คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6712/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ เมื่อคณะรัฐมนตรีประกาศให้การเวนคืนเป็นกรณีที่มีความจำเป็นโดยเร่งด่วน หากเจ้าหน้าที่เวนคืนจัดให้มีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนในกรณีที่ตกลงกันได้หรือ วางเงินค่าทดแทนในกรณีที่ไม่อาจตกลงกันได้ ให้ถือว่ามีการโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์นับแต่วันชำระเงินหรือวางเงินทดแทนตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 13 วรรคท้ายประกอบมาตรา 11 วรรคสอง
ที่ดินโจทก์ทั้งสองแปลงถูกเวนคืนเป็นกรณีที่มีความจำเป็นโดยเร่งด่วน กรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้งสองแปลงส่วนที่ถูกเวนคืนย่อมตกเป็นของฝ่ายจำเลยตั้งแต่วันที่ 7 กันยายน 2541 อันเป็นวันที่ฝ่ายจำเลยได้วางเงินค่าทดแทนที่ดินทั้งสองแปลงโดยนำไปฝากไว้กับธนาคารออมสิน สาขาชัยภูมิ ในนามของโจทก์ซึ่งเป็นวันก่อนที่พระราชกฤษฎีกาฯ สิ้นผลใช้บังคับโดยไม่ต้องมีการตราพระราชบัญญัติเวนคืนที่ดินทั้งสองแปลงตามมาตรา 15 ในภายหลังอีก กรณีถือได้ว่าที่ดินทั้งสองแปลงของโจทก์ส่วนที่ถูกเวนคืนรวมเนื้อที่ 111 ตารางวา ตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (2) นับแต่วันที่ 7 กันยายน 2541 เป็นต้นไป
เมื่อผู้ร้องรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งสองแปลงภายหลังจากพระราชกฤษฎีกาฯ สิ้นผลใช้บังคับ ผู้ร้องย่อมมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้งสองแปลงเฉพาะส่วนที่เหลือจากการเวนคืนเท่านั้น แต่ผู้ร้องไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนที่ถูกเวนคืน ดังนั้นผู้ร้องจึงไม่ใช่เจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายซึ่งที่ดินที่ต้องเวนคืนตามมาตรา 18 (1) และไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินที่เพิ่มขึ้นตามคำพิพากษาศาลฎีกา ส่วนโจทก์เป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายซึ่งที่ดินที่ต้องเวนคืนย่อมมีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินที่เพิ่มขึ้นตามคำพิพากษาศาลฎีกา
การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ภายหลังจากที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาเป็นการขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนที่โจทก์เดิมเพื่อดำเนินการบังคับคดีแก่จำเลยทั้งสามต่อไป มิได้เรียกร้องเกินไปกว่าสิทธิเรียกร้องที่โจทก์มีอยู่ตามคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำสั่งให้ผู้ร้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์อย่างคดีมีทุนทรัพย์จึงไม่ถูกต้อง และเมื่อผู้ร้องชำระค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ตามคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 3 มาแล้ว จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์แก่ผู้ร้อง

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มอีก 2,775,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามอัตราและนับตั้งแต่วันที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 กำหนด และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นฎีกาแทนโจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอและแก้ไขคำร้องขอให้มีคำสั่งให้ผู้ร้องสวมสิทธิเป็นโจทก์แทนโจทก์เดิม
โจทก์ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นสอบคู่ความแล้ว เห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้แล้ว จึงงดไต่สวนและมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องให้เป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ผู้ร้องมีสิทธิได้รับเงินเฉพาะค่าทดแทนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ถูกเวนคืนสำหรับที่ดินตราจองเลขที่ 38 และเลขที่ 40 ตำบลบัวใหญ่ อำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา แทนโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในสำนวนและที่คู่ความไม่โต้แย้งกันรับฟังได้เป็นยุติว่า เดิมโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินตราจองเลขที่ 38 และเลขที่ 40 ตำบลบัวใหญ่ อำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา เนื้อที่ 1 งาน 69 ตารางวา และ 1 งาน 30 ตารางวา ตามลำดับ เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2538 ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน เพื่อขยายทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 202 สายชัยภูมิ – เขมราฐ ตอนชัยภูมิ – อำเภอบัวใหญ่ พ.ศ.2538 เพื่อขยายทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 202 อำนวยความสะดวกและความรวดเร็วแก่การจราจรและการขนส่งอันเป็นกิจการสาธารณูปโภค พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมีผลใช้บังคับ 4 ปี นับตั้งแต่วันที่ 8 กรกฎาคม 2538 ถึงวันที่ 7 กรกฎาคม 2542 และจำเลยที่ 2 ผู้เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวได้พิจารณาแล้วเห็นว่า การขยายทางหลวงแผ่นดินตอนดังกล่าวเป็นกรณีที่มีความจำเป็นโดยเร่งด่วน เพื่ออำนวยความสะดวกและความรวดเร็วแก่การคมนาคมและการขนส่งอันเป็นกิจการสาธารณูปโภค ซึ่งหากการเวนคืนเนิ่นช้าไปจะเป็นอุปสรรคอย่างมากแก่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ดังนั้น อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 68 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.2535 ประกอบกับมาตรา 13 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 คณะรัฐมนตรีโดยมติเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2540 จึงกำหนดให้การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อขยายทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 202 สายชัยภูมิ – เขมราฐ ตอนชัยภูมิ – อำเภอบัวใหญ่ ในท้องที่อำเภอเมืองชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิ และอำเภอแก้งสนามนาง อำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน เพื่อขยายทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 202 สายชัยภูมิ – เขมราฐ ตอนชัยภูมิ – อำเภอบัวใหญ่ พ.ศ.2538 เป็นกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อให้เจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าครอบครองหรือใช้อสังหาริมทรัพย์นั้นตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 ได้ วันที่ 5 พฤษภาคม 2540 จึงได้ออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องกำหนดให้การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อขยายทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 202 สายชัยภูมิ – เขมราฐ ตอนชัยภูมิ – อำเภอบัวใหญ่ เป็นกรณีที่มีความจำเป็นโดยเร่งด่วน ที่ดินทั้งสองแปลงของโจทก์ถูกเวนคืนบางส่วน โดยตราจองเลขที่ 38 ถูกเวนคืนเนื้อที่ 60.20 ตารางวา ตราจองเลขที่ 40 ถูกเวนคืนเนื้อที่ 50.80 ตารางวา รวมเนื้อที่ 111 ตารางวา คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินทั้งสองแปลงให้แก่โจทก์ตารางวาละ 5,000 บาท เป็นเงิน 555,000 บาท เงินค่าทดแทนค่ารื้อถอนสิ่งปลูกสร้างเป็นเงิน 801,060 บาท ต่อมาวันที่ 26 สิงหาคม 2541 ผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 2 ได้มีหนังสือถึงโจทก์ให้ไปรับเงินค่าทดแทนที่ดินดังกล่าว แต่โจทก์ไม่ได้ไปรับเงินค่าทดแทนที่ดินภายในกำหนดเวลา วันที่ 7 กันยายน 2541 ผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 2 จึงวางเงินค่าทดแทนที่ดินทั้งสองแปลง โดยนำไปฝากไว้กับธนาคารออมสิน สาขาชัยภูมิ ในนามของโจทก์เพื่อให้โจทก์ไปขอรับ โจทก์ไม่พอใจจึงยื่นอุทธรณ์ต่อจำเลยที่ 3 ขอเพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินทั้งสองแปลง แต่จำเลยที่ 3 ไม่วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด โจทก์จึงฟ้องเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2542 อันเป็นเวลาภายหลังพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวสิ้นผลใช้บังคับแล้ว โดยไม่มีการออกพระราชบัญญัติเวนคืนที่ดินทั้งสองแปลงอีก ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2549 ผู้ร้องรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าว ในขณะที่ยังไม่มีการจดทะเบียนแบ่งหักที่ดินทั้งสองแปลงส่วนที่ถูกเวนคืน ต่อมาศาลฎีกามีคำพิพากษาให้เพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินทั้งสองแปลงให้แก่โจทก์
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์หรือผู้ร้องมีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินที่เพิ่มขึ้นตามคำพิพากษาศาลฎีกา เห็นว่า การดำเนินการของฝ่ายจำเลยให้ได้มาซึ่งที่ดินทั้งสองแปลงของโจทก์ก็เพื่อประโยชน์สาธารณะในการขยายทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 202 ดังกล่าว โดยได้ดำเนินการตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 คือได้ออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน เพื่อขยายทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 202 สายชัยภูมิ – เขมราฐ ตอนชัยภูมิ – อำเภอบัวใหญ่ พ.ศ.2538 ตามมาตรา 5 วรรคสามและมาตรา 6 และคณะรัฐมนตรีได้กำหนดให้การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในโครงการนี้เป็นกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนตามมาตรา 13 วรรคหนึ่ง และคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ ที่จำเลยที่ 3 แต่งตั้งตามมาตรา 9 วรรคสอง ก็ได้กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินทั้งสองแปลงให้แก่โจทก์แล้ว เมื่อโจทก์ไม่ยอมรับ ฝ่ายจำเลยได้วางเงินค่าทดแทนที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวโดยนำไปฝากไว้กับธนาคารออมสิน สาขาชัยภูมิ ตามมาตรา 31 หลังจากนั้นฝ่ายจำเลยย่อมมีสิทธิเข้าครอบครองและใช้ประโยชน์ในที่ดินทั้งสองแปลงของโจทก์ส่วนที่ถูกเวนคืนในระหว่างที่พระราชกฤษฎีกาฯยังมีผลใช้บังคับได้ตามมาตรา 13 วรรคสอง และตามมาตรา 13 วรรคท้าย ได้บัญญัติว่า “ในการดำเนินการตามวรรคสองและวรรคสาม ให้นำมาตรา 10 มาตรา 11 …. มาใช้บังคับโดยอนุโลม” เมื่อนำมาตรา 11 วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลมกับกรณีนี้แล้วก็จะเป็นว่า เมื่อผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนได้วางเงินค่าทดแทนที่ดินที่กำหนดขึ้นตามมาตรา 9 แล้ว ให้จำเลยที่ 2 หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 2 มีหนังสือแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายที่ดินทราบและให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดังกล่าวดำเนินการแก้ไขหลักฐานทางทะเบียนในหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินทั้งฉบับที่เก็บรักษาไว้ ณ สำนักงานที่ดิน และฉบับที่ผู้มีสิทธิในที่ดินยึดถือไว้ โดยให้ถือว่าเป็นการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามกฎหมายและถือว่าได้มีการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทนับแต่วันวางเงินค่าทดแทนที่ดินพิพาท ดังนั้น กรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้งสองแปลงส่วนที่ถูกเวนคืนย่อมตกเป็นของฝ่ายจำเลยตั้งแต่วันที่ 7 กันยายน 2541 อันเป็นวันที่ฝ่ายจำเลยได้วางเงินค่าทดแทนที่ดินทั้งสองแปลงโดยนำไปฝากไว้กับธนาคารออมสิน สาขาชัยภูมิ ในนามของโจทก์ซึ่งเป็นวันก่อนที่พระราชกฤษฎีกาฯ สิ้นผลใช้บังคับโดยไม่ต้องมีการตราพระราชบัญญัติเวนคืนที่ดินทั้งสองแปลงตามมาตรา 15 ในภายหลังอีก กรณีถือได้ว่าที่ดินทั้งสองแปลงของโจทก์ส่วนที่ถูกเวนคืนรวมเนื้อที่ 111 ตารางวา ตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304 (2) นับแต่วันที่ 7 กันยายน 2541 เป็นต้นไป เมื่อผู้ร้องรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งสองแปลงเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2549 ผู้ร้องย่อมมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้งสองแปลงเฉพาะส่วนที่เหลือจากการเวนคืนเท่านั้น แต่ผู้ร้องไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนที่ถูกเวนคืน ดังนั้นผู้ร้องจึงไม่ใช่เจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายซึ่งที่ดินที่ต้องเวนคืนตามมาตรา 18 (1) และไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินที่เพิ่มขึ้นตามคำพิพากษาศาลฎีกา ส่วนโจทก์เป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายซึ่งที่ดินที่ต้องเวนคืนย่อมมีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินที่เพิ่มขึ้นตามคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาคณะคดีปกครองไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
อนึ่ง ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์อ้างว่า ผู้ร้องรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืน ซึ่งโจทก์ได้ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มเป็นคดีนี้พร้อมกับเสียค่าขึ้นศาลตามจำนวนทุนทรัพย์ที่เรียกร้องและศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มให้แก่โจทก์ การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ภายหลังจากที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาจึงเป็นการขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนที่โจทก์เดิมเพื่อดำเนินการบังคับคดีแก่จำเลยทั้งสามต่อไป มิได้เรียกร้องเกินไปกว่าสิทธิเรียกร้องที่โจทก์มีอยู่ตามคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำสั่งให้ผู้ร้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์อย่างคดีมีทุนทรัพย์จึงไม่ถูกต้อง และเมื่อผู้ร้องชำระค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ตามคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 3 มาแล้ว จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์จำนวน 103,076.50 บาท คืนแก่ผู้ร้อง
พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องของผู้ร้อง แต่ให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์จำนวน 103,076.50 บาท แก่ผู้ร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share