คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6271/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่กรรมการผู้มีอำนาจร่วมกันลงลายมือชื่อและประทับตราบริษัทโจทก์ในใบแต่งทนายความแต่งตั้ง ว. เป็นทนายโจทก์และ ว. ลงลายมือชื่อเป็นโจทก์ฟ้องคดีนี้ ถือเป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ด้วยตนเองโดยแต่งตั้ง ว. เป็นทนายความให้ว่าความและดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้แทนตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 60 วรรคหนึ่ง ไม่ใช่กรณีที่โจทก์มอบอำนาจให้ ว. เป็นผู้แทนโจทก์ตามมาตรา 60 วรรคสอง ซึ่งต้องมีหนังสือมอบอำนาจ
ปัญหาว่า คำฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 3 ยื่นคำให้การว่า คำฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางชอบที่จะวินิจฉัยชี้ขาดกฎหมายเบื้องต้นให้ยกฟ้องโจทก์ได้ การสั่งให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องมาใหม่โดยอาศัย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 30 ประกอบข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2540 ข้อ 6 และวินิจฉัยว่าคำฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม เป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า กระบวนพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีบัญญัติไว้โดยเฉพาะใน พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 ซึ่งมาตรา 26 ได้บัญญัติรับรองในส่วนการดำเนินคดีแพ่งไว้ว่า กระบวนพิจารณาในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ. นี้ และข้อกำหนดตามมาตรา 30 ในกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติและข้อกำหนดดังกล่าว ให้นำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ.มาใช้บังคับโดยอนุโลม ในข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2540 ซึ่งออกตามความในมาตรา 30 แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าว ข้อ 6 ได้กำหนดหลักเกณฑ์ของคำฟ้องใน คดีแพ่งไว้ว่า คำฟ้องที่แสดงให้พอเข้าใจได้ถึงสภาพแห่งข้อหา ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ให้ถือว่าเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อพิจารณาคำฟ้องของโจทก์ที่เสนอต่อศาลแต่แรกแล้ว เป็นคำฟ้องที่พอเข้าใจได้แล้วว่า ความเสียหายของสินค้านั้นเป็นเงิน 846,110 บาท ส่วนจะคำนวณอย่างไร มีหลักฐานอ้างอิงหรือไม่ เป็นเรื่องที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า คำฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย กรณีไม่อาจนำหลักเกณฑ์ของคำฟ้องในคดีแพ่งทั่วไปตาม ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง มาใช้บังคับแก่คดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศได้ และการที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางสั่งให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องให้ชัดเจนขึ้นเป็นการใช้อำนาจตามข้อกำหนด ข้อ 6 วรรคสอง เพื่อประโยชน์แก่จำเลยที่ 3 เอง อุทธรณ์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาว่า สินค้าพิพาทได้รับความเสียหายขณะอยู่ในความดูแลรักษาของจำเลยที่ 3 หรือไม่ เห็นว่า การขนส่งคดีนี้เป็นการขนส่งในเทอม CY/CY หรือ FCL/FCL ผู้ซื้อหรือผู้รับตราส่งมีหน้าที่รับตู้สินค้าจากจำเลยที่ 3 ไปเปิดยังโรงงานหรือโกดังของผู้รับตราส่ง ส่วนจำเลยที่ 3 มีหน้าที่ส่งมอบตู้สินค้าให้แก่ผู้รับตราส่งในสภาพเรียบร้อย การเปิดตู้ของเจ้าหน้าที่ศุลกากรมิใช่การตรวจเพื่อส่งมอบสินค้าพิพาทให้แก่ผู้รับตราส่ง กรณีนี้เป็นการขนส่งสินค้าในระบบตู้สินค้าเทอม CY/CY หรือ FCL/FCL การที่ผู้รับตราส่ง รับตู้สินค้าไปจากจำเลยที่ 3 โดยไม่มีข้อทักท้วงเรื่องความเสียหายของสินค้า จึงไม่อาจถือได้ว่าสินค้าพิพาทมิได้เสียหายในขณะนั้นและผู้รับตราส่งรับมอบสินค้าไปจากจำเลยที่ 3 โดยมิได้อิดเอื้อน ข้อบังคับว่าด้วยระเบียบความปลอดภัยการใช้ท่าเรือบริการและความสะดวกต่างๆ ของกิจการท่าเรือ ข้อ 53 ที่ว่าบุคคลใดรับมอบสินค้าไปจากจำเลยที่ 3 โดยไม่อิดเอื้อน และข้อ 57 วรรคสอง (ข) ที่ว่าถ้าผู้รับสินค้าไม่เรียกร้องค่าเสียหายเป็นหนังสือภายใน 7 วัน นับแต่วันรับมอบสินค้า จำเลยที่ 3 จะไม่รับผิดชอบ ไม่อาจนำมาใช้บังคับแก่การรับมอบตู้สินค้าจากจำเลยที่ 3 เพื่อนำไปเปิดที่โรงงานของผู้รับตราส่งอย่างเช่นกรณีนี้ได้ เพราะตู้สินค้าไม่ใช่สินค้าตามความหมายของข้อบังคับดังกล่าว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าความเสียหายของสินค้าพิพาทเกิดขึ้นขณะที่ตู้สินค้าพิพาทอยู่ในความดูแลรักษาของจำเลยที่ 3 ซึ่งมีหน้าที่รับดูแลรักษาสินค้า เมื่อจำเลยที่ 3 ไม่สามารถป้องกันมิให้น้ำท่วมขังและซึมเข้าไปในภายตู้สินค้า ทำให้สินค้าพิพาทเปียกชื้นได้รับความเสียหายจำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดในความเสียหายของสินค้าพิพาท
คำให้การของจำเลยที่ 3 บรรยายข้อต่อสู้เรื่องอายุความไว้เพียงว่า โจทก์ได้ฟ้องร้องเกินกว่ากำหนดอายุความฝากทรัพย์และอายุความละเมิดแล้วโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้อง ทั้งเป็นคำให้การที่มิได้แสดงเหตุแห่งการขาดอายุความว่าคดีโจทก์ขาดอายุความเพราะอะไร ทำไมถึงขาดอายุความ ถือเป็นคำให้การที่ไม่ ชัดแจ้งไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งปัญหาเรื่องคดีขาดอายุความเป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่คู่ความต้อง นำสืบ และหากเป็นปัญหาข้อกฎหมายก็ไม่ใช่ข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลไม่อาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่รับวินิจฉัยปัญหาเรื่องอายุความชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 888,705 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 846,110 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 3 ชำระเงินจำนวน 888,705 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 846,110 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 29 กันยายน 2546) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 3 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความเป็นเงิน 20,000 บาท และให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนนี้ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศพิพากษาว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการรับประกันวินาศภัยทุกประเภท มีนายอรรณพ และนายเชิดชัย เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ ลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราบริษัท กระทำการแทนโจทก์ได้ จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการรับขนส่งสินค้าทางทะเลเพื่อบำเหน็จทางการค้าปกติ จำเลยที่ 3 เป็น นิติบุคคลตามพระราชบัญญัติการท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494 ประกอบกิจการท่าเรือเดินทะเลและโกดังสินค้า เมื่อประมาณปลายปี 2545 บริษัทยูอาร์ซี (ประเทศไทย) จำกัด สั่งซื้อสินค้ากระดาษห่อลูกอมจากบริษัทเวียดนาม เจ เอส พลาสติก แพ็คเกจจิ้ง จำกัด ที่ประเทศเวียดนาม จำนวน 5,000 ม้วน ในราคาสินค้ารวมค่าขนส่งเป็นเงินรวม 53,500 ดอลลาร์สหรัฐ ผู้ซื้อได้เอาประกันภัยสินค้าสำหรับความเสียหายหรือสูญหายที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างการขนส่งจากโรงงานของผู้เสียหายในประเทศเวียดนามจนถึงโกดังของผู้ซื้อไว้กับโจทก์ในวงเงิน 2,554,678.50 บาท ตามกรมธรรม์ประกันภัย ผู้ขายได้ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้ขนส่งสินค้าทางเรือจากท่าเรือต้นทางประเทศเวียดนามมายังท่าเรือปลายทางคือท่าเรือกรุงเทพ ซึ่งเป็นของจำเลยที่ 3 เพื่อส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อหรือผู้รับตราส่งเป็นการขนส่งในเทอม CY/CY หรือ FCL/FCL จำเลยที่ 1 ได้มอบหมายให้จำเลยที่ 2 ทำการขนส่งอีกทอดหนึ่ง เมื่อจำเลยที่ 2 ได้รับมอบสินค้าพิพาทซึ่งบรรจุในตู้สินค้า 1 ตู้ จากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 นำตู้สินค้าพิพาทบรรทุกลงเรือ เอ็ม.วี. เมอร์เรียน เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2545 และเรือดังกล่าวเดินทางมาถึงท่าเรือกรุงเทพ เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2545 มีการขนถ่ายตู้สินค้าพิพาทขึ้นจากเรือนำไปจัดวางในลานพักตู้สินค้าขาเข้าของจำเลยที่ 3 วันที่ 9 ตุลาคม 2545 ผู้ซื้อติดต่อขอรับตู้สินค้านำไปเปิดที่โรงงานของผู้ซื้อที่จังหวัดสมุทรสาคร พบว่าสินค้าพิพาทที่บรรจุอยู่ในตู้สินค้าบางส่วนเปียกน้ำจึงแจ้งให้โจทก์ทราบ โจทก์ได้มอบหมายให้บริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์เวย์ (เอเชีย) จำกัด ตรวจสอบความเสียหายของสินค้า พบว่ามีสินค้าเปียกน้ำรวม 414 กล่อง จำนวน 1,656 ม้วน ไม่สามารถนำไปใช้งานได้ ตามบันทึกการตรวจนับสินค้า ผู้ซื้อได้เรียกร้องให้จำเลยทั้งสามรับผิดชอบในความเสียหายของสินค้า แต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย ผู้ซื้อจึงเรียกร้องมายังโจทก์ผู้รับประกันภัย โจทก์ได้พิจารณาจ่ายค่าสินไหมทดแทนจำนวน 846,110 บาท ให้แก่ผู้ซื้อหรือผู้เอาประกันภัยเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2546
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ในข้อแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ว่า การที่กรรมการผู้มีอำนาจโจทก์เพียงลงลายมือชื่อในใบแต่งทนายความและประทับตราของบริษัทโดยไม่มีหนังสือมอบอำนาจเฉพาะให้ดำเนินคดี โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า การที่โจทก์โดยนายเชิดชัย และนายอรรณพ กรรมการผู้มีอำนาจร่วมกันลงลายมือชื่อและประทับตราของบริษัทโจทก์ในใบแต่งทนายความแต่งตั้งนายวีระชัย เป็นทนายความของโจทก์และนายวีระชัยได้ลงลายมือชื่อของตนเป็นโจทก์ฟ้องคดีนี้ ถือเป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ด้วยตนเองโดยแต่งตั้งนายวีระชัยเป็นทนายความให้ว่าความและดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้แทนตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 60 วรรคหนึ่ง ไม่ใช่กรณีที่โจทก์มอบอำนาจให้นายวีระชัยเป็นผู้แทนโจทก์ตามมาตรา 60 วรรคสอง ซึ่งต้องมีหนังสือมอบอำนาจให้นายวีระชัยฟ้องคดีนี้ดังที่จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ อุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ในข้อต่อไปมีว่า คำฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 3 ยื่นคำให้การต่อสู้ว่าคำฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางชอบที่จะวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายเบื้องต้นให้ยกฟ้องโจทก์ได้ การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางดำเนินกระบวนพิจารณาโดยสั่งให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องมาใหม่โดยอาศัยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 30 ประกอบข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2540 ข้อ 6 และวินิจฉัยว่า คำฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม เป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า กระบวนพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีบัญญัติไว้โดยเฉพาะในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 ซึ่งมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวได้บัญญัติรับรองในส่วนการดำเนินคดีแพ่งไว้ว่า กระบวนพิจารณาในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ และข้อกำหนดตามมาตรา 30 ในกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติและข้อกำหนดดังกล่าว ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม ในข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2540 ซึ่งออกตามความในมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ข้อ 6 ได้กำหนดหลักเกณฑ์ของคำฟ้องในคดีแพ่งไว้ว่า คำฟ้องที่แสดงให้พอเข้าใจได้ถึงสภาพแห่งข้อหา ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ให้ถือว่าเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมาย ตามคำให้การของจำเลยที่ 3 ได้บรรยายกล่าวอ้างว่าคำฟ้องโจทก์เคลือบคลุมไว้ว่า คำฟ้องของโจทก์มิได้ระบุถึงมูลค่าและความเสียหายที่ชัดเจนและยังปราศจากหลักฐานอ้างอิง ทำให้ไม่อาจทราบได้ว่ามีความเสียหายอย่างไรบ้าง เห็นว่า เมื่อพิจารณาคำฟ้องของโจทก์ที่เสนอต่อศาลแต่แรกแล้ว สามารถเข้าใจได้ว่าผู้ซื้อได้สั่งซื้อกระดาษห่อลูกอมจากผู้ขายที่ประเทศเวียดนามจำนวน 5,000 ม้วน ราคาซื้อขายรวมค่าขนส่งเป็นเงิน 53,500 ดอลลาร์-สหรัฐ ผู้ซื้อได้เอาประกันภัยสินค้าดังกล่าวไว้กับโจทก์ ส่วนผู้ขายได้ว่าจ้างจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่งสินค้า จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 ขนส่งสินค้าดังกล่าวโดยทางเรือมาเพื่อส่งมอบแก่ผู้ซื้อในประเทศไทย จำเลยที่ 1 และที่ 2 นำตู้สินค้าบรรจุสินค้าพิพาทมาส่งมอบให้จำเลยที่ 3 ที่ท่าเรือกรุงเทพ และเมื่อผู้ซื้อมารับตู้สินค้าไปเปิดพบว่าสินค้าพิพาทเปียกน้ำได้รับความเสียหายจำนวน 414 กล่อง รวม 1,658 ม้วน ผู้ซื้อเรียกร้องให้โจทก์ชดใช้โจทก์ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ผู้ซื้อเป็นเงิน 846,110 บาท จึงมาฟ้องเรียกร้องให้จำเลยทั้งสามรับผิดเป็นคำฟ้องที่พอเข้าใจได้แล้วว่า ความเสียหายของสินค้านั้นเป็นเงินจำนวน 846,100 บาท ส่วนจำนวนค่าเสียหายจะคำนวณมาได้อย่างไร มีหลักฐานอ้างอิงหรือไม่ เป็นเรื่องที่โจทก์สามารถนำสืบให้ได้ความในชั้นพิจารณา ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า คำฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 30 ประกอบข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2540 ข้อ 6 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย กรณีไม่อาจนำหลักเกณฑ์ของคำฟ้องในคดีแพ่งทั่วไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง มาใช้บังคับแก่คดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศได้ และการที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางสั่งให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องให้ชัดเจนขึ้นก็เป็นการใช้อำนาจตามข้อกำหนด ข้อ 6 วรรคสอง เพื่อประโยชน์แก่จำเลยที่ 3 เอง อุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ว่า สินค้าพิพาทได้รับความเสียหายขณะอยู่ในความดูแลรักษาของจำเลยที่ 3 หรือไม่ เห็นว่า การขนส่งคดีนี้เป็นการขนส่งในเทอม CY/CY หรือ FCL/FCL ผู้ซื้อหรือผู้รับตราส่งมีหน้าที่รับตู้สินค้าจากจำเลยที่ 3 ไปเปิดยังโรงงานหรือโกดังของผู้รับตราส่ง ส่วนจำเลยที่ 3 มีหน้าที่ส่งมอบตู้สินค้าให้แก่ผู้รับตราส่งในสภาพเรียบร้อย นายเชวง เจ้าหน้าที่ศุลกากรผู้ทำหน้าที่ตรวจปล่อยสินค้าพยานจำเลยที่ 3 เบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงว่า การเปิดตู้สินค้าก่อนส่งมอบตู้สินค้าให้แก่ผู้รับตราส่งนั้น เป็นการเปิดตู้สินค้าเพื่อตรวจดูว่าสินค้าที่นำเข้ามามีชนิด ประเภทตรงตามที่สำแดงไว้ในใบขนส่งสินค้าหรือไม่ รวมทั้งตรวจดูว่าสินค้ามีความเสียหายหรือไม่ หากพบความเสียหายของสินค้าก็จะบันทึกไว้ การตรวจก็จะตรวจโดยการสุ่ม สินค้าพิพาทมีทั้งหมด 1,250 หีบห่อ พยานสุ่มตรวจจำนวน 6 หีบห่อ ไม่มีปัญหาและไม่พบความเสียหายของสินค้าจึงตรวจปล่อยสินค้าออกไปได้ หลังจากนั้นมีการปิดตู้สินค้าและซีลด้วยนอตเหล็กอีกครั้งหนึ่ง ก่อนที่ผู้รับตราส่งจะลากตู้สินค้าออกไปจากลานพักสินค้าของจำเลยที่ 3 แต่ทั้งนี้หากมีปัจจัยอื่นที่ไม่อาจนำตู้สินค้าออกไปได้ ผู้นำเข้าหรือผู้รับตราส่งต้องติดต่อกับจำเลยที่ 3 และถือว่าสินค้าดังกล่าวยังอยู่ในอารักขาของศุลกากร จะเห็นได้ว่าการเปิดตู้สินค้าของเจ้าหน้าที่ศุลกากรเพื่อตรวจปล่อยสินค้าเป็นกระบวนพิธีศุลกากร มิใช่การตรวจเพื่อส่งมอบสินค้าพิพาทให้แก่ผู้รับตราส่ง กรณีนี้เป็นการขนส่งสินค้าในระบบตู้สินค้าเทอม CY/CY หรือ FCL/FCL การที่ผู้รับตราส่งรับตู้สินค้าไปจากจำเลยที่ 3 โดยไม่มีข้อทักท้วงเรื่องความเสียหายของสินค้า จึงไม่อาจถือได้ว่าสินค้าพิพาทมิได้มีความเสียหายในขณะนั้นและผู้รับตราส่งรับมอบสินค้าไปจากจำเลยที่ 3 โดยมิได้อิดเอื้อน ข้อบังคับว่าด้วยระเบียบความปลอดภัยการใช้ท่าเรือบริการและความสะดวกต่าง ๆ ของกิจการท่าเรือ ข้อ 53 ที่ว่าบุคคลใดรับมอบสินค้าไปจากจำเลยที่ 3 โดยไม่อิดเอื้อน และข้อ 57 วรรคสอง (ข) ที่ว่าถ้าผู้รับสินค้าไม่เรียกร้องค่าเสียหายเป็นหนังสือภายใน 7 วัน นับแต่วันรับมอบสินค้า จำเลยที่ 3 จะไม่รับผิดชอบ ไม่อาจนำมาใช้บังคับแก่การรับมอบตู้สินค้าจากจำเลยที่ 3 เพื่อนำไปเปิดที่โรงงานของผู้รับตราส่งอย่างเช่นกรณีนี้ได้ เพราะตู้สินค้าไม่ใช่สินค้าตามความหมายของข้อบังคับดังกล่าว
จากสภาพของสินค้าพิพาทจำนวน 1,250 หีบห่อ วางเรียงรายซ้อนกันเป็นชั้น ๆ ในตู้สินค้าจนเต็มตู้สินค้าปรากฏว่าหีบห่อของสินค้าชั้นล่างสุดเปียกน้ำที่ไม่ใช่น้ำทะเลมีความชื้นได้รับความเสียหาย จากคำเบิกความของนายเชวงเจ้าหน้าที่ศุลกากรผู้ทำหน้าที่ตรวจปล่อยสินค้าพิพาทพยานจำเลยที่ 3 ได้ความว่า ตู้สินค้าที่บรรจุสินค้าพิพาทถูกวางไว้ที่ลานวางตู้สินค้าขาเข้าชั้นล่างสุด โดยวางไว้บนพื้นของลานวางตู้สินค้า และข้อเท็จจริงได้ความว่าในช่วงที่ตู้สินค้าดังกล่าวอยู่ในความดูแลรักษาของจำเลยที่ 3 บริเวณลานวางตู้สินค้าพิพาทมีฝนตกหนักหลายวัน โดยเฉพาะวันที่ 7 ตุลาคม 2545 ช่วงเวลา 3.30 นาฬิกา ถึง 9 นาฬิกา ฝนตกหนักที่สุดตามรายงานเหตุการณ์ของนายวิชา พยานของจำเลยที่ 3 ซึ่งมีหน้าที่รับฝากและส่งมอบตู้สินค้าให้แก่ตัวแทนเจ้าของสินค้าของจำเลยที่ 3 รับว่า ฝนตกหนักในช่วงเวลาดังกล่าวทำให้น้ำท่วมพื้นที่ลานวางตู้สินค้าของ ทตส. 1 ทั้งหมด ซึ่งรวมถึงลานวางตู้สินค้าขาเข้าด้วย แม้ ตู้สินค้าคดีนี้จะมิได้วางอยู่ในพื้นที่ลานวางตู้สินค้าขาออกซึ่งมีน้ำท่วมขัง และได้มีการบันทึกหมายเลข ตู้สินค้าที่ถูกน้ำท่วมขังที่วางอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวไว้ ตู้สินค้าที่บรรจุสินค้าพิพาทถูกวางไว้ในลานวาง ตู้สินค้าขาออก แต่ก็เป็นพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมเช่นเดียวกัน แม้จะมิได้ท่วมและขังอยู่เป็นเวลานานเหมือนดังพื้นที่ที่วางตู้สินค้าขาออกซึ่งเป็นพื้นที่ต่ำ แต่กรณีดังกล่าวย่อมเป็นเหตุให้น้ำฝนที่ท่วมอยู่ชั่วเวลาไม่นานก็สามารถซึมผ่านรอยต่อของขอบพื้นตู้สินค้าหรือประตูตู้สินค้าเข้าไปได้ โดยเฉพาะกรณีเวลามีรถวิ่งผ่านทำให้เกิดคลื่นกระฉอก สอดคล้องกับความเสียหายของหีบห่อของสินค้าพิพาทที่เปียกชื้นเฉพาะหีบห่อที่วางอยู่ชั้นล่างสุดติดกับพื้นของตู้สินค้าและการพบเชื้อราที่ตัวสินค้าที่เปียกชื้นก็ไม่ใช่ข้อบ่งชี้ว่า ความเปียกชื้นได้เกิดขึ้นก่อนที่สินค้าพิพาทจะอยู่ในความดูแลรักษาขอจำเลยที่ 3 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าความเสียหายของสินค้าพิพาทเกิดขึ้นขณะที่ตู้สินค้าพิพาทอยู่ในความดูแลรักษาของจำเลยที่ 3
จำเลยที่ 3 ซึ่งมีหน้าที่รับดูแลรักษาตู้สินค้า ย่อมต้องหาพื้นที่จัดวางตู้สินค้าให้เหมาะสม ต้องป้องกันมิให้เกิดน้ำท่วมขังตู้สินค้า เพราะเล็งเห็นอยู่แล้วว่าน้ำอาจซึมเข้าไปในตู้สินค้า ทำความเสียหายแก่สินค้าภายในตู้สินค้าได้ เมื่อจำเลยที่ 3 ไม่สามารถป้องกันมิให้น้ำท่วมขังและซึมเข้าไปภายในตู้สินค้า ทำให้สินค้าพิพาทเปียกชื้นได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดในความเสียหายของสินค้าพิพาท
ส่วนที่จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ว่า ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่รับวินิจฉัยประเด็นเรื่องอายุความที่จำเลยที่ 3 ได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การเป็นการไม่ชอบ เพราะเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่ศาลสามารถหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เองนั้น เห็นว่า บทบัญญัติในเรื่องของคำให้การนั้น พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 และข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2540 มิได้บัญญัติและออกข้อกำหนดไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง บัญญัติว่า ให้จำเลยแสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การว่า จำเลยยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการนั้น ปรากฏว่าในคำให้การของจำเลยที่ 3 บรรยายข้อต่อสู้เรื่องอายุความไว้เพียงว่า ความเสียหายที่อ้างว่าได้เกิดขึ้น โจทก์ได้ฟ้องร้องเกินกว่ากำหนดอายุความฝากทรัพย์และอายุความละเมิดแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้อง เห็นว่า เป็นคำให้การที่มิได้แสดงเหตุแห่งการขาดอายุความว่า คดีโจทก์ขาดอายุความเพราะอะไร ทำไมถึงขาดอายุความ ถือเป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งปัญหาเรื่องคดีขาดอายุความเป็นทั้งปัญหาข้อเท็จจริงที่คู่ความต้องนำสืบ และหากเป็นปัญหาข้อกฎหมายก็ไม่ใช่ข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลจึงไม่อาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่รับวินิจฉัยปัญหาเรื่องอายุความมานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 3 ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 10,000 บาท แทนโจทก์

Share