คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1004/2520

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เอกสารมีความว่า ‘ข้าพเจ้านายเพ็ง บุญเครือ ได้ทำหนังสือนี้ให้แก่นายสาบุญหลาบ นายเลื่อม รูปคุ้มเพื่อได้แสดงว่าข้าพเจ้าได้นำนา 1 แปลงมาเป็นประกันมีความประสงค์รับเงินจากนายสาบุญหลาบ กับนายเลื่อม รูปคุ้ม ไปใช้จ่ายเป็นจำนวนเงิน 6,000 บาท กำหนดให้ทำ 3 ปี เมื่อถึงฤดูกาลจะไถ่ถอนคืน ถ้าไม่ได้ไถ่ถอนตามกำหนดนี้ให้ทำต่อไปอีกจนกว่าจะได้ไถ่ถอนคืนเมื่อไร ฯลฯ’ แล้วลงชื่อผู้รับเงิน ผู้มอบเงิน พยาน และผู้เขียน เช่นนี้ เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653
เอกสารที่มิได้ปิดอากรแสตมป์ในขณะที่โจทก์ส่งอ้างต่อศาลแต่ก่อนที่ศาลจะพิพากษา โจทก์ได้ขอให้ศาลส่งเอกสารนั้นไปให้เจ้าหน้าที่สรรพากรจัดการให้ถูกต้องซึ่งเจ้าหน้าที่ได้จัดการให้เสียอากรแสตมป์และเรียกอากรเพิ่มแล้ว ย่อมถือว่าเป็นตราสารที่ปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์แล้วตามประมวลรัษฎากร มาตรา 117 รับฟังเป็นพยานหลักฐานได้
เอกสารที่มิได้ส่งสำเนาให้อีกฝ่ายหนึ่ง ศาลก็อ้างเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมรับฟังได้ตามที่มาตรา 87 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งให้อำนาจไว้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นบุตรและทายาทของนายเพ็ง บุญเครือ นายเพ็ง ได้กู้เงินโจทก์ 6,000 บาท มอบที่นา 1 แปลงให้ทำกินต่างดอกเบี้ย ต่อมานายเพ็งได้ถึงแก่กรรม โจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระเงิน จำเลยขอผัดเรื่อยมา ขอให้บังคับจำเลยร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์

จำเลยทั้งสามให้การว่า บิดาจำเลยไม่เคยกู้เงินโจทก์ หากจะเคยก็ไม่ได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือ จำเลยยังไม่ทันได้รับมรดกนายเพ็ง จำเลยไม่ต้องรับผิด

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 6,000 บาท ให้แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าคดีถึงที่สุด

จำเลยทั้งสามอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้จำเลยทั้งสามต้องรับผิดไม่เกินจำนวนทรัพย์มรดกของผู้ตาย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยทั้งสามฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อแรกจำเลยฎีกาว่าเอกสารหมาย จ.1 ไม่ใช่หลักฐานแห่งการกู้ยืมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653

เอกสารหมาย จ.1 มีความว่า (อักขรวิธีตามต้นฉบับ) “ข้าพเจ้า นายเพ็งบุญเครือ ได้ทำหนังสือฉบับนี้ให้แก่นายสา บุญหลาบ นายเลื่อม รูปคุมเพื่อได้แสดงว่าข้าพเจ้าได้นำนา 1 แปลงมาเป็นประกัน มีความประสงค์รับเงินจากนายสา บุญหลาบ กับนายเลื่อม รูปคุม ไปใช้จ่ายเป็นจำนวนเงิน 6,000 บาท กำหนดให้ (น่าจะหมายถึงกำหนดให้) ทำ 3 ปี เมื่อถึงฤดูการจะไถทอน (น่าจะหมายถึงไถ่ถอน) คืน ถ้าไม่ได้ไถทอนตามกำหนดนี้ ให้ทำต่อไปอีก จนกว่าจะได้ไถทอนเมื่อไร และอนาเขตนาแปลงนี้ ทิศเหนือจดนาย (อ่านไม่ออก) สตารี ทิศใต้จดนางเอ็ด ทิศตะวันออกจดห้วย ทิศตะวันตกจดเหมืองน้ำไล นาที่กล่าวนี้เป็นนาของข้าพเจ้าจริง ไม่มีนาผู้อื่นใด จึงได้รับรองลงลายมือชื่อไว้ในหนังสือนี้เพื่อเป็นหลักฐาน

(ลงชื่อ) นายเพ็ง บุญเครือ ผู้รับเงิน

(ลงชื่อ) นายเลื่อม รูปคุ้ม
ผู้มอบเงิน

(ลงชื่อ) อินทร์ แก่นแก้ว
พยาน

(ลงชื่อ) อินทร์ แก่นแก้ว
ผู้เขียน

ศาลฎีกาเห็นว่า เอกสารดังกล่าวมีข้อความแสดงว่านายเพ็ง บุญเครือได้นำที่นามอบให้โจทก์ทำเป็นประกันสำหรับจำนวนเงิน 6,000 บาท ที่นายเพ็งบุญเครือ รับไปจากโจทก์มีกำหนด 3 ปี เมื่อถึงกำหนดไถ่ถอนที่นาคืนยังไม่ไถ่ถอน ก็ยอมให้โจทก์ทำนาต่อไปอีกจนกว่าจะไถ่ถอน ข้อความเช่นนี้เป็นหลักฐานแสดงให้เห็นว่า นายเพ็ง บุญเครือ ได้ยืมเงิน 6,000 บาท ไปจากโจทก์จึงเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 ตามที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย ที่จำเลยฎีกาว่า คำว่า “มีความประสงค์รับเงิน” เป็นถ้อยคำไม่ชัดเจน อาจเป็นการรับเงินในเรื่องอื่นก็ได้ เมื่อเอกสารหมาย จ. 1 ไม่มีคำว่า “กู้ยืม” จะตีความว่ามีความหมายเป็นการกู้ยืมเงิน เป็นการตีความที่มิชอบด้วยวิธีพิจารณาความ เพราะมิได้ตีความจากอักษรที่ปรากฏนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ในการตีความแสดงเจตนานั้น ต้องเพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนตามตัวอักษร (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 132) เอกสารหมาย จ.1 นอกจากคำว่า มีความประสงค์จะรับเงินไปจากโจทก์ไปใช้จ่ายเป็นจำนวนเงิน 6,000 บาทแล้ว ยังมีข้อความต่อไปว่า กำหนดให้ทำนา 3 ปี เมื่อถึงฤดูกาลคือเมื่อถึงกำหนด จะไถ่ถอนคืน ถ้าไม่ไถ่ถอนตามกำหนดให้ทำต่อไปอีก จนกว่าจะได้ไถ่ถอนซึ่งหมายถึงว่านายเพ็ง บุญเครือ จะนำเงิน 6,000 บาท มาชำระให้โจทก์เพื่อไถ่ถอนที่นาคืนภายใน 3 ปี หากยังไม่ชำระ โจทก์มีสิทธิทำนาต่อไปจนกว่านายเพ็ง บุญเครือ จะนำเงินมาชำระเป็นการไถ่ถอนอันเป็นลักษณะของการกู้ยืมเงินโดยมอบที่นาให้ทำต่างดอกเบี้ยดังที่โจทก์บรรยายฟ้อง มิใช่การรับเงินไปในเรื่องอื่นดังที่จำเลยฎีกา

ข้อต่อมาจำเลยฎีกาว่า เอกสารหมาย จ.1 ไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ในวันที่โจทก์ยื่นต่อศาล แม้ต่อมาโจทก์ขอให้ศาลส่งไปให้เจ้าหน้าที่สรรพากรปรับตามประมวลรัษฎากรศาลก็รับฟังเป็นพยานหลักฐานไม่ได้

ศาลฎีกาเห็นว่า เอกสารหมาย จ.1 แม้จะมิได้ปิดอากรแสตมป์ ในขณะโจทก์ส่งอ้างต่อศาล แต่ก่อนที่ศาลจะพิพากษา โจทก์ได้ขอให้ศาลส่งเอกสารนั้นไปให้เจ้าหน้าที่สรรพากรจัดการให้ถูกต้อง ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้จัดการให้เสียอากรแสตมป์และเรียกอากรเพิ่มแล้วย่อมถือว่าเป็นตราสารที่ปิดแสตมป์บริบูรณ์แล้วตามประมวลรัษฎากร มาตรา 117 รับฟังเป็นพยานหลักฐานได้

ฎีกาของจำเลยที่ว่า โจทก์มิได้ส่งสำเนาเอกสารหมาย จ.1 ให้จำเลยศาลจะอ้างว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมรับฟังเอกสารหมาย จ.1 ไม่ได้นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า มาตรา 87 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งให้อำนาจศาลไว้ ศาลย่อมใช้อำนาจนั้นได้ไม่เป็นการผิดต่อกฎหมายดังที่จำเลยฎีกา

ข้อสุดท้ายจำเลยฎีกาว่า จำเลยอุทธรณ์ว่ายังมิได้มีการทวงถาม และยังมิได้กำหนดระยะเวลาชำระหนี้เรื่องเงินยืมกันไว้ ศาลอุทธรณ์ฟังว่ามีการทวงถามแล้วแต่มิได้วินิจฉัยว่าฟังได้ว่ามีการกำหนดระยะเวลาชำระหนี้กู้ยืมเงินรายนี้หรือยัง เป็นการวินิจฉัยไม่ครบถ้วนทุกปัญหาทุกประเด็น

ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยให้การไว้ว่า โจทก์ไม่เคยทวงถามให้จำเลยชำระหนี้เลยเท่านั้น ประเด็นเรื่องกำหนดระยะเวลาให้ชำระหนี้ไม่มี จำเลยจะยกขึ้นอุทธรณ์ฎีกาไม่ได้

พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกาแทนโจทก์ 150 บาท

Share