แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่โจทก์มีคำสั่งให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายในการจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 99 เป็นการดำเนินการในฐานะที่โจทก์เป็นองค์กรใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะ ซึ่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 4 ยกเว้นมิให้นำบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวมาใช้บังคับแก่โจทก์ จึงถือไม่ได้ว่าคำสั่งของโจทก์ดังกล่าวเป็นคำสั่งทางปกครองที่กำหนดให้จำเลยชำระเงินตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 57 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 293,422.50 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่ วันที่ 9 ตุลาคม 2548 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า การกำหนดค่าเสียหายตามคำฟ้องของโจทก์เป็นคำสั่งทางปกครองที่กำหนดให้ผู้ใดชำระเงิน ซึ่งโจทก์อาจใช้มาตรการบังคับทางปกครองโดยยึดหรืออายัดทรัพย์สินและขายทอดตลาดเพื่อชำระเงิน ตามมาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ได้อยู่แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นต้องใช้สิทธิทางศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 และพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลเพื่อบังคับให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายในการจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ตามมาตรา 99 ของพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 หรือไม่ พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า โจทก์เป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นโดยรัฐธรรมนูญ โดยมาตรา 235 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 กำหนดให้โจทก์เป็นผู้ควบคุมและดำเนินการจัดหรือจัดให้มีการเลือกตั้งหรือการสรรหาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่น ให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม โดยมาตรา 236 กำหนดให้โจทก์มีอำนาจหน้าที่สืบสวนสอบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริง และวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาหรือข้อโต้แย้งที่เกิดขึ้นตามกฎหมายตามมาตรา 235 วรรคสอง ซึ่งรวมถึงพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 ด้วย และมีอำนาจหน้าที่สั่งให้มีการเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งใดหน่วยเลือกตั้งหนึ่งหรือทุกหน่วยเลือกตั้ง เมื่อมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าการเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งนั้นๆ มิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม รวมทั้งมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ ย่อมถือได้ว่าการดำเนินการใดๆ ของโจทก์ซึ่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 กำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของโจทก์ และเป็นการดำเนินการในฐานะที่โจทก์เป็นองค์กรที่ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะ คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองบัว อำเภอคง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งโจทก์มีหน้าที่ควบคุมและดำเนินการจัดให้มีการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญและตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 ผลการนับคะแนนเลือกตั้งปรากฏว่าจำเลยเป็นผู้ได้รับการเลือกตั้งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองบัว ภายหลังจากโจทก์ประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว ต่อมามีหลักฐานอันควรเชื่อว่าจำเลยได้ให้เงินแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้แก่จำเลยอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 57 (1) ของพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 ซึ่งมีผลให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม คณะกรรมการโจทก์มีมติให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลยให้มีการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองบัวใหม่ โดยให้จำเลยรับผิดชดใช้ค่าเสียหายตามจำนวนที่ไม่เกินค่าใช้จ่ายในการจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ และให้ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลย ต่อมาโจทก์ดำเนินการจัดให้มีการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองบัวใหม่เสร็จสิ้นแล้ว โดยเสียค่าใช้จ่ายในการจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่เป็นเงินทั้งสิ้น 293,422.50 บาท โจทก์จึงฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ ตามคำฟ้องของโจทก์ดังกล่าว การที่โจทก์มีคำสั่งให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายในการจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่เป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา 99 ของพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 ซึ่งกำหนดให้จำเลยผู้ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งในกรณีตามคำฟ้องต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายตามจำนวนที่โจทก์กำหนดซึ่งต้องไม่เกินจำนวนค่าใช้จ่ายในการจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ คำสั่งของโจทก์ดังกล่าวเป็นการกำหนดจำนวนค่าเสียหายที่จำเลยต้องรับผิดชดใช้ซึ่งกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของโจทก์ จึงเป็นการดำเนินการในฐานะที่โจทก์เป็นองค์กรที่ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะ ซึ่งมาตรา 4 (2) ของพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ยกเว้นมิให้นำบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวมาใช้บังคับแก่โจทก์ จึงถือไม่ได้ว่าคำสั่งของโจทก์ดังกล่าวเป็นคำสั่งทางปกครองที่กำหนดให้จำเลยชำระเงิน ตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 57 วรรคหนึ่ง ในอันที่จะใช้มาตรการบังคับทางปกครองโดยยึดหรืออายัดทรัพย์สินของจำเลยและขายทอดตลาดเพื่อชำระเงินที่จำเลยไม่ยอมชำระตามคำสั่งได้ การที่จำเลยไม่ยอมชำระค่าเสียหายตามที่โจทก์กำหนดให้จำเลยชดใช้เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลเพื่อบังคับให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายในการจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ตามกฎหมาย ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้รับฟ้องของโจทก์ไว้ดำเนินการต่อไป