แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์และจำเลยต่างนำสืบโต้แย้งแย่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทกันอยู่ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ความชัดว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์จริงหรือไม่ มูลกรณีจึงเป็นเรื่องคดีแพ่งไม่ใช่คดีอาญา การที่จำเลยเข้าไปในที่ดินพิพาทแล้วตักดินและต้นไม้ไปจึงไม่เป็นความผิดฐานบุกรุกและลักทรัพย์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 3171ตำบลหัวตลาด (บางมัญ) อำเภอเมืองสิงห์บุรี จังหวัดสิงห์บุรีร่วมกับทายาทของนายเขียว นางเพ็ง รวม 6 คน และได้แบ่งการครอบครองเป็นสัดส่วนโดยของโจทก์ได้สิทธิในที่ดินเนื้อที่ 2 งานเศษอยู่ทางด้านทิศเหนือติดกับส่วนของนางนิตย์ เพ็งสุวรรณ แล้วโจทก์ได้ปลูกต้นไม้ยืนต้นประเภทต่าง ๆ และพืชผักสวนครัวไว้เพื่อจำหน่ายต่อมาวันที่ 23 ถึง 26 กุมภาพันธ์ 2533 เวลากลางวันและเวลากลางคืนติดต่อกันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยทั้งสี่ได้ร่วมกันบุกรุกเข้าไปในที่ดินของโจทก์ใช้รถไถรถตักดินไถและตักดิน ทำลายต้นไม้ของโจทก์และร่วมกันลักเอาดินไปโดยขุดลึกประมาณ 1.50 เมตร เนื้อที่ประมาณ 2 งาน ราคา 86,400 บาท และร่วมกันลักต้นไม้ของโจทก์ไปเป็นการทำให้เสียหาย และเพื่อถือการครอบครองที่ดินอันเป็นอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ เหตุเกิดที่ตำบลบางมัญอำเภอเมืองสิงห์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 84, 91, 334, 335 (1)(7)(12), 358,359(4), 362, 363, 365(2)(3)
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีโจทก์ไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(1)(7)(12) วรรคสาม, 358, 359(4),362, 364(2)(3) ให้เรียงกระทงลงโทษตามมาตรา 91 ฐานลักทรัพย์จำคุกคนละ 2 ปี ฐานทำให้เสียทรัพย์จำคุกคนละ 3 เดือน และฐานบุกรุกจำคุกคนละ 1 ปี รวมจำคุกคนละ 3 ปี 3 เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ฎีกา
ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 จำเลยทั้งสามไม่คัดค้าน ศาลฎีกาเห็นว่าเฉพาะข้อหาทำให้เสียทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358, 359เป็นคดีอาญาความผิดต่อส่วนตัว โจทก์จะถอนฟ้องในเวลาใดก่อนคดีถึงที่สุดก็ได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ไม่คัดค้าน จึงอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์เฉพาะข้อหาทำให้เสียทรัพย์ย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 39(2) ให้จำหน่ายคดีเฉพาะข้อหาดังกล่าวจากสารบบความแต่สำหรับข้อหาลักทรัพย์และบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335,365 มิใช่คดีความผิดต่อส่วนตัวและศาลชั้นต้นกับศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาคดีนี้แล้วจึงถอนฟ้องไม่ได้ ศาลฎีกาไม่อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องทั้งสองข้อหาดังกล่าวให้ยกคำร้องของโจทก์ในส่วนนี้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงที่ไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้ฟังได้ว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 3171 ตำบลหัวตลาด (บางรามัญ)อำเภอเมืองสิงห์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี ตามเอกสารหมาย จ.5มีเนื้อที่ 3 ไร่ 1 งาน เดิมเป็นของนายเขียวนางเพ็งสามีภริยาถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน นายเขียวและนางเพ็งมีบุตรรวม 7 คนคือ นางเทียบ พระกลีบ(มรณภาพแล้ว) นายกลั่น นางสาวเผือดนายปลด นางเล็กและนายแปลก โจทก์เป็นบุตรของนางเทียบ นายนวมนายประสงค์ ดำรงค์สิทธิ์ เป็นบุตรนายแปลก นางสนุ่นเป็นบุตรนายกลั่น เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2511 นายประสงค์รับโอนมรดกที่ดินดังกล่าวมาเป็นของตน และในวันเดียวกันนั้นนายประสงค์ได้จดทะเบียนกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินดังกล่าวให้แก่นายปลดนางสาวเผือด นางเล็ก นางสนุ่น และโจทก์ด้วยโดยมีบันทึกข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์รวมตามเอกสารหมาย จ.6 ที่ดินพิพาทที่โจทก์อ้างว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ เป็นส่วนหนึ่งของที่ดินแปลงดังกล่าวมีเนื้อที่ประมาณ 200 ตารางวา อยู่ถัดจากที่ดินส่วน 200ตารางวา ด้านเหนือสุดลงไปทางด้านใต้ ที่ดินพิพาทกับที่ดินส่วนที่อยู่เหนือสุดรวมเนื้อที่ประมาณ 400 ตารางวา ดังกล่าวเป็นที่ดอนถัดจากที่พิพาทไปทางด้านใต้เป็นที่ดินส่วนที่เหลือทั้งหมด มีเนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ 1 งาน เป็นที่ลุ่ม ขณะนี้เป็นของจำเลยที่ 1ซึ่งให้จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ใช้เป็นที่ทำนา เมื่อวันที่ 24ต่อเนื่องถึงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2533 จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2ได้ร่วมกันจัดให้คนเข้าไปตักดินในที่ดินพิพาทออกไป ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในชั้นนี้มีว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันบุกรุกแล้วลักตักเอาดินและต้นไม้ในที่ดินพิพาทไปตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่โจทก์นำสืบว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ โดยมีตัวโจทก์นางนิตย์ เพ็งสุวรรณ นางชม ดำรงค์สิทธิ พันเอกวิเชียร พลอยบุตรนายแช่ม จันทะมาณ มาเบิกความเป็นพยานใจความว่าเดิมที่ดินพิพาททั้งแปลงเนื้อที่ 3 ไร่ 1 งาน เป็นของนายเขียวและนางเพ็งซึ่งมีบุตรรวม 7 คนแต่ถึงแก่กรรมไป 1 คน คงเหลือเพียง 6 คน ภายหลังจากนายเขียวและนางเพ็งถึงแก่กรรมไปแล้ว นายประสงค์บุตรนายแปลกซึ่งเป็นบุตรคนหนึ่งของนายเขียวนางเพ็งได้ไปขอรับมรดกที่ดินแปลงดังกล่าวทั้งหมดคนเดียว แต่นายปลดบุตรอีกคนหนึ่งของนายเขียวนางเพ็งได้ไปคัดค้าน นายประสงค์จึงแบ่งที่ดินนั้นให้แก่ทายาทของนายเขียวนางเพ็งทั้งหกคน คนละหนึ่งส่วนเฉพาะโจทก์ได้รับมรดกที่ดินส่วนของนางเทียบมารดาคือที่ดินพิพาทส่วนนายประสงค์ได้รับที่ดินส่วนของนายแปลกบิดาตามเอกสารหมายจ.2 ถึง จ.6 ฝ่ายจำเลยนำสืบว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1โดยมีตัวจำเลยที่ 1 และนายประสงค์มาเบิกความเป็นพยานใจความว่าภายหลังจากที่นายเขียวและนางเพ็งถึงแก่กรรมแล้ว นายแปลกบิดาของนายประสงค์เพียงคนเดียวที่ครอบครองที่ดินพิพาททั้งแปลงเมื่อนายแปลกถึงแก่กรรมในปี 2499 นายประสงค์ก็ทำประโยชน์ในที่ดินนั้นต่อมาและได้ไปขอรับมรดกที่ดินดังกล่าวทั้งโฉนดในปี 2511แต่มีนายปลดซึ่งเป็นลุงของนายประสงค์มาขอที่ดินนั้น 2 งานนายประสงค์ยินยอม ต่อมาในวันโอนที่ดินนายปลดพานางเล็กนางสาวเผือด นางสนุ่นและโจทก์มาขอมีชื่อร่วมในส่วนที่ดิน2 งานส่วนของนายปลดด้วย นางประสงค์ก็ยินยอมดังบันทึกข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์รวมตามเอกสารหมาย จ.6 และโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.5 ซึ่งมีข้อความว่านายประสงค์ยินยอมให้นายปลดนางสาวเผือด นางเล็ก นางสนุ่น และนายจำนงค์ถือกรรมสิทธิ์ร่วมด้วย 1 ใน 6 ส่วน ที่ดินที่โจทก์กับพวกได้รับมาจำนวน 2 งานนี้คือที่ดินส่วนที่อยู่เหนือสุดของเขตที่ดิน ส่วนที่ดินที่เหลือทั้งหมดถัดลงมาจำนวน 2 ไร่ 3 งาน เป็นของนายประสงค์ต่อมาเมื่อต้นปี 2532 นายประสงค์ขายที่ดินส่วนของตนทั้งหมดให้แก่จำเลยที่ 1 ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินที่จำเลยที่ 1ซื้อมาจากนายประสงค์ จำเลยที่ 1 ให้คนไปตักดินในที่พิพาทซึ่งเป็นที่ดอนออกเพราะจำเลยที่ 2 จะเอาที่ดินนั้นไปใช้ทำนาเห็นว่า แม้โจทก์จะนำสืบอ้างว่าที่ดินพิพาทจำนวน 200 ตารางวาเป็นของโจทก์คนเดียวและโจทก์เป็นฝ่ายครอบครองอยู่ก็ตาม แต่ฝ่ายจำเลยมีนายประสงค์เป็นพยานสนับสนุนคำเบิกความของจำเลยที่ 1 ว่า ในการขายที่ดินส่วนของตนจำนวน 2 ไร่ 3 งาน ให้จำเลยที่ 1 นั้นนายประสงค์ได้ชี้แนวเขตที่ดินที่จะขายซึ่งรวมที่ดินพิพาทอยู่ด้วยให้จำเลยที่ 1 ทราบไว้ก่อนแล้ว และนายประสงค์ยังเบิกความยืนยันว่าที่ดิน 2 งาน ส่วนที่ยกให้นายปลดถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับบุคคลอื่นรวมทั้งโจทก์นั้นอยู่เหนือถัดจากที่ดินพิพาทขึ้นไปนอกจากนั้นจำเลยมีนายประเจตต์ ไชยูปถัมภ์ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสิงห์บุรีเป็นพยานเบิกความสนับสนุนว่า เมื่อดูตามโฉนดที่ดินพิพาทแล้วนายประสงค์จดทะเบียนกรรมสิทธิ์รวมให้แก่บุคคลภายนอก 5 คน เพียง 1 ใน 6 ส่วน กล่าวคือที่ดินทั้งหมดมีเนื้อที่1,300 ตารางวา (หรือ 3 ไร่ 1 งาน) บุคคลภายนอก 5 คน มีกรรมสิทธิ์ร่วม 1 ใน 6 ส่วน คิดเป็นเนื้อที่เพียง 200 ตารางวาเศษบุคคลภายนอก5 คน จึงมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินคนละประมาณ 43 ตารางวา ส่วนของนายประสงค์มีกรรมสิทธิ์อยู่ 5 ใน 6 ส่วน คิดเป็นเนื้อที่ได้1,083.33 ตารางวาตามคำเบิกความของนายประเจตต์เป็นการสนับสนุนคำเบิกความของนายประสงค์ว่า ที่ดินที่นายประสงค์ขายให้จำเลยที่ 1 มีเนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ 3 งานเป็นความจริงทั้งแสดงให้เห็นได้ว่าเมื่อดูข้อความตามโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.5แล้ว โจทก์คงมีกรรมสิทธิ์ในส่วนของที่ดินอยู่เพียงประมาณ 43 ตารางวาตรงกับคำของนายประสงค์ มิใช่ 200 ตารางวา ดังที่โจทก์อ้างอีกประการหนึ่งตามคำร้องของโจทก์ที่ยื่นในชั้นฎีกาลงวันที่ 7ตุลาคม 2536 เรื่องขอให้ลงโทษจำเลยสถานเบานั้นโจทก์เองก็ยอมรับว่าจำเลยที่ 1 คงเข้าใจตามคำบอกเล่าของนายประสงค์และข้อความที่ระบุไว้ในโฉนดที่ดิน ทำให้เกิดการเข้าใจผิดจนเกิดเหตุพิพาทคดีนี้ตามพฤติการณ์ดังที่ได้วินิจฉัยมา รูปคดีเป็นเรื่องที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างนำสืบโต้แย้งแย่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทกันอยู่ข้อเท็จจริงดังกล่าวยังฟังไม่ได้ความชัดว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์จริงหรือไม่ มูลกรณีจึงเป็นเรื่องคดีแพ่งไม่ใช่คดีอาญาการกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ตามที่โจทก์นำสืบหาว่า ร่วมกันเข้าไปในที่ดินพิพาทแล้วตักเอาดินและต้นไม้ไป จึงไม่เป็นความผิดฐานบุกรุกและลักทรัพย์จึงลงโทษจำเลยทั้งสามตามข้อหาความผิดดังกล่าวไม่ได้ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ชอบแล้ว”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์