คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1764/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยให้การต่อสู้เหตุที่ไม่จำต้องจ่ายค่าชดเชยเพราะ โจทก์ขาดงานเกิน 3 วันโดยไม่มีเหตุอันสมควรเพียงประการเดียว มิได้ยกเหตุไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยเพราะโจทก์ฝ่าฝืนระเบียบเกี่ยวกับการทำงานในกรณีที่ร้ายแรงขึ้นต่อสู้ ดังนั้น ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าการขาดงานของโจทก์โดยมิได้บอกกล่าวหรือแจ้งสาเหตุให้จำเลยทราบ เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับของจำเลยอย่างร้ายแรง จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วแต่ศาลชั้นต้น ถึงแม้ศาลแรงงานกลางจะได้วินิจฉัยว่า โจทก์เพียงกระทำผิดเกี่ยวกับการลาซึ่งไม่ใช่ความผิดกรณีร้ายแรง และจำเลยไม่ได้มีคำเตือนเป็นหนังสือเกี่ยวกับเรื่องนี้มาก่อน ก็เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นหาเป็นเหตุให้จำเลยยกขึ้นอุทธรณ์ได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ โจทก์ป่วยไปทำงานไม่ได้และไม่สามารถแจ้งให้จำเลยทราบเพราะบ้านอยู่ไกลและไม่มีโทรศัพท์ แต่ต่อมาได้ยื่นใบลาพร้อมใบรับรองแพทย์เมื่อโจทก์หายป่วยไปทำงานจำเลยอ้างว่าโจทก์ขาดงานเกิน 3 วันโดยไม่มีเหตุสมควรและเลิกจ้างโจทก์แล้วโดยไม่จ่ายค่าชดเชยให้ทั้งไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า ขอให้ศาลบังคับจำเลยจ่ายสินจ้างที่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้ากับค่าชดเชยแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ตั้งใจปฏิบัติงาน ขาดงานเป็นประจำโดยไม่แจ้งสาเหตุจำเลยได้ว่ากล่าวตักเตือนและคาดโทษด้วยวาจาแล้ว เหตุที่ทำให้จำเลยเลิกจ้างเพราะโจทก์ขาดงานเกิน 3 วัน โดยไม่มีเหตุอันสมควรและไม่ได้แจ้งให้ทราบ โจทก์ได้นำจดหมายขอลาป่วยมาพบกับผู้จัดการโรงงานของจำเลยหลังจากมีคำสั่งปลดโจทก์ออกเพราะไม่มาทำงานนานเกินสมควรแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยจ่ายสินจ้างที่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การที่โจทก์ไม่ไปทำงานเพราะป่วยไม่ใช่เป็นการละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควร โจทก์เพียงลาป่วยโดยไม่แจ้งให้จำเลยทราบล่วงหน้า เป็นเรื่องกระทำผิดเกี่ยวกับการลาไม่ใช่ความผิดกรณีร้ายแรง และไม่ปรากฏว่าจำเลยได้มีคำเตือนเป็นหนังสือเกี่ยวกับเรื่องนี้มาก่อน จำเลยจึงไม่มีสิทธิเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย แต่เมื่อโจทก์กระทำผิดฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับและคำสั่งของนายจ้างโดยไม่แจ้งการลาให้ทราบ จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายสินจ้างที่ไม่บอกกล่าวล่วงหน้า พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ คำขออื่นของโจทก์ให้ยก

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า การขาดงานของโจทก์โดยมิได้บอกกล่าวหรือแจ้งสาเหตุให้จำเลยทราบเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของจำเลยอย่างร้ายแรง โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยนั้น จำเลยให้การต่อสู้เหตุที่ไม่จำต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์เพราะโจทก์ขาดงานเกิน 3 วัน โดยไม่มีเหตุอันสมควรเพียงประการเดียว มิได้ยกเหตุไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยเพราะโจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยในกรณีที่ร้ายแรงขึ้นต่อสู้ อุทธรณ์จำเลยจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วแต่ศาลชั้นต้นต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225(ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2518 มาตรา 4 ประกอบกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31ถึงแม้ศาลแรงงานกลางจะได้วินิจฉัยว่า โจทก์ไม่ไปทำงานเพราะป่วยไม่ใช่เป็นการละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควร และวินิจฉัยไปว่าโจทก์เพียงกระทำผิดเกี่ยวกับการลาซึ่งไม่ใช่ความผิดกรณีร้ายแรง และไม่ปรากฏว่าจำเลยได้มีคำเตือนเป็นหนังสือเกี่ยวกับเรื่องนี้มาก่อนจำเลยจึงไม่มีสิทธิเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยด้วย ก็เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น หาเป็นเหตุให้จำเลยยกขึ้นอุทธรณ์ได้ไม่

ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์กระทำผิดฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับและคำสั่งของจำเลยโดยไม่แจ้งการลาให้ทราบ จึงควรลดค่าชดเชยให้นั้นเป็นข้อที่จำเลยมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วแต่ศาลชั้นต้นเช่นกัน ศาลฎีกาจึงไม่วินิจฉัยให้

พิพากษายกอุทธรณ์จำเลย

Share