แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การกระทำความผิดฐานยักยอกตามมาตรา 354 จะต้องได้ความว่า ผู้กระทำผิดได้กระทำในฐานเป็นผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยเป็นผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชนมาด้วย เป็นเพียงประโยคประกอบซึ่งโจทก์ขยายความออกไปตามความเข้าใจของโจทก์ ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงหรือรายละเอียดว่า จำเลยกระทำในฐานเป็นผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชนอย่างไร การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 354 แม้จำเลยมิได้ฎีกาในปัญหาข้อนี้ แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขให้ถูกต้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352, 353, 354, 83 และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืน จำนวน 2,834,931.72 บาท แก่ผู้เสียหายด้วย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา บริษัททรายทองสินธานี จำกัด ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352, 353, 354 เป็นการกระทำผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ข้อหาตามคำฟ้อง ข้อ ค. เป็นความผิดตามมาตรา 354 ประกอบมาตรา 352 จำคุก 2 ปี ข้อหาตามคำฟ้อง ข้อ ง. เป็นความผิดตามมาตรา 354 ประกอบมาตรา 352 จำคุก 2 ปี ข้อหาตามคำฟ้อง ข้อ จ. เป็นความผิดตามมาตรา 354 ประกอบมาตรา 353 จำคุก 6 เดือน ข้อหาตามคำฟ้อง ข้อ ฉ. เป็นความผิดตามมาตรา 354 ประกอบมาตรา 352 จำคุก 1 ปี รวมลงโทษจำเลย 4 กระทง จำคุก 5 ปี 6 เดือน ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์เฉพาะข้อหาที่ศาลลงโทษ แต่ข้อหาตามคำฟ้องข้อ ฉ. โจทก์บรรยายฟ้องไว้ในข้อ จ. แล้วว่าได้รับเงินคืนจากจำเลยแล้ว จึงคงให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ส่วนที่เหลือ รวมจำนวน 518,599.86 บาท ยกฟ้องคำฟ้อง ข้อ ก. ข้อ ข. และข้อ ช. คำขอให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์สำหรับคำฟ้องข้อดังกล่าวให้ยก
โจทก์ โจทก์ร่วม และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก, 353 ประกอบมาตรา 354 ตามคำฟ้อง ข้อ ก. ฐานเป็นผู้จัดการทรัพย์สินยักยอกทรัพย์ จำคุก 1 ปี ตามคำฟ้อง ข้อ ข. ฐานเป็นผู้จัดการทรัพย์สินยักยอกทรัพย์ จำคุก 1 ปี ตามคำฟ้องข้อ ค. ฐานเป็นผู้จัดการทรัพย์สินยักยอกทรัพย์ จำคุก 1 ปี ตามคำฟ้อง ข้อ ง. จำคุก 1 ปี ตามคำฟ้องข้อ ช. จำคุก 1 ปี เมื่อรวมกับโทษที่ศาลชั้นต้นกำหนดตามคำฟ้อง ข้อ จ. และ ฉ. แล้ว รวมจำคุก 6 ปี 6 เดือน ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 2,808,063.32 บาท แก่โจทก์ร่วม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังว่า จำเลยและนางสาวยุพา สามีภริยาตั้งบริษัทโจทก์ร่วม มีจำเลยเป็นกรรมการผู้จัดการ โดยนางสาวงามตาและนายทองสุข สามีภริยาโอนเงินให้จำเลยและนางสาวยุพาเป็นเงินลงทุน ต่อมาจำเลยโอนเงินของโจทก์ร่วมให้นางสาวงามตาสองครั้ง ครั้งแรก จำนวน 4,500,000 บาท ครั้งที่สอง จำนวน 1,024,000 บาท และจำเลยได้โอนรถยนต์ของโจทก์ร่วมไปเป็นของจำเลย
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า จำเลยกระทำความผิดฐานเป็นผู้จัดการทรัพย์สินยักยอกทรัพย์ตามคำฟ้องข้อ ก. และข้อ ข. ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 หรือไม่ โจทก์และโจทก์ร่วมมีว่าที่ร้อยตรีวิทยา ผู้สอบบัญชีเป็นพยานเบิกความว่า นางสาวงามตาว่าจ้างให้พยานตรวจสอบบัญชีของโจทก์ร่วม ซึ่งนางสาวงามตาเป็นผู้ถือหุ้นของโจทก์ร่วม จากการตรวจสอบบัญชีพบรายการผิดปกติจึงได้ทำรายงานผลการตรวจสอบเสนอกรรมการของโจทก์ร่วมในขณะนั้น คือนายทองสุข พยานโจทก์และโจทก์ร่วมอีกปากคือนางสาวสุนีย์ เบิกความว่า นายทองสุขนำรายงานผลการตรวจสอบเอกสารมาให้พยานอธิบายตามรายงานดังกล่าว ข้อที่ผิดปกติคือ ในเบื้องต้นของการทำธุรกิจ นางสาวงามตาเคยโอนเงินเข้ามาเพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนในกิจการของโจทก์ร่วมให้แก่นางสาวยุพา การโอนเงินคืนให้แก่นางสาวงามตา น่าจะคืนโดยนำเงินที่ฝากอยู่ในบัญชีของนางสาวยุพาคืนไป แทนที่จะนำเงินที่ใช้หมุนเวียนในบัญชีของโจทก์ร่วมโอนจ่ายคืนให้นางสาวงามตา เห็นว่า เงินที่ใช้ลงทุนหมุนเวียนในระยะแรกเริ่มของการก่อตั้งบริษัทโจทก์ร่วมเป็นเงินของนางสาวงามตาส่งไปทั้งสิ้น โดยโอนเงินเข้าบัญชีของนางสาวยุพา ปรากฏตามสมุดเงินฝากของนางสาวยุพา และหลักฐานการโอนเงิน แม้เมื่อบริษัทโจทก์ร่วมตั้งขึ้นแล้วนางสาวงามตาก็ยังคงโอนเงินไปให้นางสาวยุพา โดยไม่โอนไปยังบริษัทโจทก์ร่วม และนางสาวยุพาได้เขียนรายการว่านำเงินไปใช้ทำอะไรบ้าง เพื่อให้นางสาวงามตาตรวจ เมื่อพิเคราะห์ตามเอกสารมีรายการที่ระบุว่า นำเงินไปลงทุนในบริษัททรายทอง 5,700,000 บาท ซึ่งเป็นชื่อบริษัทโจทก์ร่วม และเป็นจำนวนเดียวกับที่นางสาวงามตาเบิกความว่าเป็นจำนวนเงินที่ตนลงทุนในบริษัทโจทก์ร่วม อีกทั้งลักษณะการโอนเงินของนางสาวงามตาไปให้นางสาวยุพาก็มีความเกี่ยวพันกับโจทก์ร่วมโดยตลอด เมื่อการนำเงินมาลงทุนของนางสาวงามตาในบริษัทโจทก์ร่วม ไม่ทำให้ถูกต้องทางบัญชี ใช้วิธีโอนเงินผ่านบัญชีของนางสาวยุพา แล้วให้นางสาวยุพาและจำเลยนำเงินไปดำเนินการต่ออีกทอดหนึ่ง การที่จำเลยและนางสาวยุพาโอนเงินคืนแก่นางสาวงามตาซึ่งเป็นเจ้าของเงินเอง แม้จะนำเงินจากบัญชีของโจทก์ร่วมมาโอนให้ ก็เป็นเพียงความบกพร่องไม่ทำให้ถูกต้องตามหลักการบัญชีเท่านั้น ทั้งกระทำโดยเปิดเผยไม่ได้ปิดบังแต่อย่างใด จะถือว่าเป็นการกระทำโดยเจตนาทุจริตยังไม่ถนัดนัก และตามสมุดบัญชีเงินฝากซึ่งเป็นบัญชีที่นางสาวงามตาโอนเงินมาให้นางสาวยุพาก็ปรากฏว่า มีเงินคงเหลือในบัญชีเพียง 34,633.08 บาท และเงินจำนวนอื่นของโจทก์ร่วมก็ฝากประจำไว้ที่ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาหนองประทีป ยังไม่ครบกำหนดที่จะเบิกถอนได้ ส่วนการโอนเงินโจทก์และโจทก์ร่วมไม่ได้นำสืบให้ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีเงินในบัญชีเงินฝากแล้วจำเลยไม่โอนเงินจำนวนดังกล่าวไปให้นางสาวงามตา รวมทั้งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงจากนางสาวงามตาว่าได้แจ้งให้จำเลยโอนเงินจากบัญชีเงินฝากคืนแก่นางสาวงามตาเท่านั้น ตามพฤติการณ์แห่งคดียังมีความสงสัยตามสมควรว่า จำเลยมีเจตนาทุจริตเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่นอันเป็นความผิดฐานยักยอกหรือไม่ จึงให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามคำฟ้อง ข้อ ก. และข้อ ข. ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้น
มีปัญหาตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปมีว่า คำฟ้องของโจทก์ ข้อ ช. เคลือบคลุม และจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง ข้อ ช. หรือไม่ โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยในฐานะกรรมการผู้จัดการซึ่งเป็นผู้ครอบครองดูแลและจัดการรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ม – 3246 เชียงใหม่ ของโจทก์ร่วมได้เบียดบังเอารถยนต์คันดังกล่าวไปโดยทุจริต โดยจำเลยสั่งให้เจ้าหน้าที่การเงินของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของจำเลยให้ออกใบเสร็จรับเงินว่า จำเลยได้ชำระค่าซื้อรถยนต์คันดังกล่าวแก่โจทก์ร่วมแล้วเป็นเงิน 180,000 บาท โดยจำเลยไม่ได้ชำระเงินดังกล่าวจริง เห็นว่า ฟ้องโจทก์บรรยายการกระทำที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา185 (5) ส่วนที่โจทก์บรรยายฟ้องอีกว่า นอกจากการที่จำเลยได้ไปซึ่งรถยนต์คันดังกล่าว ของโจทก์ร่วมแล้ว จำเลยยังได้รับประโยชน์จากการที่จำเลยไม่นำเงินจำนวน 180,000 บาท เข้าบัญชีของโจทก์ร่วมจริง โดยคิดเป็นดอกเบี้ยเบิกเงินเกินบัญชีที่โจทก์ร่วมต้องชำระให้แก่ธนาคาร ก็มิได้ขัดแย้งกับฟ้องโจทก์ในส่วนแรกแต่ประการใด เพราะหมายถึงโจทก์ร่วมมีอำนาจฟ้องขอให้จำเลยคืนรถยนต์คันดังกล่าว หากไม่คืนจำเลยต้องใช้ราคารถยนต์จำนวน 180,000 บาท ถ้าจำเลยนำเงิน 180,000 บาท เข้าบัญชีของโจทก์ร่วมเท่ากับหนี้เบิกเงินเกินบัญชีของโจทก์ร่วมลดลง 180,000 บาท โจทก์ร่วมก็ไม่ต้องเสียดอกเบี้ยในเงินจำนวน 180,000 บาท ให้แก่ธนาคาร ฟ้องของโจทก์ส่วนนี้จึงไม่เคลือบคลุม และเรื่องที่จำเลยโอนรถยนต์นั้น จำเลยเบิกความว่า จำเลยได้เจรจากับนางสาวงามตาและนายทองสุขว่า จำเลยจะถอนตัวออกมาจากบริษัทโจทก์ร่วม จึงมีการตกลงให้โอนรถยนต์ที่จำเลยใช้ประจำให้แก่จำเลย แต่นายทองสุข กรรมการบริษัทโจทก์ร่วม เบิกความว่า จำเลยยักยอกเงินของโจทก์ร่วม 5 ครั้ง นอกจากเงินแล้วยังมีการยักยอกรถยนต์ของโจทก์ร่วมด้วย ประกอบกับนางสาววิไลลักษณ์ พนักงานบัญชีของโจทก์ร่วมเบิกความเป็นพยานโจทก์และโจทก์ร่วมว่า จำเลยอ้างว่า โจทก์ร่วมมอบรถยนต์ให้แก่จำเลย แต่จำเป็นต้องออกใบเสร็จรับเงินในการโอน เนื่องจากมีการจำหน่ายรถยนต์ของโจทก์ร่วมออกไป จึงต้องทำใบเสร็จรับเงินขึ้นมาเพื่อให้ปิดบัญชีได้ ใบเสร็จรับเงินจึงไม่ได้มีการรับเงินกันจริง ข้อเท็จจริงเชื่อได้ว่า โจทก์ร่วมไม่ได้มอบรถยนต์ให้แก่จำเลย แต่จำเลยยักยอกรถยนต์ของโจทก์ร่วม จำเลยจึงกระทำความผิดตามคำฟ้องข้อ ช. ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ปัญหาตามฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายที่ว่า จำเลยไม่ได้กระทำความผิดตามคำฟ้อง ข้อ ค. ข้อ ง. ข้อ จ. และข้อ ฉ. นั้น เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง และศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นสำหรับความผิดตามคำฟ้องข้อ จ. และข้อ ฉ. ส่วนความผิดตามคำฟ้อง ข้อ ค. และข้อ ง. ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลย 2 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ยังคงลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 2 ปี จึงต้องห้ามมิให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219 วรรคแรก ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาข้อนี้ของจำเลย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษามา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน
อนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 354 มาด้วย เห็นว่า การกระทำความผิดฐานยักยอกตามมาตรา 354 จะต้องได้ความว่า ผู้กระทำผิดได้กระทำในฐานเป็นผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยเป็นผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชนมาด้วยก็ตาม ก็เป็นเพียงประโยคประกอบซึ่งโจทก์ขยายความออกไปตามความเข้าใจของโจทก์ ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงหรือรายละเอียดว่า จำเลยกระทำในฐานเป็นผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชนอย่างไร การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 354 แม้จำเลยมิได้ฎีกาในปัญหาข้อนี้ แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสองประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353 เป็นการกระทำหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานเป็นผู้จัดการทรัพย์สินยักยอกทรัพย์ ตามฟ้องข้อ ค. จำคุก 1 ปี ข้อ ง. จำคุก 1 ปี ข้อ จ. จำคุก 6 เดือน ข้อ ฉ. จำคุก 1 ปี ข้อ ช. จำคุก 1 ปี รวมจำคุก 4 ปี 6 เดือน ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 903,610.67 บาท แก่โจทก์ร่วม ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดตามฟ้องข้อ ก. และข้อ ข. นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5