คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7536/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ตั้งสิทธิฟ้องเรียกร้องคดีนี้สืบเนื่องจากการที่จำเลยผิดสัญญาจ้างทำไม้ต่อโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จะต้องถูกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เรียกร้องค่าปรับ ค่าภาคหลวงและค่าบำรุงป่า ไม่ใช่เรื่องการรับช่วงสิทธิที่โจทก์ต้องชำระค่าปรับก่อนแล้วจึงจะใช้สิทธิฟ้องบังคับเอาจากจำเลยได้ แม้ปรากฏว่าเคยมีมติคณะรัฐมนตรีไม่ให้หน่วยงานราชการฟ้องร้องกันก็ตาม แต่ก็ไม่ทำให้สิทธิเรียกร้องระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับโจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานราชการด้วยกันที่มีต่อกันระงับไป โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกร้องค่าปรับจากจำเลย
โจทก์ได้รับสัมปทานทำไม้จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แล้วโจทก์ได้ทำสัญญาจ้างจำเลยทำไม้โดยจำเลยผู้รับจ้างได้ผลประโยชน์ตอบแทนจากการที่โจทก์ผู้ว่าจ้างขายไม้ที่จำเลยทำได้นั้นให้จำเลยตามราคาที่ตกลงกัน ซึ่งถือเป็นสินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการทำไม้แก่จำเลย สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นสัญญาจ้างทำของ ไม่ใช่การขาย ให้เช่า มอบให้หรือโอนไปด้วยประการใดๆ ซึ่งสิทธิอันได้มาตามสัมปทานให้แก่จำเลย ไม่ขัดต่อกฎหมายหรือความสงบเรียบร้อยของประชาชนจึงไม่เป็นโมฆะ
สัญญาจ้างทำไม้ระบุว่า เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ได้รับมอบอำนาจจากกรมป่าไม้ได้กำหนดจำนวนเงินเบี้ยปรับการทำผิดของผู้รับจ้างและได้แจ้งเป็นหนังสือให้ผู้ว่าจ้างนำเงินเบี้ยปรับไปชำระ ผู้รับจ้างจะต้องนำเงินเบี้ยปรับไปชำระแทนภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้ง โจทก์ได้รับแจ้งให้นำเงินค่าปรับไปชำระเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2532 โจทก์จึงอาจทวงถามให้จำเลยนำเงินค่าปรับไปชำระได้ในวันนั้น และจำเลยต้องนำเงินค่าปรับไปชำระภายในวันที่ 10 สิงหาคม 2532 หากจำเลยไม่นำเงินค่าปรับไปชำระภายในกำหนด จึงจะถือว่าจำเลยเป็นผู้ผิดสัญญานับแต่วันถัดจากวันครบกำหนดให้จำเลยต้องชำระซึ่งถือเป็นวันเริ่มนับอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/13 เมื่อนับแต่วันเริ่มนับอายุความคือวันที่ 11 สิงหาคม 2532 ถึงวันที่โจทก์ฟ้องคือวันที่ 22 กรกฎาคม 2542 ยังไม่เกิน 10 ปี จึงไม่ขาดอายุความตามมาตรา 193/30

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 11,409,111 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้อง และบังคับให้โจทก์ชำระเงิน 116,060,711 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 2,844,904.20 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง(ฟ้องวันที่ 22 กรกฎาคม 2542) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้นำหลักประกันจำนวน 100,000 บาท และ 10,000 บาท ไปหักกับจำนวนดอกเบี้ยก่อน หากมีเงินเหลือให้นำไปหักชำระต้นเงิน กับให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี ยกฟ้องแย้งจำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องแย้งให้ตกเป็นพับ
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 2,334,150 บาทแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติในชั้นนี้โดยคู่ความไม่โต้แย้งคัดค้านว่า เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2513 โจทก์ได้รับสัมปทานทำไม้หวงห้ามธรรมดานอกจากไม้สักในป่าโครงการวังใหญ่ – แม่น้ำน้อย ตำบลสิงห์ ตำบลลุ่มสุ่ม ตำบลไทรโยค ตำบลลิ่นถิ่น อำเภอไทรโยค และอำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี เนื้อที่ 1,840 ตารางกิโลเมตร มีกำหนด 30 ปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2513 ถึงวันที่ 10 เมษายน 2543 จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตามสัมปทานทำไม้หวงห้ามธรรมดานอกจากไม้สัก โจทก์ได้ว่าจ้างจำเลยทำไม้หวงห้ามธรรมดานอกจากไม้สัก เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2517 ถึงวันที่ 10 เมษายน 2543 ตามสัญญาจ้าง ต่อมามีการแก้ไขระยะเวลาการทำไม้มีกำหนด เวลา 1 ปี เมื่อครบกำหนดอายุสัญญา 1 ปี ให้สัญญามีผลใช้บังคับต่อไปอีกครั้งละ 1 ปี ตามสัญญาจ้าง (ฉบับที่ 2) ต่อมาวันที่ 17 มกราคม 2532 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีคำสั่งปิดป่า ตามสำเนาคำสั่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นเหตุให้ไม่สามารถทำไม้ตามที่ได้รับสัมปทานอีกต่อไป มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องเรียกค่าปรับจากจำเลยหรือไม่ จำเลยอ้างว่าโจทก์ยังไม่ได้ชำระค่าปรับให้แก่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงไม่อาจรับช่วงสิทธิมาฟ้องบังคับให้จำเลยชำระค่าปรับได้นั้น เห็นว่า โจทก์ตั้งสิทธิในการฟ้องเรียกร้องคดีนี้สืบเนื่องจากการที่จำเลยผิดสัญญาต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จะต้องถูกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เรียกร้องค่าปรับ ค่าภาคหลวงและค่าบำรุงป่า ไม่ใช่เรื่องการรับช่วงสิทธิที่โจทก์ต้องชำระค่าปรับให้แก่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก่อน แล้วจึงจะใช้สิทธิฟ้องบังคับเอาจากจำเลยได้ นอกจากนี้แม้จะปรากฏว่าเคยมีมติคณะรัฐมนตรีไม่ให้หน่วยงานราชการฟ้องร้องกันดังที่จำเลยอ้างก็ตาม แต่ก็ไม่ทำให้สิทธิเรียกร้องระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับโจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานราชการด้วยกันที่มีต่อกันระงับไป ดังนั้น โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกร้องค่าปรับจากจำเลย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปมีว่า สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นโมฆะหรือไม่ เมื่อพิจารณาสัญญาจ้างทำไม้หวงห้ามธรรมดานอกจากไม้สักระหว่างโจทก์ผู้ว่าจ้างกับจำเลยผู้รับจ้าง มีรายละเอียดว่าผู้รับจ้างตกลงรับจ้างทำไม้หวงห้ามธรรมดานอกจากไม้สัก ในเขตสัมปทานป่าโครงการวังใหญ่ – แม่น้ำน้อย ตำบลสิงห์ ตำบลลุ่มสุ่ม ตำบลไทรโยค ตำบลลิ่นถิ่น อำเภอไทรโยค และอำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ที่กรมป่าไม้จะได้กำหนดแบ่งพื้นที่ป่าสัมปทานออกเป็นแปลง ๆ โดยกำหนดให้ผู้ว่าจ้างทำก่อนและหลังในระยะเวลาติดต่อกันไป และในแปลงหนึ่ง ๆ กำหนดให้ผู้ว่าจ้างทำไม้หวงห้ามธรรมดานอกจากไม้สักได้ในระยะเวลาไม่เกินหนึ่งปี ซึ่งผู้รับจ้างยอมรับที่จะปฏิบัติตามที่กรมป่าไม้กำหนดไว้ทุกประการ ผู้รับจ้างจะตัดโค่นหรือตัดทอนไม้ในเขตป่าสัมปทานนี้ได้เฉพาะไม้หวงห้ามธรรมดานอกจากไม้สัก โดยผู้รับจ้างจะต้องทำไม้ให้แล้วเสร็จภายในกำหนดระยะเวลาของการทำไม้แต่ละแปลง และผู้ว่าจ้างตกลงขายไม้หวงห้ามธรรมดานอกจากไม้สักที่ผู้รับจ้างทำให้แก่ผู้รับจ้างแต่เพียงผู้เดียว เห็นได้ว่าตามสัญญากล่าวถึงการจ้างทำไม้ โดยจำเลยผู้รับจ้างได้ผลประโยชน์ตอบแทนจากการที่โจทก์ผู้ว่าจ้างขายไม้ให้จำเลยตามราคาที่ตกลงกัน ซึ่งถือเป็นสินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการทำไม้แก่จำเลย สัญญาจ้างนี้จึงอยู่ในลักษณะจ้างทำของ อันเป็นสัญญาต่างตอบแทน ไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ขาย ให้เช่า มอบให้ หรือโอนไปด้วยประการใด ๆ ซึ่งสิทธิอันได้มาตามสัมปทานให้แก่จำเลย สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงไม่ขัดต่อกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยไม่เป็นโมฆะ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปมีว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ จำเลยอ้างว่า เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2532 โจทก์ได้รับหนังสือจากสำนักงานป่าไม้เขตบ้านโป่งให้โจทก์นำเงินค่าปรับไปชำระ สิทธิเรียกร้องจึงเริ่มนับแต่วันที่โจทก์ทราบนี้ เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2542 ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ นั้น เมื่อพิจารณาสัญญาจ้างทำไม้หวงห้ามธรรมดานอกจากไม้สัก ระบุว่า เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ได้รับมอบอำนาจจากกรมป่าไม้ ได้กำหนดจำนวนเงินเบี้ยปรับการทำผิดของผู้รับจ้าง และได้แจ้งเป็นหนังสือให้ผู้ว่าจ้างนำเงินเบี้ยปรับไปชำระ ผู้รับจ้างจะต้องนำเงินเบี้ยปรับนั้นไปชำระแทนภายในกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้ง เมื่อโจทก์ได้รับแจ้งให้นำเงินค่าปรับไปชำระในวันที่ 11 กรกฎาคม 2532 ดังนั้น โจทก์จึงอาจทวงถามให้จำเลยนำเงินค่าปรับไปชำระเสียได้ในวันนั้น และจำเลยก็จะต้องนำเงินค่าปรับไปชำระภายในสามสิบวันคือภายในวันที่ 10 สิงหาคม 2532 หากจำเลยไม่นำเงินค่าปรับไปชำระต่อกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ภายในกำหนดดังกล่าว จึงจะถือว่าจำเลยเป็นผู้ผิดสัญญานับแต่วันถัดจากวันครบกำหนดให้จำเลยต้องชำระซึ่งถือเป็นวันเริ่มนับอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/13 เมื่อนับแต่วันเริ่มนับอายุความวันที่ 11 สิงหาคม 2532 ถึงวันที่โจทก์ฟ้อง (22 กรกฎาคม 2542) ยังไม่เกินสิบปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 8,000 บาท แทนโจทก์

Share