คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20799/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาโอนสิทธิเรียกร้องเงินฝากเป็นประกันทั้งสองสัญญามีข้อตกลงโอนสิทธิเรียกร้องเงินตามบัญชีเงินฝากออมทรัพย์สองบัญชี ให้แก่ผู้คัดค้านเป็นผู้รับโอนโดยเฉพาะเจาะจงและผู้คัดค้านได้บอกกล่าวการโอนไปยังบริษัท บ. และ ฟ. ซึ่งเป็นลูกหนี้ของจำเลยตามสัญญาจ้างแล้ว การโอนสิทธิเรียกร้องจึงมีผลครบถ้วนสมบูรณ์ที่จะยกขึ้นต่อสู้ลูกหนี้หรือบุคคลภายนอกได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 306 วรรคหนึ่ง แต่การโอนสิทธิเรียกร้องของผู้คัดค้านที่รับโอนสิทธิมาก็เพื่อเป็นประกันหนี้สินของจำเลยที่มีต่อผู้คัดค้านเท่านั้น และในระหว่างที่เป็นประกันหนี้ของจำเลยหากจำเลยไม่ผิดสัญญาที่มีต่อผู้คัดค้าน ผู้คัดค้านก็ยังไม่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องที่รับโอนเงินดังกล่าว และเงินจำนวนดังกล่าวยังอยู่ในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของจำเลยทั้งสองบัญชี กรณีจึงเป็นเรื่องที่ผู้คัดค้านยังไม่ได้บังคับตามสิทธิเรียกร้อง แต่ได้ถูกโจทก์ซึ่งเป็นผู้ใช้สิทธิเรียกร้องฟ้องคดีต่อศาลจนศาลมีคำพิพากษาแล้วทำการอายัดบังคับชำระหนี้ไปก่อนที่ผู้คัดค้านจะใช้สิทธิเรียกร้อง เมื่อผู้คัดค้านเป็นเพียงผู้มีสิทธิเรียกร้องโดยยังมิได้บังคับใช้สิทธิเรียกร้องจึงไม่อาจใช้ยันต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ทำการอายัดไปก่อนได้ ดังนี้ ผู้คัดค้านจึงไม่มีสิทธิได้รับคืนเงินที่กรมบังคับคดีอายัดไปจากบัญชีทั้งสอง และมีหน้าที่ต้องโอนเงินที่เหลือในบัญชีทั้งสองให้แก่กรมบังคับคดี

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 50,010,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยและค่าฤชาธรรมเนียมแก่โจทก์ แต่จำเลยไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์จึงขอหมายบังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินฝากของจำเลยที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน) สาขาราชวงศ์ 4 บัญชี คือ บัญชีเลขที่ 043 – 1 – 25497 – 4, 043 – 0 – 13003 – 1, 043 – 1 – 24852 – 4 และ 043 – 1 – 25682 – 9 และให้ส่งเงินที่อายัดให้แก่กรมบังคับคดี ผู้ถูกอายัดส่งเงินที่อายัดบางส่วน โจทก์จึงขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือขอให้ศาลเรียกผู้ถูกอายัดมาไต่สวน
ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้าน ขอให้มีคำสั่งคืนเงินดังกล่าวแก่ผู้คัดค้านด้วย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้คัดค้านโอนเงินจากบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์ เลขที่ 043 – 0 – 13003 – 1 และ 043 – 1 – 25497 – 4 จำนวนเงิน 8,001,392.76 บาท และ 600,570 บาท ตามลำดับ ที่อายัดไว้ให้แก่กรมบังคับคดีภายใน 30 วัน ยกคำร้องคัดค้าน ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้เพิกถอนคำสั่งอายัดสิทธิเรียกร้องในบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์เลขที่ 043 – 0- 13003 – 1 และ 043 – 1 – 25497 – 4 ของผู้คัดค้าน สาขาราชวงศ์ และให้กรมบังคับคดีส่งเงินจำนวน 387,085.48 บาท และ2,672,333.69 บาท ที่อายัดไปคืนให้แก่ผู้คัดค้านภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ฟังหรือถือว่าได้ฟังคำพิพากษาฉบับนี้ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2550 เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ทำการอายัดเงินฝากของจำเลยที่มีต่อผู้คัดค้าน สาขาราชวงศ์ ซึ่งเป็นบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์ 4 บัญชี รวมเป็นเงิน 27,413,972 บาท ผู้คัดค้านนำส่งเงินตามบัญชีเลขที่ 043 – 1 – 24852 – 4 และ 043 – 1 – 25682 – 9 ส่วนบัญชีเงินฝากออมทรัพย์เลขที่ 043 – 0 – 13003 – 1 และ 043 – 1 – 25497 – 4 ส่งเงินมาเพียง 387,085.48 บาท และ 2,672,333.69 บาท ตามลำดับ คงมีเงินเหลือในบัญชีทั้งสองบัญชีจำนวน 8,001,392.76 บาท และ 600,570 บาท ตามลำดับ มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ผู้คัดค้านมีสิทธิได้รับคืนเงินที่กรมบังคับคดีอายัดไปจากบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์เลขที่ 043 – 0 – 13003 – 1 และ 043 – 1 – 25497 – 4 เป็นจำนวนเงิน 387,085.48 บาท และ 2,672,333.69 บาท ตามลำดับหรือไม่และผู้คัดค้านจะต้องโอนเงินที่เหลือในบัญชีทั้งสองอีกจำนวน 8,001,392.76 บาท และ 600,570 บาท ตามลำดับ ให้แก่กรมบังคับคดีตามที่มีคำสั่งอายัดหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่าสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องเงินฝากเป็นประกัน ระบุในข้อ 3 ว่า การโอนสิทธิเรียกร้องในสัญญาดังกล่าวเป็นการโอนเพื่อประกันหนี้สินทุกประเภทของผู้โอนที่มีต่อผู้รับโอน และจำเลยผู้โอนสิทธิเรียกร้องมีเจตนาให้ผู้คัดค้านถือเป็นหลักประกันจนกว่าผู้คัดค้านจะได้รับชำระหนี้ ผู้คัดค้านมิได้มีเจตนาใช้สิทธิเรียกร้องเงินฝากตามบัญชีดังกล่าวให้ตกเป็นของผู้คัดค้าน ไม่ปรากฏว่ามีการหักเงินหรือถอนเงินออกจากบัญชีที่ถูกอายัดแต่อย่างใด ข้อตกลงดังกล่าวจึงมีผลผูกพันระหว่างจำเลยและผู้คัดค้าน ไม่ถือว่าเป็นการโอนสิทธิเรียกร้องนั้น เห็นว่า แม้สัญญาโอนสิทธิเรียกร้องเงินฝากเป็นประกันทำขึ้นเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2548 และวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2550 ตามลำดับ ทั้งสองสัญญามีข้อตกลงโอนสิทธิเรียกร้องเงินตามบัญชีเงินฝากออมทรัพย์เลขที่ 043 – 0 – 13003 – 1 และ 043 – 1 – 25497 – 4 ให้แก่ผู้คัดค้านเป็นผู้รับโอนโดยเฉพาะเจาะจงและผู้คัดค้านได้บอกกล่าวการโอนไปยังบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ซึ่งเป็นลูกหนี้ของจำเลยตามสัญญาจ้างแล้ว ปรากฏตามหนังสือบอกกล่าว การโอนสิทธิเรียกร้องจึงมีผลครบถ้วนสมบูรณ์ที่จะยกขึ้นต่อสู้ลูกหนี้หรือบุคคลภาย นอกได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 306 วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่การโอนสิทธิเรียกร้องของผู้คัดค้านที่รับโอนสิทธิมาก็เพื่อเป็นประกันหนี้สินของจำเลยที่มีต่อผู้คัดค้านเท่านั้น และในระหว่างที่เป็นประกันหนี้ของจำเลยหากจำเลยไม่ผิดสัญญาที่มีต่อผู้คัดค้าน ผู้คัดค้านก็ยังไม่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องที่รับโอนเงินดังกล่าว และเงินจำนวนดังกล่าวยังอยู่ในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของจำเลยทั้งสองบัญชี กรณีจึงเป็นเรื่องที่ผู้คัดค้านยังไม่ได้บังคับตามสิทธิเรียกร้อง แต่ได้ถูกโจทก์ซึ่งเป็นผู้ใช้สิทธิเรียก ร้องฟ้องคดีต่อศาลจนศาลมีคำพิพากษาแล้วทำการอายัดบังคับชำระหนี้ไปก่อนที่ผู้คัดค้านจะใช้สิทธิเรียกร้อง เมื่อผู้คัดค้านเป็นเพียงผู้มีสิทธิเรียกร้องโดยยังมิได้บังคับใช้สิทธิเรียกร้อง จึงไม่อาจใช้ยันต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ทำการอายัดไปก่อนได้ ดังนี้ ผู้คัดค้านจึงไม่มีสิทธิได้รับคืนเงินที่กรมบังคับคดีอายัดไปจากบัญชีทั้งสอง และมีหน้าที่ต้องโอนเงินที่เหลือในบัญชีทั้งสองให้แก่กรมบังคับคดี ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share