คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14174/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องเพิกถอนนิติกรรมระหว่าง อ. กับจำเลย โดยยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า โจทก์เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของ ก. และ อ. ที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสของบิดามารดาโจทก์ เมื่อ ก. บิดาของโจทก์ถึงแก่ความตายที่ดินพิพาทจึงเป็นมรดกตกทอดมายังโจทก์ในฐานะทายาทโดยธรรมของ ก. ด้วย แต่ อ. มารดาโจทก์กลับจดทะเบียนยกที่ดินทั้งแปลงให้แก่จำเลยโดยเสน่หา โดยโจทก์มิได้รู้เห็นยินยอม จำเลยให้การต่อสู้ว่าโจทก์ไม่ใช่บุตรชอบด้วยกฎหมายของ ก. และ อ. จึงไม่มีอำนาจฟ้องและคดีโจทก์ขาดอายุความมรดกแล้ว คดีจึงมีประเด็นพิพาทว่า โจทก์เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของ ก. และเป็นทายาทโดยธรรมมีสิทธิรับมรดกในที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของ ก. หรือไม่ จึงเป็นการฟ้องคดีมรดกตกอยู่ในบังคับแห่งอายุความมรดกซึ่งห้ามมิให้ฟ้องคดีมรดก เมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย หรือนับแต่เมื่อทายาทโดยธรรมได้รู้หรือควรรู้ถึงความตายของเจ้ามรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง อีกทั้งยังอยู่ในบังคับแห่ง มาตรา 1754 วรรคสี่ ที่บัญญัติว่า “ถึงอย่างไรก็ดี สิทธิเรียกร้องตามที่ว่ามาในวรรคก่อน ๆ นั้น มิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดสิบปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย” แม้ตามคำฟ้องจะไม่ปรากฏว่า ก. ถึงแก่ความตายเมื่อใด แต่ตามคำฟ้องระบุว่า ก. ถึงแก่ความตายก่อนวันที่ 15 มีนาคม 2517 ที่ อ. ยื่นคำร้องขอรังวัดออกโฉนดที่ดินพิพาท เมื่อคำนวณนับถึงวันฟ้องวันที่ 5 เมษายน 2550 พ้นกำหนดสิบปี นับแต่ ก. ถึงแก่ความตายแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสี่ แม้จำเลยจะมิใช่ทายาทหรือผู้จัดการมรดกของ ก. ก็ตาม แต่ อ. ผู้โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยเป็นคู่สมรสซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของ ก. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1635 จำเลยจึงเป็นบุคคลซึ่งชอบที่จะใช้สิทธิของ อ. ทายาทโดยธรรมของ ก. ยกอายุความขึ้นต่อสู้โจทก์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1755

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้พิพากษาเพิกถอนการจดทะเบียนการยกให้ที่ดินแปลงดังกล่าวระหว่างนางเอื้อนกับจำเลยและขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงดังกล่าวแก่โจทก์ครึ่งหนึ่งหรือจำนวนเนื้อที่ 1,190.5 ตารางวา หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย หากโอนไม่ได้ให้จำเลยชดใช้เงิน 6,000,000 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 3,000,000 บาท แก่โจทก์ และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 8 โจทก์ถึงแก่ความตาย นายวิธาน บุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลอุทธรณ์ภาค 8 มีคำสั่งอนุญาต
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความทั้งสองชั้นศาลรวม 6,000 บาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 รับฟังมาซึ่งโจทก์มิได้ฎีกาโต้เถียงเป็นอย่างอื่นรับฟังเป็นยุติว่า เดิมที่ดินพิพาทตามแบบแจ้งการครอบครองเลขที่ 33 หมู่ที่ 4 ตำบลเทพกษัตรีย์ อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต เป็นสินสมรสของนายแก้วและนางเอื้อน ซึ่งอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยากันก่อนวันที่ 1 ตุลาคม 2478 ที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ว่าด้วยครอบครัวจะมีผลใช้บังคับ หลังจากนายแก้วถึงแก่ความตายแล้ว ต่อมานางเอื้อนยื่นคำขอรังวัดออกโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นโฉนดเลขที่ 2651 ตำบลเทพกษัตรีย์ (บ้านดอน) อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ครั้นวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2532 นางเอื้อนจดทะเบียนยกที่ดินแปลงนี้ให้แก่จำเลยโดยเสน่หา ต่อมานางเอื้อนถึงแก่ความตาย และโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2550
มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความมรดกแล้วหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องจำเลยโดยสภาพแห่งข้อหาเพิกถอนนิติกรรม โดยยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่าโจทก์เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายแก้วและนางเอื้อน ที่ดินพิพาทซึ่งเดิมเป็นที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองซึ่งต่อมาได้ออกเป็นโฉนดเลขที่ 2651 ตำบลเทพกษัตรีย์ (บ้านดอน) อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต เป็นสินสมรสของนายแก้วและนางเอื้อน บิดามารดาโจทก์ เมื่อนายแก้วบิดาของโจทก์ถึงแก่ความตาย ที่ดินพิพาทจึงเป็นมรดกตกทอดมายังโจทก์ในฐานะทายาทโดยธรรมของนายแก้วด้วย แต่นางเอื้อนมารดาของโจทก์กลับจดทะเบียนยกที่ดินทั้งแปลงให้แก่จำเลยโดยเสน่หาโดยโจทก์มิได้รู้เห็นยินยอม ขอให้พิพากษาเพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทระหว่างนางเอื้อนกับจำเลยและให้จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่ง มิฉะนั้น ให้จำเลยชดใช้เงิน 6,000,000 บาท ให้แก่โจทก์ จำเลยให้การต่อสู้ว่าโจทก์ไม่ใช่บุตรชอบด้วยกฎหมายของนายแก้วและนางเอื้อน จึงไม่มีอำนาจฟ้องและคดีโจทก์ขาดอายุความมรดกแล้ว คดีจึงมีประเด็นพิพาทว่า โจทก์เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายและเป็นทายาทโดยธรรมมีสิทธิรับมรดกในที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของนายแก้วหรือไม่ จึงเป็นการฟ้องคดีมรดกที่ตกอยู่ในบังคับแห่งอายุความมรดกซึ่งห้ามมิให้ฟ้องคดีมรดก เมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย หรือนับแต่เมื่อทายาทโดยธรรมได้รู้หรือควรรู้ถึงความตายของเจ้ามรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง อีกทั้งยังอยู่ในบังคับแห่งมาตรา 1754 วรรคสี่ ที่บัญญัติด้วยว่า “ถึงอย่างไรก็ดี สิทธิเรียกร้องตามที่ว่ามาในวรรคก่อน ๆ นั้น มิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดสิบปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย” แม้ตามคำฟ้องจะไม่ปรากฏว่านายแก้วบิดาโจทก์เจ้ามรดกถึงแก่ความตายเมื่อใดก็ตาม แต่คำฟ้องระบุว่า นายแก้วถึงแก่ความตายก่อนวันที่ 15 มีนาคม 2517 ที่นางเอื้อนมารดาโจทก์ยื่นคำขอรังวัดออกโฉนดที่ดินพิพาท ซึ่งเมื่อคำนวณนับถึงวันฟ้องวันที่ 5 เมษายน 2550 พ้นกำหนดสิบปี นับแต่นายแก้วเจ้ามรดกถึงแก่ความตายแล้ว คดีของโจทก์จึงขาดอายุความตามมาตรา 1754 วรรคสี่ ดังกล่าวข้างต้น และแม้จำเลยจะมิใช่ทายาทหรือผู้จัดการมรดกของนายแก้วเจ้ามรดกก็ตาม แต่นางเอื้อนเป็นภริยาชอบด้วยกฎหมายของนายแก้ว เป็นคู่สมรสซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของนายแก้วเจ้ามรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1635 เมื่อนางเอื้อนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยโดยเสน่หา จำเลยจึงเป็นบุคคลซึ่งชอบที่จะใช้สิทธิของนางเอื้อนทายาทโดยธรรมของนายแก้ว ยกอายุความขึ้นต่อสู้โจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1755 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นให้ยกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share