แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยกับพวกร่วมกันยักยอกรถยนต์ของผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ให้เช่าซื้อ ขณะอยู่ในความครอบครองของผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อ เมื่อในขณะกระทำความผิดผู้เสียหายที่ 2 เป็นผู้มีสิทธิครอบครองใช้ประโยชน์รถยนต์ที่เช่าซื้อดังกล่าว การกระทำของจำเลยกับพวกย่อมทำให้ผู้เสียหายที่ 2 ได้รับความเสียหายโดยตรง แม้ผู้เสียหายที่ 2 จะไปแจ้งความร้องทุกข์ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากผู้เสียหายที่ 1 แต่ก็ถือว่าได้ร้องทุกข์ในฐานะที่ผู้เสียหายที่ 2 เป็นผู้เสียหายด้วยเช่นกัน ผู้เสียหายที่ 2 จึงเป็นผู้เสียหายในคดีนี้ และย่อมมีอำนาจในการถอนคำร้องทุกข์ เมื่อความผิดฐานยักยอกทรัพย์เป็นความผิดต่อส่วนตัวและคดียังไม่ถึงที่สุด ผู้เสียหายขอถอนคำร้องทุกข์เสียเมื่อใดก็ได้ เมื่อปรากฏว่าก่อนศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกา ผู้เสียหายที่ 2 ถอนคำร้องทุกข์ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352, 83 และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 486,300 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 1
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก, 83 จำคุก 4 เดือน คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
ก่อนศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกา ผู้เสียหายที่ 2 ยื่นคำร้องขอถอนคำร้องทุกข์ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เห็นว่า คดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยกับพวกร่วมกันยักยอกรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน บน 7972 พิษณุโลก ของธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) ผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ให้เช่าซื้อ ขณะอยู่ในความครอบครองของนางสำเนียง ผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อ เมื่อในขณะเกิดเหตุกระทำความผิดผู้เสียหายที่ 2 เป็นผู้มีสิทธิครอบครองใช้ประโยชน์รถที่เช่าซื้อดังกล่าว การกระทำของจำเลยกับพวกย่อมทำให้ผู้เสียหายที่ 2 ได้รับความเสียหายโดยตรง แม้ผู้เสียหายที่ 2 จะไปแจ้งความร้องทุกข์ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากผู้เสียหายที่ 1 แต่ก็ถือว่าได้ร้องทุกข์ในฐานะที่ผู้เสียหายที่ 2 เป็นผู้เสียหายด้วยเช่นกัน ผู้เสียหายที่ 2 จึงเป็นผู้เสียหายในคดีนี้และย่อมมีอำนาจในการถอนคำร้องทุกข์ เมื่อความผิดฐานยักยอกทรัพย์ตามฟ้องเป็นความผิดต่อส่วนตัวและคดียังไม่ถึงที่สุด ผู้เสียหายขอถอนคำร้องทุกข์เสียเมื่อใดก็ได้ เมื่อปรากฏว่าก่อนศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาผู้เสียหายที่ 2 ถอนคำร้องทุกข์ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2)
จึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ