คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3981/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในวันนัดสืบพยานซึ่งโจทก์มีหน้าที่นำสืบก่อน เมื่อโจทก์ไม่นำพยานมาสืบในวันนัด โดยมิได้แจ้งเหตุขัดข้อง ถือว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณาซึ่งศาลอาจสั่งจำหน่ายคดีเสียก็ได้ เมื่อจำเลยแถลงไม่ติดใจสืบพยาน แม้มิได้แถลงให้ชัดแจ้งว่าจำเลยตั้งใจจะให้ดำเนินการพิจารณาคดีต่อไป แต่กรณีโจทก์ขาดนัดพิจารณาและจำเลยแถลงไม่ติดใจสืบพยาน ศาลไม่ต้องดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างใดต่อไปอีก และกระบวนพิจารณาเป็นอันสิ้นสุด ดังนี้ คำแถลงของจำเลยดังกล่าวจึงถือได้ว่าจำเลยตั้งใจให้ศาลทำการพิจารณาพิพากษาคดีต่อไปแล้ว.

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายตามสัญญาเช่าซื้อ จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำนวนค่าเสียหายไม่เป็นไปตามฟ้อง ส่วนจำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ในวันสืบพยาน โจทก์ไม่มาศาลและมิได้ร้องขอเลื่อนคดีหรือแจ้งเหตุขัดข้องที่ไม่มาศาลให้ทราบ ศาลชั้นต้นจึงถือว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณาและมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความ
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ได้ความว่าวันนัดสืบพยาน โจทก์และพยานไม่มาศาลและไม่แจ้งเหตุขัดข้อง ทนายจำเลยที่ 1 แถลงไม่ติดใจสืบพยาน ศาลชั้นต้นเห็นว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณา ให้จำหน่ายคดีจากสารบบความ ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 201 ต้องพิพากษาชี้ขาดไปตามรูปคดีนั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 201 บัญญัติว่า “ถ้าได้ส่งหมายกำหนดวันนัดสืบพยานให้โจทก์ทราบโดยชอบแล้ว โจทก์ขาดนัดพิจารณา ให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีนั้นเสียจากสารบบความ เว้นแต่จำเลยจะได้แจ้งต่อศาลในวันหรือก่อนวันสืบพยานว่า ตนตั้งใจจะให้ดำเนินการพิจารณาคดีต่อไป…”ปัญหามีว่า การที่ทนายจำเลยที่ 1 แถลงไม่ติดใจสืบพยานจะถือว่าตั้งใจจะให้ศาลดำเนินการพิพากษาคดีต่อไปหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์มีหน้าที่นำพยานเข้าสืบก่อน เมื่อไม่นำมาสืบในวันนัดโดยมิได้แจ้งเหตุขัดข้อง ถือว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณา ศาลจึงอาจสั่งจำหน่ายคดีได้ การที่ทนายจำเลยที่ 1 แถลงไม่ติดใจสืบพยานโดยมิได้แถลงให้ชัดแจ้งว่าจำเลยตั้งใจจะให้ดำเนินการพิจารณาคดีต่อไป แต่เมื่อจำเลยแถลงเช่นนั้น และศาลก็ไม่ต้องดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างใดต่อไปอีก กระบวนพิจารณาในคดีนี้จึงเป็นอันสิ้นสุด ถือได้ว่าการที่จำเลยแถลงดังกล่าว จำเลยตั้งใจจะให้ศาลทำการพิจารณาพิพากษาคดีต่อไป ศาลชั้นต้นจึงต้องมีคำพิพากษาในเรื่องนี้
พิพากษาให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้นและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลชั้นต้นพิพากษาไปตามรูปคดี.

Share