แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยจอดรถกีดขวางการจราจร เป็นผิดต่อพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ มาตรา 64 ต่อมามีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 59 ยกเลิกและใช้ความใหม่แทน ให้อำนาจเจ้าพนักงานจราจรหรือพนักงานเจ้าหน้าที่จะว่ากล่าวตักเตือนก็ได้ ดังนี้ เมื่อจำเลยได้ปฏิบัติตามคำว่ากล่าวตักเตือนของเจ้าพนักงานจราจรแล้วเห็นได้ว่ากฎหมายไม่ประสงค์เอาโทษแก่จำเลย การกระทำของจำเลยซึ่งเดิมเป็นความผิดก็ไม่เป็นความผิดอีกต่อไป จำเลยพ้นจากการเป็นผู้กระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรค 2 อำนาจฟ้องของโจทก์ซึ่งฟ้องภายหลังที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าวใช้บังคับ ย่อมหมดสิ้นไปในตัว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจอดรถเข็นหน้าตลาดสดเทศบาล เป็นการกีดขวางการจราจรและพูดค่าดูหมิ่นเจ้าพนักงานตำรวจที่เข้าไปตักเตือนห้ามปรามจำเลย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2477มาตรา 14, 66 พระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2508มาตรา 13 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยได้ปฏิบัติตามคำว่ากล่าวตักเตือนของเจ้าพนักงานตำรวจแล้ว เมื่อเจ้าพนักงานเลือกปฏิบัติว่ากล่าวตักเตือนแล้ว เจ้าพนักงานย่อมไม่มีอำนาจสอบสวนความผิดของจำเลยอีก โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง และฟังไม่ได้ว่าจำเลยดูหมิ่นเจ้าพนักงาน พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยตามฟ้องทั้งสองฐานความผิด
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาปัญหาข้อกฎหมายว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยในข้อหาฐานจอดล้อเลื่อนกีดขวางการจราจร
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อตำรวจจราจรได้เข้าไปตักเตือนจำเลยให้นำรถเข็นนั้นไปจอดที่อื่น จำเลยก็เชื่อและเข็นรถไปที่อื่นเห็นว่า จำเลยกระทำความผิดเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2514 อันเป็นขณะที่พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2477 มาตรา 64 ใช้บังคับ แต่ต่อมาเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2515 ได้มีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 59 ข้อ 9 ออกใช้บังคับอันเป็นเวลาภายหลังการกระทำความผิด โดยให้ยกเลิกความในมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2477 และให้ใช้ความใหม่แทนซึ่งให้อำนาจเจ้าพนักงานจราจรหรือพนักงานเจ้าหน้าที่จะว่ากล่าวตักเตือนก็ได้ การที่จ่าสิบตำรวจเสนอว่ากล่าวตักเตือนจำเลยและจำเลยปฏิบัติตามคำว่ากล่าวตักเตือนแล้ว เป็นที่เห็นได้ว่ากฎหมายไม่ประสงค์เอาโทษแก่จำเลย ฉะนั้น การกระทำของจำเลยซึ่งเดิมเป็นความผิด ก็ไม่เป็นความผิดอีกต่อไป จำเลยจึงพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรค 2 อำนาจฟ้องของโจทก์ (โจทก์ฟ้องเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2515) ภายหลังที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าวใช้บังคับ ย่อมหมดสิ้นไปในตัวที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์จึงชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน