คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2079/2554

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

แม้คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ได้มีประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขฉบับที่ 3 ลงวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2548 ให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 สิ้นสุดลง และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 เป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญก็ตาม แต่ พ.ร.บ.ดังกล่าวก็มีฐานะเป็น พ.ร.บ.ฉบับหนึ่งที่มีการประกาศใช้แยกมาจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 การที่มีประกาศคณะการปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขฉบับดังกล่าว กำหนดให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 สิ้นสุดลง จึงหามีผลทำให้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 สิ้นสุดลงตามไปด้วยไม่อีกทั้งประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 3 ข้อ 4 ยังได้บัญญัติด้วยว่า “ศาลทั้งหลาย นอกจากศาลรัฐธรรมนูญ คงมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาอรรคคดีตามบทกฎหมาย ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย” อันเป็นการรับรองให้กฎหมายทั้งปวงที่มีผลใช้บังคับอยู่ก่อนการปฏิรูปการปกครองยังคงมีผลใช้บังคับได้ต่อไปอีกด้วย ดังนั้น เมื่อไม่มีประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขฉบับใดออกมาบัญญัติให้ยกเลิก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 พ.ร.บ.ดังกล่าวนี้จึงยังผลใช้บังคับต่อไป สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จึงยังไม่ระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (5) และแม้ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นจะมี พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 ใช้บังคับโดยให้ยกเลิก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 ก็ตาม แต่ความผิดที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานเป็นผู้สนับสนุนให้ผู้อื่นสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาพผู้แทนราษฎรโดยรู้อยู่แล้วว่าบุคคลนั้นไม่สิทธิสมัครรับเลือกตั้งซึ่งมาตรา 34 และมาตรา 139 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 อันเป็นกฎหมายที่ได้บัญญัติภายหลังยังคงบัญญัติให้การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นความผิดอยู่และมีระวางโทษเท่าเดิมซึ่งไม่มีส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยจึงไม่ทำให้จำเลยพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด ทั้งไม่เป็นกรณีต้องนำกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังมาปรับใช้แก่คดีนี้ตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง และมาตรา 3

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2541 มาตรา 30, 100 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลยมีกำหนด 10 ปี
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2541 มาตรา 30, 100 (ที่ถูก ไม่ปรับบทตาม มาตรา 30) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 จำคุก 2 ปี 8 เดือน และปรับ 40,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้เพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งของจำเลยมีกำหนด 10 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้มีประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 3 ลงวันที่ 19 กันยายน พุทธศักราช 2549 ให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 สิ้นสุดลง จึงมีผลให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2541 สิ้นสุดลงไปด้วย จึงต้องด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสอง การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิด และสิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (5) นั้น เห็นว่า แม้คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ได้มีประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขฉบับที่ 3 ลงวันที่ 19 กันยายน พุทธศักราช 2549 ให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 สิ้นสุดลง และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2541 เป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญก็ตาม แต่พระราชบัญญัติดังกล่าวก็มีฐานะเป็นพระราชบัญญัติฉบับหนึ่งที่มีการประกาศใช้แยกมาจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 การที่มีประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขฉบับดังกล่าว กำหนดให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 สิ้นสุดลง จึงหามีผลทำให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2541 สิ้นสุดลงตามไปด้วยไม่ อีกทั้งประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 3 ข้อ 4 ยังได้บัญญัติด้วยว่า “ศาลทั้งหลาย นอกจากศาลรัฐธรรมนูญ คงมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีตามบทกฎหมาย ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย” อันเป็นการรับรองให้กฎหมายทั้งปวงที่มีผลใช้บังคับอยู่ก่อนการปฏิรูปการปกครองยังคงมีผลใช้บังคับได้ต่อไปอีกด้วย ดังนั้น เมื่อไม่มีประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขฉบับใดออกมาบัญญัติให้ยกเลิกพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2541 พระราชบัญญัติดังกล่าวนี้จึงยังมีผลใช้บังคับต่อไป สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จึงยังไม่ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (5) และแม้ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นจะมีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 ใช้บังคับโดยให้ยกเลิกพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2541 ก็ตาม แต่ความผิดที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานเป็นผู้สนับสนุนให้ผู้อื่นสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโดยรู้อยู่แล้วว่าบุคคลนั้นไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งมาตรา 34 และมาตรา 139 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 อันเป็นกฎหมายที่ได้บัญญัติภายหลังยังคงบัญญัติให้การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นความผิดอยู่ และมีระวางโทษเท่าเดิม ซึ่งไม่มีส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยจึงไม่ทำให้จำเลยพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดทั้งไม่เป็นกรณีต้องนำกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังมาปรับใช้แก่คดีนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสอง และมาตรา 3 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share