คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8518/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2540) ที่ออกตามความใน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ข้อ 3 มีข้อความว่า ในกรณีที่ผู้ประสบภัยเป็นผู้ขับขี่และผู้ขับขี่ที่ประสบภัยเป็นฝ่ายที่ต้องรับผิดตามกฎหมาย หรือไม่มีผู้ใดรับผิดตามกฎหมายต่อผู้ขับขี่ที่ประสบภัย จำนวนเงินเอาประกันภัยให้ลดลงเป็นจำนวนเงินค่าเสียหายเบื้องต้นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง และในกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ข้อ 2.3 มีข้อความว่า กรณีผู้ประสบภัยเป็นผู้ขับขี่รถคันที่เอาประกันภัยและเป็นฝ่ายที่ต้องรับผิดต่ออุบัติเหตุ หรือไม่มีผู้ใดต้องรับผิดตามกฎหมายต่อผู้ขับขี่ที่เป็นผู้ประสบภัย บริษัทจะรับผิดจ่ายค่าสินไหมทดแทนไม่เกินค่าเสียหายเบื้องต้นเท่านั้น… ข้อความในกฎกระทรวงและในกรมธรรม์ดังกล่าว จึงเป็นกรณีที่ผู้ประสบภัยเป็นผู้ขับขี่และผู้ประสบภัยนั้นเองเป็นฝ่ายต้องรับผิดตามกฎหมายในอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นหรือไม่มีฝ่ายใดต้องรับผิดตามกฎหมาย เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังยุติว่า ผู้ตายซึ่งเป็นผู้ประสบภัยและเป็นผู้ขับขี่มิได้เป็นฝ่ายที่ต้องรับผิดและมีผู้ต้องรับผิดต่อผู้ตายตามกฎหมายแล้ว เพียงแต่เจ้าพนักงานตำรวจยังไม่สามารถติดตามผู้ที่ต้องรับผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายได้เท่านั้น จึงไม่ใช่กรณีที่ไม่มีฝ่ายใดที่ต้องรับผิดตามกฎหมายต่อผู้ประสบภัย ทั้งไม่อาจตีความข้อความตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ดังกล่าวให้หมายความรวมถึงกรณียังไม่อาจติดตามผู้ต้องรับผิดมาได้ เนื่องจากข้อความดังกล่าวมีความชัดเจนอยู่ในตัวแล้วว่าจะต้องไม่มีผู้ที่ต้องรับผิดตามกฎหมายเท่านั้น จำเลยในฐานะผู้รับประกันภัยจึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเต็มจำนวนที่คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถกรณีเสียชีวิตตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ

ย่อยาว

โจทก์ทั้งห้าฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 85,621.91 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 80,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 80,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 16 สิงหาคม 2544) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งห้า กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งห้าโดยกำหนดค่าทนายความ 4,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์ 2,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์ทั้งห้าเป็นทายาทของนายบัว ผู้ตาย ผู้ตายเป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์ หมายเลขทะเบียน กรุงเทพมหานคร 3 ฟ – 4725 ผู้ตายเอาประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถจักรยานยนต์ดังกล่าวไว้กับจำเลย ระยะเวลาประกัน 1 ปี นับแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2543 ถึงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2544 ตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2544 เวลาประมาณ 21 นาฬิกา ผู้ตายขับรถจักรยานยนต์ที่เอาประกันภัยไว้กับจำเลยมาตามถนนกรุงเทพฯ – นนทบุรี แล้วเกิดอุบัติเหตุถูกรถโดยสารประจำทางและรถยนต์แท็กซี่เฉี่ยวชนเป็นเหตุให้ผู้ตายได้รับบาดเจ็บและถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา โดยเหตุดังกล่าวเกิดจากความประมาทของผู้ขับรถโดยสารประจำทางและผู้ขับรถยนต์แท็กซี่ ภายหลังเกิดเหตุโจทก์ที่ 1 ขอรับค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยตามจำนวนเงินคุ้มครองสูงสุดที่ระบุไว้ในกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ กรณีเสียชีวิตจำนวน 80,000 บาท แต่จำเลยอ้างว่า จำเลยต้องจ่ายเพียงค่าสินไหมทดแทนไม่เกินค่าเสียหายเบื้องต้นเป็นค่ารักษาพยาบาลจำนวน 6,994 บาท กับกรณีเสียชีวิตจำนวน 15,000 บาท เท่านั้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ทั้งห้าตามจำนวนเงินคุ้มครองสูงสุดที่ระบุไว้ในกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถหรือไม่ โดยจำเลยอ้างว่า กรณีของผู้ตายเป็นไปตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2540) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ข้อ 3 และเงื่อนไขตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ข้อ 2.3 เนื่องจากผู้ตายเป็นผู้ประสบภัยและผู้ขับขี่ ซึ่งกำหนดให้จำเลยจ่ายเฉพาะค่าสินไหมทดแทนที่เป็นค่าเสียหายเบื้องต้นเท่านั้น เห็นว่า กฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2540) ข้อ 3. มีข้อความว่า ในกรณีที่ผู้ประสบภัยเป็นผู้ขับขี่และผู้ขับขี่ที่ประสบภัยเป็นฝ่ายที่ต้องรับผิดตามกฎหมาย หรือไม่มีผู้ใดรับผิดตามกฎหมายต่อผู้ขับขี่ที่ประสบภัย จำนวนเงินเอาประกันภัยตามข้อ 2 ให้ลดลงเป็นจำนวนเงินค่าเสียหายเบื้องต้นตามที่กำหนดในกฎกระทรวงซึ่งออกตามความในมาตรา 20 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 และกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ข้อ 2.3 มีข้อความว่า กรณีผู้ประสบภัยเป็นผู้ขับขี่รถคันที่เอาประกันภัยและเป็นฝ่ายที่ต้องรับผิดต่ออุบัติเหตุ หรือไม่มีผู้ใดต้องรับผิดตามกฎหมายต่อผู้ขับขี่ที่เป็นผู้ประสบภัย บริษัทจะรับผิดจ่ายค่าสินไหมทดแทนไม่เกินค่าเสียหายเบื้องต้นเท่านั้น… ดังนี้จะเห็นได้ว่า ทั้งกฎกระทรวงและเงื่อนไขในกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถที่จำเลยอ้างถึงนั้น เป็นกรณีที่ผู้ประสบภัยเป็นผู้ขับขี่ และผู้ประสบภัยนั้นเองเป็นฝ่ายที่ต้องรับผิดตามกฎหมายในอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น หรือไม่มีฝ่ายใดที่ต้องรับผิดตามกฎหมายต่อผู้ประสบภัยแต่กรณีของผู้ตาย ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติแล้วว่า ผู้ตายมิได้เป็นฝ่ายที่ต้องรับผิด และมีผู้ที่ต้องรับผิดตามกฎหมายต่อผู้ตายคือ ผู้ขับรถโดยสารประจำทางกับผู้ขับรถยนต์แท็กซี่ เพียงแต่เจ้าพนักงานตำรวจยังไม่สามารถติดตามผู้ที่ต้องรับผิดดังกล่าวมาดำเนินคดีตามกฎหมายได้เท่านั้น หาใช่เป็นกรณีไม่มีฝ่ายใดที่ต้องรับผิดตามกฎหมายต่อผู้ประสบภัยดังที่จำเลยอ้างไม่ ทั้งไม่อาจตีความข้อความตอนท้ายของเงื่อนไขการให้ความคุ้มครองผู้ประสบภัยดังกล่าวให้หมายรวมไปถึงกรณียังไม่อาจติดตามผู้ต้องรับผิดมาได้ เนื่องจากข้อความดังกล่าวมีความชัดเจนอยู่ในตัวแล้วว่าจะต้องไม่มีผู้ที่ต้องรับผิดตามกฎหมายเท่านั้น จำเลยในฐานะผู้รับประกันภัยจึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเต็มจำนวนคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถกรณีเสียชีวิตเป็นเงิน 80,000 บาท แก่โจทก์ทั้งห้า ตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ข้อ 2.1.3
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share