คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8867/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า จำเลยพูดชักชวนผู้เสียหายให้ไปร่วมประเวณีกับ อ. แต่พิพากษายกฟ้องเพราะเห็นว่าการกระทำของจำเลยไม่ครบองค์ประกอบความผิด โจทก์อุทธรณ์ จำเลยกล่าวแก้อุทธรณ์ว่าจำเลยมิได้พูดชักชวนผู้เสียหายให้ไปร่วมหลับนอนด้วย คดีจึงมีประเด็นในชั้นอุทธรณ์ตามคำแก้อุทธรณ์ของจำเลยว่าจำเลยพูดชักชวนผู้เสียหายหรือไม่
จำเลยเพียงแต่พูดชักชวนผู้เสียหายซึ่งเป็นเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีให้ไปร่วมหลับนอนกับ อ. แล้วจะให้โทรศัพท์เคลื่อนที่และเงินเป็นการตอบแทน โดยไม่ปรากฏพฤติการณ์ใด ๆ ที่ส่อแสดงว่าจำเลยใช้อุบายและพูดไม่จริง หรือจะไม่ให้สิ่งของดังกล่าวตอบแทนเมื่อผู้เสียหายตกลง จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยใช้อุบายหลอกลวง เป็นการขาดองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 283 วรรคสาม ผู้เสียหายถูกจำเลยพูดชักชวน ผู้เสียหายทำทีพยักหน้าแต่ไม่ตกลงด้วย เท่ากับผู้เสียหายไม่ยินยอม การกระทำของจำเลยจึงครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 282 วรรคสาม เมื่อผู้เสียหายไม่ไปด้วย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการพยายามกระทำความผิดตามมาตราดังกล่าว และถือว่าความผิดที่ฟ้องรวมการกระทำหลายอย่าง แต่ละอย่างเป็นความผิดได้ในตัวเอง ศาลฎีกามีอำนาจลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหก ประกอบมาตรา 215 และ 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 283 และนับโทษจำเลยต่อจากโทษของจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 643/2547 ของศาลชั้นต้น
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยที่ 2 ในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 283 วรรคสาม ประกอบมาตรา 80 จำคุก 6 ปี 8 เดือน คำให้การของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดีอยู่บ้าง ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 ปี 5 เดือน 10 วัน ให้นับโทษจำคุกจำเลยต่อจากโทษจำคุกของจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 643/2547 ของศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ในขณะเกิดเหตุคดีนี้ นางสาวอัมพิกา ผู้เสียหายอายุสิบสามปีเศษ ครอบครัวผู้เสียหายกับครอบครัวจำเลยเป็นเพื่อนบ้านกันและมีบ้านอยู่ใกล้กัน วันเวลาเกิดเหตุจำเลยขับรถจักรยานยนต์พาผู้เสียหายนั่งซ้อนท้ายไปซื้อมุ้งที่ตลาดเทศบาลเมืองตราด ขากลับจำเลยแวะร้านขายส้มตำ จากนั้นพาผู้เสียหายไปส่งที่บ้าน ต่อมานางอุไร มารดาผู้เสียหายพาผู้เสียหายไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยพูดชักชวนให้ผู้เสียหายไปร่วมหลับนอนกับนายอิทธิพล สามีของจำเลยหรือไม่ เห็นว่า ศาลชั้นต้นวินิจฉัยเชื่อตามพยานหลักฐานของโจทก์ว่าจำเลยได้พูดชักชวนให้ผู้เสียหายไปร่วมประเวณีกับนายอิทธิพล โดยเสนอจะให้โทรศัพท์เคลื่อนที่ จำนวน 1 เครื่อง และเงินจำนวน 1,000 บาท แก่ผู้เสียหายจริง แต่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโดยฟังว่าการกระทำของจำเลยไม่ครบองค์ประกอบความผิดในข้อหาตามฟ้อง เมื่อโจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลย จำเลยได้กล่าวในคำแก้อุทธรณ์ถึงปัญหาที่ว่าจำเลยมิได้พูดชักชวนให้ผู้เสียหายไปร่วมหลับนอนดังกล่าวไว้ด้วย คดีในชั้นอุทธรณ์จึงมีประเด็นตามคำแก้อุทธรณ์ของจำเลย ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ชอบที่จะหยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัย การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ฟังว่าข้อเท็จจริงยุติไปแล้วตามคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น โดยมิได้วินิจฉัยให้ในชั้นอุทธรณ์จึงไม่ชอบ แต่เมื่อคดีขึ้นมาสู่ศาลฎีกาและจำเลยฎีกาข้อเท็จจริงนี้ด้วยแล้วโดยไม่ต้องห้ามฎีกา ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรวินิจฉัยไปได้โดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยในประเด็นข้อนี้เสียก่อน แม้โจทก์มีผู้เสียหายเป็นประจักษ์พยานเพียงปากเดียวว่าจำเลยพูดชวนให้ผู้เสียหายไปนอนกับนายอิทธิพลโดยจะให้สิ่งของตอบแทน แต่โจทก์ก็มีนางอุไรมารดาของผู้เสียหายเป็นพยานเบิกความสนับสนุนว่า เมื่อผู้เสียหายกลับมาถึงบ้าน ก็เล่าเรื่องดังกล่าวให้นางอุไรฟังทันที ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายเป็นเด็กหญิงย่อมไม่ประสาและมีความอับอายในเรื่องเหล่านี้ ทั้งผู้เสียหายไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน จึงไม่เชื่อว่าจะแต่งเรื่องราวดังกล่าวขึ้นเพื่อใส่ความจำเลย หากไม่เป็นความจริง นอกจากนั้นข้อเท็จจริงยังได้ความว่าครอบครัวของผู้เสียหายและจำเลยเป็นเพื่อนบ้านและพึ่งพาอาศัยช่วยเหลือซึ่งกันและกันมานานแล้ว แม้นางอุไรกับนายอิทธิพลจะมีปัญหากันเรื่องกระเบื้องปูพื้น 2 กล่อง แต่ก็เป็นเรื่องเล็กน้อยโดยไม่ปรากฏว่ามีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกันไม่เชื่อว่าจะเป็นสาเหตุถึงขนาดทำให้นางอุไรต้องกลั่นแกล้งใส่ร้ายจำเลยให้ต้องรับโทษทางอาญา พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักมั่นคงฟังได้ว่าจำเลยพูดชักชวนผู้เสียหายให้ไปร่วมหลับนอนกับนายอิทธิพลโดยเสนอจะให้โทรศัพท์เคลื่อนที่จำนวน 1 เครื่องจริง พยานหลักฐานของจำเลยไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 283 วรรคสาม ตามฟ้องของโจทก์หรือไม่ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 283 วรรคสาม มีองค์ประกอบความผิดดังนี้ องค์ประกอบภายนอกสองประการคือ ประการแรก การที่บุคคลกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดในสามอย่างกล่าวคือ เป็นธุระจัดหา ล่อไป หรือพาไปซึ่งชายหรือหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ประการที่สอง วิธีการประกอบการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดในห้าอย่างกล่าวคือ ใช้อุบายหลอกลวง ขู่เข็ญ ใช้กำลังประทุษร้าย ใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรม หรือใช้วิธีข่มขืนใจด้วยประการอื่นใด องค์ประกอบภายในสองประการคือ ประการแรก เจตนาเป็นธุระจัดหา ล่อไป หรือพาไปซึ่งชายหรือหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปีโดยไม่สมัครใจ ประการที่สอง เจตนาพิเศษหรือมูลเหตุชักจูงใจ เพื่อการอนาจารและเพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น สำหรับองค์ประกอบภายนอกเกี่ยวกับการกระทำนั้น เป็นธุระจัดหา หมายความว่า จัดให้ได้มาซึ่งชายหรือหญิง ล่อไป หมายความว่า ล่อลวงไปยังสถานที่ที่จัดไว้ พาไป หมายความว่า นำไป ส่วนองค์ประกอบภายนอกเกี่ยวกับวิธีการประกอบการกระทำประการหนึ่งที่ต้องพิจารณา ในคดีนี้คือ ใช้อุบายหลอกลวง ซึ่งหมายความว่า ใช้วิธีการอันแยบคาย ใช้เล่ห์กลหรือเล่ห์เหลี่ยม และทำให้เข้าใจผิด จึงเห็นได้ว่า คดีมีข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยเพียงแต่พูดชักชวนผู้เสียหายซึ่งเป็นเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีให้ไปร่วมหลับนอนกับนายอิทธิพลสามีของจำเลย แล้วจะให้โทรศัพท์เคลื่อนที่จำนวน 1 เครื่อง และเงินจำนวน 1,000 บาท เป็นการตอบแทน โดยไม่ปรากฏพฤติการณ์ใดๆ ที่ส่อแสดงว่าจำเลยใช้อุบายและพูดไม่จริงหรือจะไม่ให้สิ่งของดังกล่าวตอบแทนเมื่อผู้เสียหายตกลงยินยอม กรณีเช่นนี้ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยใช้อุบายหลอกลวง อันเป็นการขาดองค์ประกอบภายนอกเกี่ยวกับวิธีการประกอบ การกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดในห้าอย่าง การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 283 วรรคสาม ตามฟ้องของโจทก์ แต่ข้อเท็จจริงแห่งคดีนี้ฟังได้ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง เพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น จำเลยเป็นธุระจัดหาเพื่อการอนาจาร ซึ่งผู้เสียหายผู้เป็นเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ผู้เสียหายทำทีพยักหน้าแต่ไม่ตกลงด้วยเท่ากับผู้เสียหายไม่ยินยอม อันเป็นการกระทำครบองค์ประกอบความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 282 วรรคสาม ซึ่งจำเลยลงมือกระทำความผิดและกระทำไปตลอดแล้ว แต่ผู้เสียหายไม่ไปด้วย ทำให้การกระทำของจำเลยไม่บรรลุผลตามที่มุ่งหวังไว้ จึงเป็นการพยายามกระทำความผิดตามมาตราดังกล่าว และกรณีเช่นนี้เป็นกรณีความผิดตามฟ้องรวมการกระทำหลายอย่าง แต่ละอย่างอาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง ศาลฎีกามีอำนาจลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 282 วรรคสาม ตามที่พิจารณาได้ความได้ ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหก ประกอบมาตรา 215 และ 225 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน และฎีกาข้อนี้ของจำเลยก็ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 282 วรรคสาม ประกอบมาตรา 80 ลงโทษจำคุก 4 ปี การนำสืบพยานของจำเลย เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ เห็นสมควรลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 2 ปี 8 เดือน และนับโทษต่อจากโทษของจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1653/2548 ของศาลชั้นต้น

Share