่าภาษีอากร 593,750 บาท จากหนี้ค่าภาษีอากรซึ่งเป็นหนี้ประธาน 1,255,291.40 บาท โดยไม่มีข้อตกลงยกเว้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 733 ถ้านำที่ดินของจำเลยที่ 5 ขายทอดตลาดแล้วได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่า 593,750 บาท เงินยังขาดจากจำนวน 593,750 บาท อยู่เท่าใด จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ไม่ต้องรับผิดในส่วนของจำนวนเงินตามสัญญาจำนองที่ยังขาดอยู่ แต่หากนำที่ดินของจำเลยที่ 5 ดังกล่าวออกขายทอดตลาดแล้วได้เงินจำนวนสุทธิมากกว่า 593,750 บาท เงินส่วนที่เกินจากจำนวน 593,750 บาท โจทก์ต้องคืนให้แก่จำเลยที่ 5 เนื่องจากเกินวงเงินจำนองที่จำเลยที่ 5 มีเจตนาทำสัญญาจำนองที่ดินเพื่อเป็นประกันหนี้ค่าภาษีอากรของจำเลยที่ 1 สำหรับจำนวนหนี้ค่าภาษีอากรที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระแก่โจทก์ในส่วนที่เกินจำนวน 593,750 บาท ตามที่กำหนดไว้ในหนังสือสัญญาจำนองที่ดินซึ่งเป็นหนี้ประธานนั้น จำเลยที่ 1 ยังต้องรับผิดต่อโจทก์ในหนี้ค่าภาษีอากรค้างส่วนที่เกินจากวงเงินจำนองจนครบถ้วนต่อไป ดังนั้น จำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการและจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ในฐานะผู้ค้ำประกัน จึงต้องรับผิดในหนี้ค่าภาษีอากรค้างของจำเลยที่ 1 เพราะเป็นความรับผิดต่างหากจากสัญญาจำนองในหนี้ค่าภาษีอากรที่เกินจากวงเงินจำนองจนครบถ้วนต่อไปด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงินค่าภาษีอากรค้างชำระ 1,584,932.35 บาท หากจำเลยทั้งห้าไม่ชำระค่าภาษีอากรค้างชำระดังกล่าว ขอศาลได้สั่งยึดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 5 จำนวน 2 แปลง ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 3 และที่ 5 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระภาษีอากรค้าง 1,584,932.35 บาท แก่โจทก์ หากจำเลยทั้งห้าไม่ชำระ ให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินไปชำระหนี้แก่โจทก์ หากขายทอดตลาดได้เงินไม่พอชำระหนี้ จำเลยทั้งห้าไม่ต้องรับผิดในส่วนที่ขาด ให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า หากขายทอดตลาดที่ดินที่จำเลยที่ 5 นำมาจำนองเป็นประกันการชำระภาษีอากรค้างของจำเลยที่ 1 ได้เงินไม่พอชำระหนี้ จำเลยทั้งห้าต้องรับผิดในส่วนที่ขาดหรือไม่ ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า การที่โจทก์ในฐานะผู้รับจำนองใช้สิทธิบังคับจำนองที่ดินทั้งสองแปลงที่จำเลยที่ 5 นำมาจำนองเป็นประกันการชำระภาษีอากรค้างของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ ตามสัญญาจำนอง หากได้เงินสุทธิมากกว่า 593,750 บาท โจทก์มีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ตามสัญญาจำนองเพียง 593,750 บาท หรือหากได้เงินสุทธิน้อยกว่า 593,750 บาท จำเลยที่ 5 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ในจำนวน 593,750 บาท ตามสัญญาจำนองเช่นเดียวกัน ส่วนที่ขาดจำนวนจาก 593,750 บาท จำเลยที่ 1 และที่ 5 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาจำนอง สำหรับหนี้ภาษีอากรที่จำเลยที่ 1 ยังคงค้างชำระต่อโจทก์ซึ่งเกินจากหนี้จำนอง 593,750 บาท ไม่ระงับสิ้นไป หากจำเลยทั้งห้าไม่ชำระหนี้และโจทก์ใช้สิทธิบังคับจำนองที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวขายทอดตลาด หนี้ภาษีอากรที่ค้างชำระส่วนที่เกินจากสัญญาจำนอง 991,182.35 บาท จำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดและหุ้นส่วนผู้จัดการต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ตามกฎหมายจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ในฐานะผู้ค้ำประกันตามสัญญาค้ำประกันการผ่อนชำระหนี้ภาษีอากรค้างจึงต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ในหนี้ภาษีอากรที่ยังค้างชำระ 991,182.35 บาท นั้น ปัญหานี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 733 บัญญัติว่า ถ้าเอาทรัพย์จำนองหลุดและราคาทรัพย์สินนั้นมีประมาณต่ำกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกันอยู่ก็ดี หรือถ้าเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองออกขายทอดตลาดใช้หนี้ ได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกันอยู่นั้นก็ดีเงินยังขาดจำนวนอยู่เท่าใด ลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดในเงินนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นว่า ในกรณีที่หนี้จำนองมีจำนวนน้อยกว่าหนี้ประธาน หากเอาทรัพย์จำนองหลุดและราคาทรัพย์สินนั้นมีราคาต่ำกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกันอยู่ หรือถ้าเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองออกขายทอดตลาดใช้หนี้ ได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกันอยู่ เงินยังขาดอยู่เท่าใดลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดในเงินที่ขาดนั้น แต่ในส่วนที่เกินกว่าวงเงินจำนอง ลูกหนี้ต้องรับผิดชำระหนี้ประธานต่อเจ้าหนี้จนครบจำนวนต่อไป เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏตามหนังสือสัญญาจำนองที่ดินระหว่างจำเลยที่ 5 กับโจทก์ จำเลยที่ 5 ตกลงจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 54077 และ 54078 ตำบลเมืองศรีไค อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี แก่โจทก์ โดยไม่มีข้อตกลงยกเว้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 733 แต่ตามหนังสือสัญญาจำนองที่ดินดังกล่าวระบุว่า จำเลยที่ 5 ตกลงจำนองที่ดินตามสัญญาจำนองแก่โจทก์เพื่อเป็นประกันการผ่อนชำระหนี้ค่าภาษีอากรเป็นจำนวนเงินเพียง 593,750 บาท ซึ่งมีจำนวนน้อยกว่าหนี้ค่าภาษีอากรซึ่งเป็นหนี้ประธานที่มีจำนวน 1,245,291.40 บาท การทำหนังสือสัญญาจำนองที่ดินดังกล่าวย่อมแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ในฐานะลูกหนี้ค่าภาษีอากรได้แสดงเจตนาขอผ่อนชำระหนี้ค่าภาษีอากรที่ค้างชำระให้แก่โจทก์จนครบจำนวน โดยมีจำเลยที่ 5 เป็นผู้จำนองที่ดินเพื่อเป็นหลักประกันการชำระหนี้ค่าภาษีอากรที่ค้างชำระเพียง 593,750 บาท ดังนั้น ถ้านำที่ดินของจำเลยที่ 5 ดังกล่าวออกขายทอดตลาดแล้วได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่า 593,750 บาท ตามที่กำหนดไว้ในหนังสือสัญญาจำนองที่ดิน เงินยังขาดจากจำนวน593,750 บาท อยู่เท่าใด จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ไม่ต้องรับผิดในส่วนของจำนวนเงินตามสัญญาจำนองที่ยังขาดอยู่ แต่หากนำที่ดินของจำเลยที่ 5 ดังกล่าวออกขายทอดตลาดแล้วได้เงินจำนวนสุทธิมากกว่า 593,750 บาท ตามที่กำหนดไว้ในหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเงินส่วนที่เกินจากจำนวน 593,750 บาท โจทก์ต้องคืนให้แก่จำเลยที่ 5 เนื่องจากเกินวงเงินจำนองที่จำเลยที่ 5 มีเจตนาทำสัญญาจำนองที่ดินเพื่อเป็นประกันหนี้ค่าภาษีอากรของจำเลยที่ 1 สำหรับจำนวนหนี้ค่าภาษีอากรที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระแก่โจทก์ในส่วนที่เกินจากจำนวน 593,750 บาท ตามที่กำหนดไว้ในหนังสือสัญญาจำนองที่ดินซึ่งเป็นหนี้ประธานนั้นจำเลยที่ 1 ยังต้องรับผิดต่อโจทก์ในหนี้ค่าภาษีอากรค้างส่วนที่เกินจากวงเงินจำนองจนครบถ้วนต่อไป เมื่อวินิจฉัยเช่นนี้ จำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ในฐานะผู้ค้ำประกัน จึงต้องรับผิดในหนี้ค่าภาษีอากรค้างของจำเลยที่ 1 เพราะเป็นความรับผิดต่างหากจากสัญญาจำนองดังกล่าวในหนี้ค่าภาษีอากรที่เกินจากวงเงินจำนองต่อโจทก์จนครบถ้วนต่อไปด้วย ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่า หากโจทก์เลือกบังคับชำระหนี้แก่ทรัพย์จำนอง หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ จำเลยที่ 1 ย่อมไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ในส่วนที่ขาดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 733 ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3535/2550 ระหว่างกรมสรรพากรโจทก์ กับบริษัทพิษณุโลกอาเขต กับพวก จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันย่อมไม่ต้องรับผิดในหนี้ส่วนที่ขาดด้วยเช่นกัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 698 นั้น เนื่องจากข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาฎีกาดังกล่าวไม่ตรงกับคดีนี้ ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า หากจำเลยทั้งห้าไม่ชำระค่าภาษีอากรค้างดังกล่าวให้ยึดโฉนดที่ดินเลขที่ 54077 และ 54078 ตำบลเมืองศรีไค อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ของจำเลยที่ 5 ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ค่าภาษีอากรค้างเพียง 593,750 บาท แต่หากขายทอดตลาดได้เงินไม่ถึงจำนวนดังกล่าว จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ไม่ต้องรับผิดในส่วนของจำนวนเงินที่ยังขาดอยู่จากจำนวน 593,750 บาท แต่สำหรับค่าภาษีอากรค้างที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระแก่โจทก์ในส่วนที่เกินจากจำนวน 593,750 บาท จำเลยทั้งห้ายังต้องรับผิดต่อโจทก์จนครบถ้วนต่อไป นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

Share