แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตั้งแต่ออกจากรีสอร์ทจนมาถึงที่เกิดเหตุที่พี่ชาย น. ยิงผู้เสียหาย ไม่ปรากฏว่าจำเลยและพี่ชาย น. ได้พูดกันแต่อย่างใด แต่เมื่อจำเลยจอดรถพี่ชาย น. ก็กระโดดลงจากรถและชักอาวุธปืนออกมายิงผู้เสียหาย แสดงว่าจำเลยและพี่ชาย น. ได้ตกลงกันไว้ก่อนแล้วให้จำเลยเป็นคนพาผู้เสียหายมา ส่วนพี่ชาย น. จะเป็นคนยิง อันเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำ จำเลยจึงเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดกับพี่ชาย น. ด้วย การที่คนร้ายใช้อาวุธปืนซึ่งเป็นอาวุธร้ายแรงยิงผู้เสียหาย 5 นัด ถูกที่ไหล่ซ้าย 1 นัด จนทะลุแสดงว่าคนร้ายมีเจตนาฆ่าผู้เสียหาย แต่เนื่องจากกระสุนปืนไม่ถูกอวัยวะสำคัญผู้เสียหายจึงไม่ถึงแก่ความตาย การกระทำของจำเลยกับพวกจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นและเป็นการกระทำความผิดโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เพราะได้มีการวางแผนไว้ล่วงหน้าก่อนที่จะนำตัวผู้เสียหายมายิงในที่เกิดเหตุ
ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบานั้น เนื่องจากความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตาม ป.อ. มาตรา 289 (4) มีโทษประหารชีวิตสถานเดียว การพยายามกระทำความผิดต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษประหารชีวิต ดังนั้นเมื่อลดโทษประหารชีวิตลงหนึ่งในสามจึงเหลือโทษจำคุกตลอดชีวิตตาม ป.อ. มาตรา 52 (1) ศาลฎีกาไม่อาจลงโทษจำเลยให้ต่ำกว่านี้ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83, 91, 289, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ นับโทษของจำเลยต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2571/2550 ของศาลชั้นต้น
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4), 80, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน จำคุกตลอดชีวิต ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนของผู้อื่นและกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 6 เดือน ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุสมควร เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วคงจำคุกตลอดชีวิตสถานเดียวตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 (3) นับโทษของจำเลยต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2571/2550 ของศาลชั้นต้น ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยเป็นคนขู่บังคับให้ผู้เสียหายออกจากร้านเกมไปควบคุมไว้ในห้องของ รีสอร์ทแล้วให้เพื่อนของตนคุมผู้เสียหายไว้ในห้องโดยจำเลยไปตามพี่ชายนายหนุ่มมา โดยพี่ชายนายหนุ่มมีอาวุธปืนมาด้วย เมื่อพี่ชายนายหนุ่มมาก็ได้ทำร้ายผู้เสียหาย แล้วจำเลยขับรถจักรยานยนต์ให้ผู้เสียหายนั่งซ้อนท้ายตรงกลางโดยพี่ชายนายหนุ่มนั่งซ้อนท้ายด้านหลังพาผู้เสียหายออกจากรีสอร์ทไปตามถนนลพบุรีราเมศวร์ไปทางถนนคึกฤทธิ์ซึ่งเป็นที่เปลี่ยวและมืด จำเลยได้หยุดรถ พี่ชายนายหนุ่มลงจากรถชักอาวุธปืนออกมา ผู้เสียหายกระโดดลงจากรถและวิ่งหนี พี่ชายนายหนุ่มได้ยิงปืนตามไป 5 นัด กระสุนปืนถูกไหล่ซ้ายผู้เสียหาย 1 นัด แล้วจำเลยและพี่ชายนายหนุ่มก็หนีไปด้วยกัน จะเห็นได้ว่าตั้งแต่ออกจากรีสอร์ทจนมาถึงที่เกิดเหตุที่พี่ชายนายหนุ่มยิงผู้เสียหาย ไม่ปรากฏว่าจำเลยและพี่ชายนายหนุ่มได้พูดกันแต่อย่างใด แต่เมื่อจำเลยจอดรถพี่ชายนายหนุ่มก็กระโดดลงจากรถและชักอาวุธปืนออกมายิงผู้เสียหาย แสดงว่าจำเลยและพี่ชายนายหนุ่มได้ตกลงกันไว้ก่อนแล้วว่าให้จำเลยเป็นคนพาผู้เสียหายมา ส่วนพี่ชายนายหนุ่มจะเป็นคนยิงอันเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำ จำเลยจึงเป็นตัวการร่วมกระทำผิดกับพี่ชายนายหนุ่มด้วย การที่คนร้ายใช้อาวุธปืนซึ่งเป็นอาวุธร้ายแรงยิงผู้เสียหาย 5 นัด ถูกที่ไหล่ซ้าย 1 นัด จนทะลุแสดงว่าคนร้ายมีเจตนาฆ่าผู้เสียหาย แต่เนื่องจากกระสุนปืนไม่ถูกอวัยวะสำคัญผู้เสียหายจึงไม่ถึงแก่ความตาย การกระทำของจำเลยกับพวกจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นและเป็นการกระทำความผิดโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เพราะได้มีการวางแผนไว้ล่วงหน้าก่อนที่จะนำตัวผู้เสียหายมายิงในที่เกิดเหตุ
ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบานั้น เนื่องจากความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4) มีโทษประหารชีวิตสถานเดียว การพยายามกระทำความผิดต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษประหารชีวิต ดังนั้นเมื่อลดโทษประหารชีวิตลงหนึ่งในสามจึงเหลือโทษจำคุกตลอดชีวิตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 52 (1) ศาลฎีกาไม่อาจลงโทษจำเลยให้ต่ำกว่านี้ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้มาโดยให้จำคุกตลอดชีวิตจึงชอบแล้ว ฎีกาจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน