คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 146/2514

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในวันนัดสืบพยานประเด็นโจทก์ ทนายจำเลยขอเลื่อน แต่ศาลที่รับประเด็นไม่อนุญาต และดำเนินการสืบพยานไปโดยทนายจำเลยไม่ได้ซักค้าน ดังนี้ แม้จะถือว่าศาลที่รับประเด็นมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการพิจารณา แต่การที่ศาลฎีกาจะมีคำสั่งให้มีการพิจารณาใหม่ทั้งหมดหรือบางส่วนหรือไม่ นั้นก็เป็นดุลพินิจของศาลฎีกา โดยคำนึงถึงเหตุอันสมควรเป็นเรื่อง ๆ ไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบริษัทจำกัด จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย โดยมีนายวิศิษฐ์ ศรีสมบูรณ์ นายสงวน นิธยานนท์ เป็นกรรมการร่วมคณะ และนายวิศิษฐ์ ศรีสมบูรณ์ เป็นกรรมการผู้จัดการด้วย กรรมการสองคนมีอำนาจลงชื่อแทนโจทก์ แต่ต้องประทับตราสำคัญของโจทก์ โจทก์ได้ดำเนินกิจการธนาคารพาณิชย์ที่จังหวัดจันทบุรี เรียกว่าธนาคารนครหลวงไทยจำกัด สาขาจังหวัดจันทบุรี โจทก์แต่งตั้งให้ขุนวงศาโรจน์เกษตรสารเป็นตัวแทนและมอบอำนาจให้ดำเนินกิจการธนาคารของโจทก์ จำเลยทั้งสามเป็นลูกจ้างปฏิบัติหน้าที่พนักงาน และเข้าพักอาศัยอยู่ในอาคารสำนักงานสาขาจันทบุรีของโจทก์ด้วย เมื่อขุนวงศาโรจน์ถึงแก่กรรมแล้ว โจทก์มอบให้จำเลยที่ ๑ ดำเนินกิจการต่อมา โจทก์บอกเลิกจ้างจำเลยทั้งสามตั้งแต่วันที่๑๔ มกราคม ๒๕๐๘ เป็นต้นไป และแจ้งให้จำเลยออกไปจากอาคารสำนักงานจำเลยขัดขืน ขอให้พิพากษาขับไล่จำเลยทั้งสาม จำเลยทั้งสามให้การไม่รับรองหนังสือของนายทะเบียนท้ายฟ้อง ไม่รับรองว่านายวิศิษฐ์และนายสงวนเป็นกรรมการและกรรมการผู้จัดการ ทั้งไม่มีสิทธิและอำนาจหน้าที่ลงลายมือชื่อเป็นโจทก์ฟ้อง ขุนวงศาโรจน์ ฯ บิดาของจำเลยที่ ๑,๒ ได้แต่งตั้งให้จำเลยที่ ๑ เป็นสมุหบัญชีจำเลยที่ ๒ เป็นผู้ช่วยสมุหบัญชี จำเลยที่ ๓ เป็นผู้รักษาเงินโดยได้รับอนุมัติจากโจทก์ ส่วนการเลิกจ้างจำเลยทั้งสามนั้น ตามสัญญาตั้งตัวแทน โจทก์จะต้องปรึกษาตัวแทนก่อน ครั้นขุนวงศาโรจน์ฯ ถึงแก่กรรมแล้ว โจทก์ได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยที่ ๑ เป็นตัวแทนของโจทก์และเป็นผู้จัดการด้วย รวมทั้งมีสิทธิอยู่อาศัยในสำนักงานจำเลยที่ ๒ เข้าอยู่อาศัยร่วมกับจำเลยที่ ๑ โดยได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ ๑ โจทก์ไม่มีสิทธิบอกเลิกจ้างจำเลยที่ ๑ เพราะยังไม่ได้ปรึกษาหารือจำเลยที่ ๑ ตามสัญญาแต่งตั้งตัวแทน จำเลยทั้งสามย่อมเข้าปฏิบัติหน้าที่ในสำนักงานของธนาคารแห่งนี้ได้ตลอดไป โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่
ในระหว่างพิจารณา เมื่อถึงวันนัดสืบพยานประเด็นโจทก์ ที่ศาลแพ่งทนายจำเลยมอบฉันทะให้เสมือนมายื่นคำร้องต่อศาลแพ่งขอเลื่อน อ้างว่าทนายจำเลยป่วย ศาลแพ่งไม่อนุญาต และดำเนินการสืบพยานประเด็นโจทก์ไปโดยทนายจำเลยไม่ได้ซักค้าน
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลย
จำเลยอุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์สั่งให้สืบพยานประเด็นโจทก์ ที่ศาลแพ่งได้สืบไปแล้วนั้นใหม่ หรือพิพากษายกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกาทำนองเดียวกับที่ได้อุทธรณ์
ศาลฎีกาเห็นว่า แม้จะถือว่าการที่ทนายจำเลยไม่ได้ซักค้านพยานโจทก์บางปาก เพราะศาลแพ่งไม่อนุญาตให้ทนายจำเลยเลื่อนคดีเป็นการที่ศาลแพ่งมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการพิจารณา แต่การที่ศาลฎีกาจะมีคำสั่งให้มีการพิจารณาใหม่ทั้งหมดหรือบางส่วนหรือไม่ ก็เป็นดุลพินิจของศาลฎีกาโดยคำนึงถึงเหตุอันควรเป็นเรื่อง ๆ ไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๓(๒) ประกอบด้วยมาตรา ๒๔๗ คดีนี้จำเลยให้การต่อสู้ว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง และจำเลยมีสิทธิอยู่ในอาคารโจทก์ได้โดยอาศัยสัญญามอบอำนาจให้จำเลยที่ ๑ เป็นตัวแทนตามสัญญา จ.๓ สำหรับเรื่องอำนาจฟ้องนั้น ตามหนังสือรับรองของนายทะเบียนอันเป็นเอกสารมหาชนซึ่งมีนายไกรพิชย์ สุวรรณชฏ นายทะเบียนบริษัทหุ้นส่วนเบิกความประกอบ ก็ปรากฏชัดว่านายวิศิษฐ์และนายสงวนเป็นกรรมการธนาคารโจทก์และกรรมการสองนายมีอำนาจลงชื่อแทนบริษัท แต่ต้องประทับตราสำคัญของบริษัท ซึ่งถ้าทนายจำเลยจะมีโอกาสซักค้านก็คงไม่มีอะไรนอกเหนือถึงกับจะลบล้างข้อความในหนังสือรับรองดังกล่าว อันจะทำให้เห็นว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องได้ ประกอบทั้งจำเลยก็มิได้ฎีกาเรื่องอำนาจฟ้องขึ้นมาโดยเฉพาะ ส่วนประเด็นที่ว่าจำเลยมีสิทธิอยู่ในอาคารโจทก์หรือไม่นั้น จำเลยอ้างว่า มีสิทธิอยู่โดยอาศัยสัญญาหมาย จ.๓ เป็นประการสำคัญ เมื่อจำเลยที่ ๑ รับว่าได้ทำสัญญานี้จริงและตามสัญญาก็มิได้ระบุว่าในการบอกเลิกสัญญาจะต้องปรึกษาหารือจำเลยที่ ๑ ก่อน ทั้งจำเลยก็รับว่าโจทก์ได้บอกเลิกจ้างจำเลยทั้งสามแล้วจริง ข้ออ้างของจำเลยฟังไม่ได้เห็นชัดแจ้งอยู่แล้ว ศาลฎีกาไม่เห็นสมควรที่จะให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่
พิพากษายืน

Share