คำวินิจฉัยที่ 85/2556

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

แม้จำเลยเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่โจทก์อ้างว่าโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของ ค. ซึ่งมีทรัพย์มรดกเป็นที่ดินตามใบจอง (น.ส. ๒ ก.) โจทก์ขอรังวัดออกโฉนดที่ดิน จำเลยพร้อมชาวบ้านได้คัดค้านการรังวัด บุกรุกขัดขวางและขับไล่ผู้รับจ้างของโจทก์ออกจากที่ดิน ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งห้ามจำเลยและบริวารเข้ายุ่งเกี่ยวกับที่ดิน ห้ามคัดค้านการออกโฉนดที่ดิน และให้ชดใช้ค่าเสียหาย จำเลยให้การว่า ที่พิพาทเป็นที่สาธารณะ (ป่าชุมชน) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน เห็นว่า การที่ศาลจะพิพากษาหรือมีคำสั่งตามคำขอได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่พิพาทเป็นที่ซึ่ง ค. เป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป กรณีจึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๘๕/๒๕๕๖

วันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๕๖

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลจังหวัดอุบลราชธานี
ระหว่าง
ศาลปกครองอุบลราชธานี

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดอุบลราชธานีโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดีและศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๕๔ นางรมย์ชัญลักษณ์ หมายสิน โจทก์ ยื่นฟ้อง นายสายันต์ สายแวว ในฐานะผู้ใหญ่บ้านและในฐานะส่วนตัว จำเลย ต่อศาลจังหวัดอุบลราชธานี เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๑๔๔๒/๒๕๕๔ ความว่า เมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๕๓ โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายคำมี สายสั้น ยื่นคำขอรังวัดเพื่อขอออกโฉนดที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดกของนายคำมี ตามใบจอง (น.ส. ๒ ก.) เลขที่ ๑๙๑ และเมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๕๔ เจ้าพนักงานที่ดินเข้าทำการรังวัด แต่จำเลยในฐานะผู้ใหญ่บ้านและในฐานะส่วนตัวพร้อมชาวบ้านโต้แย้งคัดค้านการรังวัด โดยอ้างว่าที่ดินดังกล่าวเป็นที่สาธารณะ (ป่าชุมชน) ต่อมาวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๕๔ โจทก์ว่าจ้างชาวบ้านนำรถไถเข้าปรับพื้นที่ที่ดินแปลงดังกล่าวเพื่อทำนาตามฤดูกาล แต่จำเลยกับชาวบ้านได้บุกรุกขัดขวางและขับไล่ผู้รับจ้างออกจากที่ดิน การกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิครอบครองที่ดินของโจทก์ ขอให้พิพากษาหรือ มีคำสั่งห้ามจำเลยและบริวารยุ่งเกี่ยวกับที่ดินพิพาทและห้ามจำเลยคัดค้านการออกโฉนดที่ดิน กับให้ชดใช้ค่าเสียหาย
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์และได้ดำเนินการไปตามอำนาจหน้าที่ ในการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน โจทก์จึงไม่มีสิทธิครอบครองและไม่สามารถเรียกค่าเสียหายได้ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง คดีอยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง จำเลยเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ปฎิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย โจทก์จึงต้องฟ้องหน่วยงานของรัฐ อีกทั้งโจทก์และนายคำมีไม่เคยเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า ตามคำฟ้องโจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีหน้าที่ตามกฎหมายกระทำการอันเป็นการรบกวนสิทธิครอบครองและโต้แย้งคัดค้านการรังวัดที่ดินของโจทก์ เป็นการกระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดอุบลราชธานีพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ยื่นคำขอให้รังวัดเพื่อออก โฉนดที่ดิน แต่จำเลยในฐานะผู้ใหญ่บ้านซึ่งเป็นเจ้าพนักงานคัดค้านการรังวัดอ้างว่าเป็นที่สาธารณประโยชน์ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินว่าเป็นของเอกชนหรือเป็นที่สาธารณประโยชน์ จึงต้องพิจารณาถึงสิทธิครอบครองและการใช้ประโยชน์ในที่ดินของคู่ความเป็นสำคัญ ซึ่งต้องเป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายที่ดินและประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ทั้งไม่มีประเด็นโต้แย้งเกี่ยวกับการออกคำสั่งหรือการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ของรัฐว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองอุบลราชธานีพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้เป็นเรื่องพิพาทกันว่าที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทพลเมืองใช้ร่วมกันหรือไม่ จำเลยในฐานะผู้ใหญ่บ้าน มีอำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ฉะนั้น การที่จำเลยคัดค้านการรังวัดที่ดินของโจทก์จึงเป็นการใช้อำนาจและปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด เมื่อโจทก์ฟ้องว่าการกระทำดังกล่าวทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และโดยที่จำเลยมิได้อยู่ในฐานะเจ้าของหรือผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่พิพาท คดีนี้จึงไม่ใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินระหว่างเอกชนด้วยกัน จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง สำหรับประเด็นที่ศาลจะต้องวินิจฉัยว่า ที่ดินเป็นของเอกชนหรือเป็นที่สาธารณประโยชน์ ซึ่งต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายที่ดินและประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ก็เป็นเพียงประเด็นปัญหาข้อเท็จจริงที่จะต้องพิจารณาในเนื้อหาของคดี และการพิจารณาปัญหาดังกล่าวนี้ก็มิใช่เกณฑ์การพิจารณาว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลใด อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติใดห้ามศาลปกครองมิให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้แม้จำเลยเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่ตามคำฟ้องโจทก์อ้างว่าโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายคำมี สายสั้น ซึ่งมีทรัพย์มรดกเป็นที่ดินตามใบจอง (น.ส. ๒ ก.) เลขที่ ๑๙๑ โจทก์ยื่นคำขอรังวัดเพื่อขอออกโฉนดที่ดินดังกล่าว แต่จำเลยพร้อมชาวบ้านได้คัดค้านการรังวัด และเมื่อโจทก์เข้าดำเนินการปรับพื้นที่ที่ดิน จำเลยและชาวบ้านยังเข้าบุกรุกขัดขวางและขับไล่ผู้รับจ้างของโจทก์ออกจากที่ดินดังกล่าว ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งห้ามจำเลยและบริวารเข้ายุ่งเกี่ยวกับที่ดิน ห้ามคัดค้านการออกโฉนดที่ดิน กับให้ชดใช้ค่าเสียหาย จำเลยให้การว่าที่พิพาทเป็นที่สาธารณะ (ป่าชุมชน) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน โจทก์ไม่สามารถเรียกค่าเสียหาย ทั้งโจทก์และนายคำมีไม่เคยเข้าทำประโยชน์ในที่พิพาท เห็นว่า การที่ศาลจะพิพากษาหรือมีคำสั่งตามคำขอได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่พิพาทเป็นที่ซึ่งนายคำมีเป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป คดีนี้จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนางรมย์ชัญลักษณ์ หมายสิน ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายคำมี สายสั้น โจทก์ นายสายันต์ สายแวว จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ไพโรจน์ วายุภาพ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายไพโรจน์ วายุภาพ) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท สุขสันต์ สิงหเดช (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(สุขสันต์ สิงหเดช) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share