คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6494/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างระหว่าง พ. กับจำเลยเป็นสัญญาต่างตอบแทน ทั้งสองฝ่ายต่างมีฐานะเป็นทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ กล่าวคือ พ. มีฐานะเป็นเจ้าหนี้ที่จะได้รับโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง จากจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ในการที่จะต้องโอนที่ดิน พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ พ. ในขณะเดียวกัน พ. ก็มีฐานะเป็นลูกหนี้ที่จะต้องชำระหนี้ค่าที่ดิน พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่จำเลยซึ่งเป็นเจ้าหนี้ในการที่จะ ได้รับชำระหนี้ค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจาก พ.แม้ว่า พ. จะสามารถโอนสิทธิเรียกร้องในฐานะ เจ้าหนี้ให้แก่บุคคลอื่นหรือโจทก์ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 306 วรรคแรก ได้ก็ตามแต่ พ.ก็ไม่อาจโอนหนี้ให้บุคคลอื่นหรือโจทก์ มาเป็นลูกหนี้แทนโดยเพียงแต่ทำเป็นหนังสือสัญญา ระหว่าง พ. กับบุคคลอื่นหรือโจทก์ เนื่องจากการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ถือเป็นการแปลงหนี้ใหม่ ซึ่งจะต้องมีการทำสัญญากันระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้คนใหม่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 350 เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ซึ่งเป็นลูกหนี้คนใหม่ได้ทำสัญญาใหม่กับจำเลยซึ่งเป็นเจ้าหนี้ หนี้ใหม่ยังไม่เกิดขึ้น โจทก์จึงไม่มีนิติสัมพันธ์กับจำเลย ไม่อาจฟ้องบังคับให้จำเลยส่งมอบที่ดินให้โจทก์ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองไปจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 5863 และ 10386 พร้อมสิ่งปลูกสร้างอาคารพาณิชย์ให้แก่โจทก์ โดยให้จำเลยทั้งสองรับชำระเงินจำนวน3,290,000 บาท ไปจากโจทก์ด้วย หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสองโดยให้โจทก์เป็นผู้ดำเนินการไปฝ่ายเดียว และหากจำเลยทั้งสองไม่สามารถจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวให้แก่โจทก์ได้ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินค่าเสียหายให้โจทก์เป็นเงิน 2,210,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยทั้งสองทำสัญญาจะขายที่ดินตามฟ้องให้แก่นายพจน์ นภาสิริบรรเจิด ในราคา 4,700,000 บาทแต่นายพจน์ผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญางวดแรกเป็นต้นมา คงชำระค่าที่ดินให้เป็นเงินเพียง 23,000 บาท เท่านั้น แล้วไม่ชำระให้อีกเลยแม้จะได้ทวงถาม จำเลยทั้งสองจึงบอกเลิกสัญญาโดยประกาศทางหนังสือพิมพ์ให้ทราบเนื่องจากนายพจน์ย้ายที่อยู่โจทก์ไม่เคยสอบถามจำเลยทั้งสองและจำเลยทั้งสองไม่เคยให้ความยินยอมเกี่ยวกับเรื่องการโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างโจทก์กับนายพจน์ จึงไม่อาจทราบได้ว่า นายพจน์ขายสิทธิตามสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวแก่โจทก์หรือไม่ จำเลยทั้งสองไม่มีนิติสัมพันธ์ใดกับโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้เบื้องต้นว่าเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2536 จำเลยทั้งสองทำสัญญาจะซื้อจะขายและใบจองอาคารพาณิชย์พร้อมที่ดินโฉนดเลขที่ 5863 และ 10386เอกสารหมาย ล.2 ให้แก่นายพจน์ นภาสิริบรรเจิด เป็นเงิน4,700,000 บาท วันที่ 27 มกราคม 2537 นายพจน์ขายสิทธิตามสัญญาจะซื้อจะขายและใบจองตามเอกสารหมาย ล.2 ให้แก่โจทก์เป็นเงิน 5,500,000 บาท โดยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมตึกแถวดังกล่าวตามเอกสารหมาย จ.3 กับโจทก์ ต่อมาวันที่15 กุมภาพันธ์ 2537 โจทก์มีหนังสือแจ้งเรื่องการรับโอนสิทธิดังกล่าวให้จำเลยทั้งสองทราบและให้จำเลยทั้งสองแจ้งยอดหนี้ที่นายพจน์ค้างชำระอยู่ให้โจทก์ทราบด้วย จำเลยทั้งสองโต้แย้งและไม่ปฏิบัติตาม
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การที่นายพจน์ผู้จะซื้อโอนสิทธิตามสัญญาจะซื้อจะขายและใบจองที่ทำไว้กับจำเลยทั้งสองตามเอกสารหมาย ล.2 ให้แก่โจทก์และโจทก์ได้แจ้งการโอนสิทธิให้จำเลยทั้งสองทราบแล้วมีผลผูกพันให้จำเลยทั้งสองต้องปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายนั้นหรือไม่ เห็นว่าสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างระหว่างนายพจน์กับจำเลยทั้งสองเป็นสัญญาต่างตอบแทน ทั้งสองฝ่ายต่างมีฐานะเป็นทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ กล่าวคือ นายพจน์มีฐานะเป็นเจ้าหนี้ที่จะได้รับโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจากจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นลูกหนี้ในการที่จะต้องโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่นายพจน์ ในขณะเดียวกันนายพจน์ก็มีฐานะเป็นลูกหนี้ที่จะต้องชำระหนี้ค่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าหนี้ในการที่จะได้รับชำระหนี้ค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจากนายพจน์ แม้ว่านายพจน์จะสามารถโอนสิทธิเรียกร้องในฐานะเจ้าหนี้ให้แก่บุคคลอื่นหรือโจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 306 วรรคแรกก็ตามแต่นายพจน์ไม่อาจโอนหนี้ให้บุคคลอื่นหรือโจทก์มาเป็นลูกหนี้แทนโดยเพียงแต่ทำเป็นหนังสือสัญญาระหว่างนายพจน์กับบุคคลอื่นหรือโจทก์ เนื่องจากการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ถือเป็นการแปลงหนี้ใหม่ซึ่งจะต้องมีการทำสัญญาระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้คนใหม่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 350 เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ซึ่งเป็นลูกหนี้คนใหม่ได้ทำสัญญาใหม่กับจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าหนี้ หนี้ใหม่จึงยังไม่เกิดขึ้น โจทก์จึงไม่มีนิติสัมพันธ์กับจำเลยทั้งสอง ไม่อาจฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสองส่งมอบที่ดินให้โจทก์ได้
พิพากษายืน

Share