แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
อธิบดีกรมอัยการลงลายมือชื่อรับรองในอุทธรณ์ว่า “รูปคดีมีเหตุอันสมควรที่ศาลอุทธรณ์จะได้วินิจฉัยในปัญหาข้อเท็จจริงข้าพเจ้าจึงขอรับรองอุทธรณ์ของโจทก์ เพื่อศาลอุทธรณ์จะได้พิจารณาพิพากษาต่อไป” เป็นการรับรองในอุทธรณ์ว่ามีเหตุอันควรที่ศาลอุทธรณ์จะได้วินิจฉัยตรงตามที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงฯ มาตรา 22 ทวิบัญญัติไว้ การที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยในปัญหาข้อเท็จจริงให้โจทก์จึงชอบแล้ว ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยมีคำสั่งเรื่องการลงนามแทนผู้ว่าการว่า ในกรณีที่เป็นเรื่องปกติของฝ่ายการธนาคาร ให้ผู้อำนวยการฝ่ายการธนาคารหรือรองผู้อำนวยการตามที่ได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการฝ่ายการธนาคารเป็นผู้ลงนามแทนผู้ว่าการได้ ดังนี้เมื่อปรากฏว่า ม. ผู้อำนวยการฝ่ายการธนาคารของธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นผู้เสียหายคดีนี้ได้ลงนามในเอกสารแทนผู้ว่าการถึงผู้บังคับการกองปราบปรามร้องทุกข์ขอให้ดำเนินคดีอาญาต่อจำเลยในข้อหาฉ้อโกงทรัพย์ของผู้เสียหายกับมอบอำนาจให้ ล.เป็นผู้ดำเนินการแทน ซึ่ง ล. ก็ได้ร้องทุกข์และลงลายมือชื่อในบันทึกมอบคดีความผิดอันยอมความได้แล้ว ถือได้ว่าผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ตามกฎหมายแล้ว เพราะการร้องทุกข์เป็นเรื่องปกติธรรมดาของผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดอาญาในคดีความผิดต่อส่วนตัวที่จะต้องปฏิบัติ หาใช่เรื่องผิดปกติไม่ เมื่อศาลอุทธรณ์วินิจฉัยในปัญหาข้อเท็จจริงว่า ผู้เสียหายร้องทุกข์ในคดีความผิดต่อส่วนตัวแล้ว โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องคดีจึงจำเป็นต้องวินิจฉัยในปัญหาข้อเท็จจริงตามคำฟ้องของโจทก์ว่าจำเลยได้กระทำความผิดหรือไม่ แต่ศาลชั้นต้นยังมิได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงดังกล่าว ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจสั่งให้ศาลชั้นต้นพิจารณาปัญหาข้อเท็จจริงเช่นว่านั้น แล้วพิพากษาไปตามรูปความได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 240(3) ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 แต่เนื่องจากศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์จำเลยมาครบถ้วนพอที่จะพิพากษาคดีไปได้แล้ว เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่า ไม่สมควรที่จะย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจที่จะวินิจฉัยโดยเพียงแต่พิจารณาฟ้องอุทธรณ์คำแก้อุทธรณ์ เอกสารและหลักฐานทั้งปวงในสำนวนความซึ่งศาลชั้นต้นส่งมาว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้องโจทก์หรือไม่ แล้วพิพากษาคดีไปตามรูปความนั้นได้ตามที่ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 240 บัญญัติไว้ในตอนต้น ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 341
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์โดยอธิบดีกรมอัยการลงลายมือชื่อรับรองในอุทธรณ์ว่ามีเหตุอันควรที่ศาลอุทธรณ์จะได้วินิจฉัย
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341, 83 จำคุก 1 ปี
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยฎีกาในข้อแรกว่า ศาลชั้นต้นวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงว่า ผู้เสียหายไม่ได้ร้องทุกข์ โจทก์จึงอุทธรณ์โต้เถียงข้อเท็จจริงว่า ผู้เสียหายร้องทุกข์แล้วไม่ได้ คำรับรองให้อุทธรณ์ของอธิบดีกรมอัยการที่ระบุว่า รูปคดีมีเหตุอันสมควรที่ศาลอุทธรณ์จะได้วินิจฉัยในปัญหาข้อเท็จจริง ไม่ใช่คำรับรองให้อุทธรณ์ข้อเท็จจริงตามที่กฎหมายกำหนด จึงถือไม่ได้ว่ามีคำรับรองโดยชอบด้วยกฎหมาย การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยในปัญหาข้อนี้จึงไม่ชอบนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 22 ทวิ บัญญัติว่า “ในคดีซึ่งต้องห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา 22 ถ้าผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณา…หรืออธิบดีกรมอัยการ…ลงลายมือชื่อรับรองในอุทธรณ์ว่ามีเหตุอันควรที่ศาลอุทธรณ์จะได้วินิจฉัย ก็ให้รับอุทธรณ์นั้นไว้พิจารณาต่อไป” ข้อเท็จจริงปรากฏว่าอธิบดีกรมอัยการได้ลงลายมือชื่อรับรองในอุทธรณ์ว่า “รูปคดีมีเหตุอันสมควรที่ศาลอุทธรณ์จะได้วินิจฉัยในปัญหาข้อเท็จจริง ข้าพเจ้าจึงขอรับรองอุทธรณ์ของโจทก์ เพื่อศาลอุทธรณ์จะได้พิจารณาพิพากษาต่อไป” เป็นการรับรองในอุทธรณ์ว่ามีเหตุอันควรที่ศาลอุทธรณ์จะได้วินิจฉัยตรงตามที่กฎหมายบัญญัติไว้แล้ว ศาลจึงต้องรับอุทธรณ์ดังกล่าวไว้พิจารณาตามกฎหมายดังกล่าว ดังนั้นการที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยในปัญหาข้อเท็จจริงตามอุทธรณ์ของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมาย
ปัญหาต่อไปมีว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้เสียหายได้ร้องทุกข์แล้วหรือไม่ เห็นว่า ตามเอกสารหมาย จ.38 นายเสนาะอูนากูล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีคำสั่งเรื่องการลงนามเพื่อธนาคารแห่งประเทศไทยแทนผู้ว่าการไว้ดังนี้”ก. ในกรณีที่เป็นเรื่องนโยบายให้ผู้อำนวยการฝ่ายการธนาคาร…เสนอผู้ช่วยผู้ว่าการตามสายงานพิจารณาและเสนอผู้ว่าการ หรือรองผู้ว่าการพิจารณาลงนาม ในกรณีที่มิใช่เรื่องปกติให้เสนอผู้ช่วยผู้ว่าการตามสายงานพิจารณาลงนาม ข. ในกรณีที่เป็นเรื่องปกติของฝ่ายการธนาคาร ให้ผู้อำนวยการฝ่ายการธนาคารหรือรองผู้อำนวยการฝ่ายการธนาคารตามที่ได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการฝ่ายการธนาคารเป็นผู้ลงนาม ค. ในกรณีที่เป็นเรื่องปกติของส่วนเงินฝาก…ให้ผู้อำนวยการฝ่ายการธนาคาร…เป็นผู้ลงนาม…” กับปรากฏว่านายมาโนช กาญจนฉายา ผู้อำนวยการฝ่ายการธนาคารของผู้เสียหายได้ลงนามในเอกสารหมายธนาคารแห่งประเทศไทยถึงผู้บังคับการกองปราบปรามร้องทุกข์ขอให้ดำเนินคดีต่อจำเลยในข้อหาฉ้อโกงทรัพย์ของผู้เสียหายกับมอบอำนาจให้นายเลิศศิลป์เป็นผู้ดำเนินการแทน ซึ่งนายเลิศศิลป์ก็ได้ร้องทุกข์และลงลายมือชื่อในบันทึกมอบคดีความผิดอันยอมความได้ตามเอกสารหมาย จ.35 แล้ว ดังนั้นย่อมฟังได้ว่าผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ตามกฎหมายแล้ว เพราะการร้องทุกข์เป็นเรื่องปกติธรรมดาของผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดอาญาในคดีความผิดต่อส่วนตัวที่จะต้องปฏิบัติ หาใช่เรื่องผิดปกติไม่เมื่อผู้อำนวยการฝ่ายการธนาคารของผู้เสียหายถูกจำเลยกับพวกหลอกลวงเป็นเหตุให้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์พัฒนาเงินทุน จำกัด ได้ไปซึ่งเงินของผู้เสียหายจากฝ่ายการธนาคาร และผู้อำนวยการฝ่ายการธนาคารของผู้เสียหายเห็นว่าการกระทำของจำเลยกับพวกเป็นความผิดฐานฉ้อโกงย่อมมีอำนาจลงลายมือชื่อในเอกสารหมาย จ.34 แทนผู้เสียหายในการร้องทุกข์ต่อผู้บังคับการกองปราบปราม และมอบอำนาจให้นายเลิศศิลป์เป็นผู้ดำเนินการแทนได้เพราะกิจการดังกล่าวเป็นเรื่องปกติของฝ่ายการธนาคารที่จะต้องปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ว่าการธนาคารของผู้เสียหายตามเอกสารหมาย จ.38
ที่จำเลยฎีกาว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจของศาลชั้นต้น แต่ศาลชั้นต้นยังไม่ได้วินิจฉัยว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยในปัญหาดังกล่าวจึงเป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่าเมื่อศาลอุทธรณ์วินิจฉัยในปัญหาข้อเท็จจริงว่า ผู้เสียหายร้องทุกข์ในคดีความผิดต่อส่วนตัวแล้ว โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง คดีจึงจำเป็นต้องวินิจฉัยในปัญหาข้อเท็จจริงตามคำฟ้องของโจทก์ว่าจำเลยได้กระทำผิดหรือไม่ แต่ศาลชั้นต้นยังมิได้วินิจฉัยในข้อเท็จจริง อันเป็นสาระสำคัญในประเด็นดังกล่าว ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจสั่งให้ศาลชั้นต้นพิจารณาปัญหาข้อเท็จจริงเช่นว่านั้น แล้วพิพากษาไปตามรูปความได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 240(3) ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 แต่เนื่องจากศาลชั้นต้นได้สืบพยานโจทก์จำเลยมาครบถ้วนพอที่จะพิพากษาคดีไปได้แล้วเมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่า ไม่สมควรที่จะย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาในปัญหาข้อเท็จจริงและพิพากษา ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจที่จะวินิจฉัยโดยเพียงแต่พิจารณาฟ้องอุทธรณ์ คำแก้อุทธรณ์เอกสารและหลักฐานทั้งปวงในสำนวนความศาลชั้นต้นมาว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้องของโจทก์หรือไม่ แล้วพิพากษาคดีไปตามรูปความนั้นได้ตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 240 บัญญัติไว้ในตอนต้นประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15แล้ววินิจฉัยข้อเท็จจริงเชื่อว่า จำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้องและกรณีมีเหตุสมควรรอการลงโทษให้จำเลยแต่ควรปรับจำเลยในชั้นสูงสุดด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับจำเลย 6,000 บาท ด้วย ส่วนโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 มีกำหนด 3 ปีนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์