คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3216/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามสัญญาจะซื้อจะขายและพัฒนาที่ดินระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยกำหนดเงื่อนไขในข้อ 1 ว่าในการปลูกสร้างบ้านลงบนที่ดินที่ซื้อขาย ผู้จะซื้อสัญญาว่าจะว่าจ้างผู้จะขายหรือบริษัทในเครือของผู้จะขายเป็นผู้ปลูกสร้างโดยจะใช้แบบของผู้จะขายเท่านั้น และโจทก์ทั้งสองได้ทำสัญญาว่าจ้างบริษัท ท. ปลูกสร้างบ้านแบบกรรณิการ์ลงบนที่ดินที่โจทก์ทั้งสองทำสัญญาจะซื้อจะขายและพัฒนาที่ดินกับจำเลย จำเลยและบริษัท ท. ต่างมี บ. และ ธ. เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนเช่นเดียวกัน สำนักงานที่ตั้งก็เป็นสถานที่เดียวกัน ผู้ลงลายมือชื่อเป็นพยานในสัญญาจะซื้อจะขายและพัฒนาที่ดินและสัญญาว่าจ้างปลูกสร้างบ้านก็เป็นชุดเดียวกัน บริษัท ท. จึงเป็นบริษัทในเครือของจำเลยตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในสัญญาซึ่งต่างมีผลประโยชน์ร่วมกันในการขายที่ดินและบ้านพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสองโดยแบ่งแยกกันทำหน้าที่ดำเนินการในด้านต่างๆ จึงต้องร่วมกันผูกพันตามสัญญาว่าจ้างปลูกสร้างบ้านต่อโจทก์อย่างลูกหนี้ร่วม โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยแต่เพียงผู้เดียวให้รับผิดตามสัญญาดังกล่าวได้ จำเลยจะอ้างการเป็นนิติบุคคลของบริษัท ท. ซึ่งเป็นบริษัทในเครือมาปฏิเสธ เพื่อให้ตนเองหลุดพ้นจากความผูกพันกับบริษัท ท. ที่จะต้องคืนเงินค่าปลูกสร้างบ้านและรั้วบ้านหาได้ไม่
เงินที่โจทก์ทั้งสองมอบให้แก่จำเลยในวันจองซื้อที่ดินพร้อมบ้าน ถือว่าเป็นเงินที่โจทก์ทั้งสองส่งมอบให้แก่จำเลยเพื่อเป็นหลักฐานและเป็นการประกันในการปฏิบัติตามสัญญา จึงเป็นมัดจำ ส่วนเงินที่โจทก์ทั้งสองชำระในวันทำสัญญาจะซื้อจะขายและพัฒนาที่ดินนั้น ตามสัญญาดังกล่าวระบุว่าให้ถือว่าเป็นการชำระหนี้งวดที่ 1 ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของราคาที่โจทก์ทั้งสองชำระค่าที่ดินและค่าพัฒนาที่ดินตามสัญญามิใช่เป็นการให้ไว้เพื่อเป็นประกันการปฏิบัติตามสัญญา จึงไม่ใช่มัดจำ เมื่อโจทก์ทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญาและสัญญาเป็นอันยกเลิก จำเลยย่อมมีสิทธิริบเงินมัดจำนั้นได้ ส่วนเงินค่าที่ดิน ค่าปลูกสร้างบ้าน ค่าสร้างรั้วและค่าต่อเติมบ้านที่โจทก์ทั้งสองชำระให้จำเลย จำเลยจะต้องให้โจทก์ทั้งสองกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม การที่โจทก์ทั้งสองกับจำเลยมีข้อตกลงกันว่าถ้าโจทก์ทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญา สัญญาเป็นอันยกเลิก โจทก์ทั้งสองยินยอมให้ริบเงินที่ได้ชำระไว้แล้วทั้งหมด ข้อตกลงดังกล่าวมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับที่กำหนดเป็นจำนวนเงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 ถ้าสูงเกินส่วน ศาลมีอำนาจลดลงให้เหลือเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง เมื่อลดเบี้ยปรับลงโดยให้จำเลยคืนเบี้ยปรับบางส่วนให้แก่โจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองจึงหามีสิทธิได้ดอกเบี้ยจากเบี้ยปรับที่ได้รับคืนนั้นไม่ เพราะการที่จำเลยริบเงินดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิตามสัญญาโดยชอบ

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 641,250 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 506,897 บาท แก่โจทก์ทั้งสองพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 23 พฤษภาคม 2544) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000บาท สำหรับค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ทั้งสองชนะคดี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยคืนเงินแก่โจทก์ทั้งสองจำนวน 386,897 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นเวลา 4 ปีนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 23 พฤษภาคม 2544) เป็นต้นไป คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนที่เกินให้แก่จำเลย 3,260 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองและจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า จำเลยต้องคืนเงินค่าก่อสร้างบ้านและรั้วบ้านแก่โจทก์ทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า ตามสัญญาจะซื้อจะขายและพัฒนาที่ดินที่โจทก์ทั้งสองกับจำเลยเป็นคู่สัญญากันนั้น กำหนดเงื่อนไขต่อท้ายสัญญาจะซื้อจะขายและพัฒนาที่ดิน ข้อ.1 การปลูกสร้างบ้านลงบนที่ดิน ในการปลูกสร้างบ้านลงบนที่ดินที่ซื้อขาย ผู้จะซื้อสัญญาว่าจะว่าจ้างผู้จะขายหรือบริษัทในเครือของผู้จะขายเป็นผู้ปลูกสร้างโดยจะใช้แบบของผู้จะขายเท่านั้น ซึ่งเงื่อนไข ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาจะซี้อจะขายและพัฒนาที่ดิน ข้อ. 7 โดยคู่สัญญาต้องปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าว ซึ่งในวันเดียวกันกับที่โจทก์ทั้งสองและจำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายและพัฒนาที่ดินนั้น โจทก์ทั้งสองยังได้ทำสัญญาว่าจ้างบริษัทเทอร์ร่าวิสต้า จำกัด ปลูกสร้างบ้านแบบกรรณิการ์ลงบนที่ดินที่โจทก์ทั้งสองทำสัญญาจะซื้อจะขายและพัฒนาที่ดินกับจำเลยอีกด้วย ตามสัญญาว่าจ้างปลูกบ้านซึ่งจำเลยและบริษัทเทอร์ร่าวิสต้า จำกัด ต่างมีนายบัญชาและนายเธียรพันธ์ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนเช่นเดียวกัน สำนักงานที่ตั้งของจำเลยและบริษัทเทอร์ร่าวิสต้า จำกัด ก็เป็นสถานที่แห่งเดียวกัน ผู้ลงลายมือชื่อเป็นพยานในสัญญาจะซื้อจะขายและพัฒนาที่ดินและสัญญาว่าจ้างปลูกสร้างบ้านก็เป็นพยานชุดเดียวกัน จึงเห็นได้ว่าบริษัทเทอร์ร่าวิสต้า จำกัด ซึ่งรับปลูกสร้างบ้านให้แก่โจทก์ทั้งสองเป็นบริษัทในเครือของจำเลยตรงตามที่ระบุไว้ในเงื่อนไขต่อท้ายสัญญาจำเลยกับบริษัทเทอร์ร่าวิสต้า จำกัด ซึ่งรับจ้างปลูกสร้างบ้านและรั้วบ้านให้แก่โจทก์ทั้งสอง ต่างมีผลประโยชน์ร่วมกันในการขายที่ดินและบ้านพิพาทรายนี้ให้แก่โจทก์ทั้งสอง โดยแบ่งแยกกันทำหน้าที่ดำเนินการในด้านต่างๆ ดังจะเห็นได้ว่าในการมีหนังสือขอนัดโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาทไปยังโจทก์ทั้งสองใช้หัวกระดาษระบุชื่อบริษัทเทอร์ร่าวิสต้า จำกัด ส่วนเอกสารประกอบภายในระบุจำนวนเงินที่ต้องชำระแก่บริษัทเทอร์ร่าวิสต้า จำกัด เป็นค่าปลูกสร้างบ้านกับรั้วบ้านกับจำนวนเงินค่าที่ดินที่ต้องชำระแก่จำเลยในวันโอนกรรมสิทธิ์ ส่วนหนังสือขอนัดโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาทที่มีไปยังโจทก์ทั้งสองใช้หัวกระดาษระบุชื่อบริษัทจำเลย ข้อความที่ระบุไว้เหมือนกันกับข้อความและเอกสารประกอบภายในเป็นเอกสารอย่างเดียวกัน โดยผู้ลงลายมือชื่อเป็นบุคคลคนเดียวกัน อีกทั้งจำเลยยังถือเอาประโยชน์จากการกำหนดนัดโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านดังกล่าวที่มีไปถึงโจทก์ทั้งสอง แต่โจทก์ทั้งสองไม่ไปรับโอนกรรมสิทธิ์ตามที่จำเลยและบริษัทเทอร์ร่าวิสต้า จำกัด กำหนดนัด โดยถือว่าโจทก์ทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญาจะซื้อจะขายและพัฒนาที่ดิน สัญญาว่าจ้างปลูกสร้างบ้านและสัญญาว่าจ้างก่อสร้างรั้ว เช่นนี้ ถือว่าจำเลยและบริษัทเทอร์ร่าวิสต้า จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของจำเลยมีผลประโยชน์ร่วมกันในการจัดสรรที่ดินและบ้านที่โจทก์ทั้งสองจองซื้อจากจำเลย จึงต้องร่วมกันผูกพันตามสัญญาดังกล่าวต่อโจทก์ทั้งสองอย่างลูกหนี้ร่วม ดังนั้นโจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยแต่เพียงผู้เดียวให้รับผิดตามสัญญาทั้งหมดดังกล่าวแล้วได้ จำเลยจะอ้างการเป็นนิติบุคคลของบริษัทเทอร์ร่าวิสต้า จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือมาปฏิเสธเพื่อให้จำเลยพ้นจากความผูกพันกับบริษัทเทอร์ร่าวิสต้า จำกัด ที่จะต้องคืนเงินค่าปลูกสร้างบ้านและรั้วบ้านตามฎีกาจำเลยย่อมฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาจำเลยมีว่า จำเลยมีสิทธิริบเงินที่โจทก์ทั้งสองชำระค่าที่ดินตามสัญญาหรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าฝ่ายจำเลยไม่ได้ผิดสัญญา หากแต่โจทก์ทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญาเพราะไม่ไปรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ซึ่งตามสัญญาจะซื้อจะขายและพัฒนาที่ดิน กรณีดังกล่าวให้ถือว่าสัญญาเป็นอันยกเลิกโดยโจทก์ทั้งสองผู้จะซื้อยินยอมให้จำเลยผู้จะขายริบเงินที่ได้ชำระไว้แล้วทั้งหมด ฯลฯ เช่นนี้ คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคหนึ่ง ซึ่งข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ทั้งสองชำระเงินจำนวน 20,000 บาท ให้แก่จำเลยในวันจอง ถือว่าเงินจำนวนนี้เป็นเงินที่โจทก์ทั้งสองได้ส่งมอบให้แก่จำเลยเพื่อเป็นพยานหลักฐานและเป็นการประกันในการปฏิบัติตามสัญญา จึงเป็นมัดจำ ส่วนเงินที่โจทก์ทั้งสองชำระอีกจำนวน 32,500 บาท ในวันทำสัญญาจะซื้อจะขายและพัฒนาที่ดินนั้น ตามสัญญาจะซื้อขายและพัฒนาที่ดินดังกล่าวระบุชัดเจนว่า ให้ถือว่าเป็นการชำระหนี้งวดที่ 1 ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของราคาที่โจทก์ทั้งสองชำระค่าที่ดินและค่าพัฒนาที่ดินตามสัญญา มิใช่เป็นการให้ไว้เพื่อเป็นประกันการปฏิบัติตามสัญญา จึงมิใช่ค่ามัดจำ ดังนั้น เมื่อโจทก์ทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญาและสัญญาเป็นอันยกเลิกแล้ว จำเลยจึงมีสิทธิริบมัดจำจำนวน 20,000 บาท ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 378 (2) นอกจากนี้โจทก์ทั้งสองยังชำระค่าจ้างปลูกสร้างบ้านไปแล้วจำนวน 192,052 บาท ตามใบเสร็จรับเงินค่าสร้างรั้วจำนวน 52,048 บาทและค่าต่อเติมบ้านจำนวน 6,129 บาท รวมเงินที่โจทก์ทั้งสองชำระเป็นค่าที่ดิน, ค่าปลูกสร้างบ้าน ค่าสร้างรั้ว และค่าต่อเติมบ้านหลังจากที่จำเลยมีสิทธิริบมัดจำจำนวน 20,000 บาท แล้วเป็นเงิน 606,897 บาท ซึ่งเงินจำนวนนี้จำเลยจะต้องให้โจทก์ทั้งสองกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม แต่การที่โจทก์ทั้งสองกับจำเลยตกลงกันว่าถ้าโจทก์ทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญา สัญญาเป็นอันยกเลิก โจทก์ทั้งสองยินยอมให้จำเลยริบเงินที่ได้ชำระไว้แล้วทั้งหมดตามสัญญา ข้อตกลงตามสัญญาดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับที่กำหนดเป็นจำนวนเงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 และถ้าเบี้ยปรับสูงเกินส่วน ศาลก็มีอำนาจลดลงให้เหลือเป็นจำนวนพอสมควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 เมื่อที่ดินและบ้านตามสัญญายังเป็นของจำเลยอย่างสมบูรณ์ ซึ่งจำเลยสามารถนำไปจำหน่ายแก่ผู้อื่นในสภาพใหม่ได้ และยังได้ความจากนายบัญชา พยานจำเลยซึ่งเป็นกรรมการจำเลยเบิกความตอบทนายโจทก์ทั้งสองถามค้านและทนายจำเลยถามติงได้ความเป็นอย่างเดียวกันว่า โครงการของจำเลยที่ยังไม่แล้วเสร็จมีสนามเด็กเล่น สระว่ายน้ำ และสโมสร โดยไม่ได้กำหนดเวลาที่จะทำการให้แล้วเสร็จ ซึ่งโจทก์ทั้งสองทำสัญญาจะซื้อจะขายและพัฒนาที่ดินกับจำเลย เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2537 จนถึงวันที่พยานจำเลยดังกล่าวเบิกความคือวันที่ 18 กรกฎาคม 2546 เป็นเวลาประมาณ 9 ปี โครงการบ้านจัดสรรของจำเลยก็ยังไม่สร้างให้เสร็จสมบูรณ์ เช่นนี้ พิเคราะห์ถึงทางได้เสียของจำเลยทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดให้จำเลยริบเบี้ยปรับได้ 220,000 บาท จึงเป็นจำนวนเงินสมควรแล้ว เมื่อนำเงินเบี้ยปรับจำนวนดังกล่าวไปหักจากเงินค่าที่ดิน ค่าปลูกสร้างบ้าน ค่าสร้างรั้ว และค่าต่อเติมบ้านจำนวน 606,897 บาทแล้ว จำเลยจึงต้องคืนเงินจำนวน 386,897 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง ส่วนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปนั้น เห็นว่า เมื่อโจทก์ทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยจึงมีสิทธิริบเงินที่โจทก์ทั้งสองชำระไปแล้วได้ตามข้อ 6.2 ของสัญญา เมื่อศาลฎีกาพิพากษาลดเบี้ยปรับลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคหนึ่ง โดยให้จำเลยคืนเบี้ยปรับบางส่วนให้แก่โจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองจึงหามีสิทธิได้ดอกเบี้ยจากเบี้ยปรับที่ได้รับคืนนั้นไม่ เพราะการที่จำเลยริบเงินดังกล่าวไว้เป็นการใช้สิทธิตามสัญญาโดยชอบ ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยดังกล่าวแก่โจทก์ทั้งสองด้วย จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 386,897 บาท แก่โจทก์ทั้งสองโดยไม่ต้องชำระดอกเบี้ย ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาในส่วนของจำเลยและค่าทนายความทั้งสองฝ่ายชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้ยกฎีกาของโจทก์ทั้งสอง คืนค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาทั้งหมดแก่โจทก์ทั้งสอง

Share