แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การนำมูลหนี้ตามคำพิพากษามาฟ้องจำเลยเป็นคดีล้มละลายเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นโดยสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 193/32 ให้มีกำหนดอายุความ 10 ปี ในการนับอายุความนั้น มาตรา 193/12 บัญญัติว่า อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป คดีนี้ศาลมีคำพิพากษาตามยอมเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2542 กำหนดให้จำเลยผ่อนชำระหนี้เป็นงวด งวดที่ 1 ถึงงวดที่ 12 ตกลงผ่อนชำระงวดละไม่น้อยกว่า 20,000 บาท โดยเริ่มชำระงวดแรกในวันที่ 30 กรกฎาคม 2542 ปรากฏว่าจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามจำนวนที่กำหนดไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความตั้งแต่การชำระหนี้งวดแรกเช่นนี้การเริ่มนับอายุความจึงเริ่มนับแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2542 แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยได้ผ่อนชำระหนี้ให้แก่โจทก์หลายครั้ง โดยครั้งสุดท้ายได้ผ่อนชำระหนี้ให้แก่โจทก์ เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2545 ดังนั้น การที่จำเลยชำระหนี้ให้แก่โจทก์บางส่วนย่อมมีผลทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) เมื่ออายุความสะดุดหยุดลงแล้วระยะเวลาที่ล่วงพ้นไปก่อนนั้นย่อมไม่นับเข้ามาในอายุความตามมาตรา 193/15 การที่โจทก์นำมูลตามคำพิพากษาตามยอมมาฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีล้มละลายเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2552 จึงยังไม่ล่วงพ้นอายุความตามมาตรา 193/32 โจทก์จึงมีสิทธินำหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมดังกล่าวมาฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีล้มละลายได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลล้มละลายกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยทั้งสองเป็นหนี้โจทก์ในมูลหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมของศาลแพ่ง คดีหมายเลขแดงที่ 10281/2542 ซึ่งพิพากษาเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2542 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,836,968.27 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ของต้นเงิน 1,600,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 15 มีนาคม 2542) เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระหนี้แล้วเสร็จและยินยอมชำระค่าเบี้ยประกันภัยจำนวน 1,834 บาท ทุก 3 ปีต่อครั้ง นับแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2544 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ในการชำระหนี้เงินกู้จำเลยทั้งสองตกลงผ่อนชำระให้แก่โจทก์เป็นงวดรายเดือน โดยงวดที่ 1 ถึงที่ 12 ตกลงผ่อนชำระงวดละไม่น้อยกว่า 20,000 บาท งวดที่ 13 เป็นต้นไปไม่น้อยกว่า 32,450 บาท เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 30 กรกฎาคม 2542 และงวดต่อไปทุกวันที่ 30 ของเดือน โดยจะชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลา 15 ปี นับแต่วันทำสัญญา หากจำเลยทั้งสองผิดนัดชำระหนี้แก่โจทก์งวดใดงวดหนึ่งถือว่าผิดนัดชำระหนี้ทั้งหมดยอมให้โจทก์บังคับคดีหนี้ส่วนที่ค้างชำระโดยยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 25068 ตำบลทรายกองดิน อำเภอมีนบุรี กรุงเทพมหานคร ออกขายทอดตลาด หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้จนครบถ้วน กับจำเลยทั้งสองยินยอมชำระค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนที่ศาลไม่สั่งคืนแก่โจทก์และค่าทนายความเป็นเงิน 6,600 บาท ภายใน 30 วัน นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความตามคำพิพากษาตามยอมและสัญญาประนีประนอมยอมความ หลังจากศาลมีคำพิพากษาแล้ว จำเลยทั้งสองได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์หลายครั้งโดยชำระหนี้ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2545 คำนวณหนี้ถึงวันฟ้องจำเลยทั้งสองคงค้างชำระหนี้โจทก์ 3,212,295.92 บาท และโจทก์นำมูลหนี้ดังกล่าวมาฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีล้มละลายเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2552 คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการแรกว่า โจทก์มีสิทธินำมูลหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมในคดีแพ่งดังกล่าวมาฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีล้มละลายหรือไม่ เห็นว่า การนำมูลหนี้ตามคำพิพากษามาฟ้องจำเลยเป็นคดีล้มละลายเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นโดยสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/32 ให้มีกำหนดอายุความ 10 ปี ในการนับอายุความนั้น มาตรา 193/12 บัญญัติว่า อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป คดีนี้ศาลมีคำพิพากษาตามยอมเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2542 กำหนดให้จำเลยผ่อนชำระหนี้เป็นงวด งวดที่ 1 ถึงงวดที่ 12 ตกลงผ่อนชำระงวดละไม่น้อยกว่า 20,000 บาท โดยเริ่มชำระงวดแรกในวันที่ 30 กรกฎาคม 2542 ปรากฏว่าจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามจำนวนที่กำหนดไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความตั้งแต่การชำระหนี้งวดแรกเช่นนี้การเริ่มนับอายุความจึงเริ่มนับแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2542 แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยได้ผ่อนชำระหนี้ให้แก่โจทก์หลายครั้ง โดยครั้งสุดท้ายได้ผ่อนชำระหนี้ให้แก่โจทก์เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2545 ดังนั้น การที่จำเลยชำระหนี้ให้แก่โจทก์บางส่วนย่อมมีผลทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 (1) เมื่ออายุความสะดุดหยุดลงแล้วระยะเวลาที่ล่วงพ้นไปก่อนนั้นย่อมไม่นับเข้ามาในอายุความตามมาตรา 193/15 การที่โจทก์นำมูลตามคำพิพากษาตามยอมมาฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีล้มละลายเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2552 จึงยังไม่ล่วงพ้นอายุความตามมาตรา 193/32 โจทก์จึงมีสิทธินำหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมดังกล่าวมาฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีล้มละลายได้
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า จำเลยทั้งสองมีหนี้สินล้นพ้นตัวและมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยทั้งสองล้มละลายหรือไม่ ปัญหาดังกล่าวแม้ว่าศาลล้มละลายกลางยังไม่ได้วินิจฉัยแต่ เห็นว่า การพิจารณาคดีล้มละลายนั้นจะต้องดำเนินการเป็นการด่วน ประกอบกับศาลล้มละลายกลางได้ดำเนินการสืบพยานเสร็จเรียบร้อยแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยคดีไปเสียทีเดียว เมื่อพิจารณาแล้วข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยทั้งสองถูกยึดทรัพย์ตามหมายบังคับคดี กรณีจึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 8 (5) ว่า จำเลยทั้งสองมีหนี้สินล้นพ้นตัว จำเลยทั้งสองมีหน้าที่นำพยานหลักฐานมาสืบหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าว ซึ่งจำเลยทั้งสองให้การแต่เพียงว่าจำเลยทั้งสองมีทรัพย์เพียงพอชำระหนี้ โดยไม่ได้ระบุว่ามีทรัพย์สินอะไรบ้าง ส่วนในชั้นสืบพยานจำเลยทั้งสองก็ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองมีทรัพย์สินอะไรบ้าง พยานหลักฐานของจำเลยทั้งสองจึงไม่อาจหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองมีหนี้สินล้นพ้นตัว ทั้งเมื่อพิจารณาจำนวนหนี้ที่จำเลยทั้งสองชำระให้แก่โจทก์ก็เป็นเพียงจำนวนเล็กน้อยเมื่อเทียบกับหนี้ที่ยังค้างชำระอยู่ กรณีจึงยังไม่อาจถือว่ามีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยทั้งสองล้มละลาย ที่ศาลล้มละลายกลางพิพากษายกฟ้องมานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
พิพากษากลับ ให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14 ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์โดยหักจากกองทรัพย์สินของจำเลยทั้งสอง เฉพาะค่าทนายความให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดตามที่เห็นสมควร