คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12476/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป.พ.พ. มาตรา 1373 บัญญัติไว้ว่า “ถ้าทรัพย์สินเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดไว้ในทะเบียนที่ดิน ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง” โจทก์มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินพิพาททั้งสองแปลง จากข้อสันนิษฐานเบื้องต้นจึงต้องฟังว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท แม้จำเลยที่ 1 จะมีคำสั่งของศาลชั้นต้นถึงที่สุดแสดงว่า จำเลยที่ 1 ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ก็ตาม แต่ภาระการพิสูจน์ก็ตกแก่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 ต้องพิสูจน์ว่า จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายครอบครองที่ดินพิพาทด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี เมื่อจำเลยที่ 1 มีภาระการพิสูจน์ แต่พยานหลักฐานที่นำมาสืบยังไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงมาโดยการครอบครองปรปักษ์ โจทก์มีสิทธิในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงดีกว่าจำเลยที่ 1

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันไปจดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมต่าง ๆ ที่จำเลยทั้งสามได้ก่อให้เกิดขึ้นในที่ดินโฉนดเลขที่ 8065 และ 8066 ตำบลหลักสอง อำเภอภาษีเจริญ (หนองแขม) จังหวัดธนบุรี (กรุงเทพมหานคร) และให้เพิกถอนนิติกรรมการยกให้ตามหนังสือการยกให้ฉบับลงวันที่ 5 ตุลาคม 2542 ระหว่างจำเลยที่ 1 ผู้ยกให้กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ผู้รับการยกให้ กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันจดทะเบียนถอนชื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 ออกจากที่ดินของโจทก์ทั้งสองแปลง และใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามเดิม หากจำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสาม โดยให้จำเลยทั้งสามเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย หากสภาพไม่เปิดช่องให้บังคับได้ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ราคาที่ดินทั้งสองแปลงแก่โจทก์เป็นเงิน 1,600,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสามจะชำระเสร็จสิ้น และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เดือนละ 20,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสามจะโอนใส่ชื่อโจทก์ในโฉนดที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าว กับให้จำเลยทั้งสามและบริวารออกไปจากที่ดินและบ้านเลขที่ 257 หมู่ที่ 10 แขวงหลักสอง เขตหนองแขม กรุงเทพมหานคร และส่งมอบที่ดินกับบ้านดังกล่าวคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อย
จำเลยที่ 1 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันจดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 8065 และ 8066 เลขที่ดิน 198 และ 197 หน้าสำรวจ 3326 และ 3327 ตำบลหลักสอง อำเภอภาษีเจริญ (หนองแขม) จังหวัดธนบุรี(กรุงเทพมหานคร) โดยให้ถอนชื่อจำเลยทั้งสามออกจากโฉนดที่ดินดังกล่าว และให้คงชื่อโจทก์เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียว หากจำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสาม และหากสภาพไม่สามารถดำเนินการจดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมการโอนกรรมสิทธิ์ดังกล่าวได้ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ราคาที่ดินเป็นเงิน 1,120,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 12 มกราคม 2543) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยทั้งสามและบริวารออกไปจากบ้านเลขที่ 257 หมู่ที่ 10 แขวงหลักสอง เขตหนองแขม กรุงเทพมหานคร และที่ดินพิพาททั้งสองแปลงแล้วส่งมอบบ้านและที่ดินพิพาททั้งสองแปลงคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อย กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายเป็นเงินเดือนละ 3,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสามจะจดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาทและออกไปจากบ้านและที่ดินพิพาททั้งสองแปลง ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 10,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า… คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า โจทก์มีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าจำเลยที่ 1 หรือไม่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าโจทก์มีภาระการพิสูจน์ให้เห็นว่าโจทก์มีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าจำเลยที่ 1 แต่ตามทางนำสืบของโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานใดมานำสืบให้เห็นเช่นนั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1373 บัญญัติไว้ว่า “ถ้าทรัพย์สินเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดไว้ในทะเบียนที่ดิน ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง” โจทก์มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินพิพาททั้งสองแปลง จากข้อสันนิษฐานเบื้องต้นจึงต้องฟังว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท แม้จำเลยที่ 1 จะมีคำสั่งของศาลชั้นต้นถึงที่สุดแสดงว่า จำเลยที่ 1 ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ก็ตาม แต่ภาระการพิสูจน์ก็ตกแก่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 ต้องพิสูจน์ว่า จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายครอบครองที่ดินพิพาทด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี แต่ตามทางนำสืบของจำเลยที่ 1 มีตัวจำเลยที่ 1 เป็นพยานเบิกความเพียงลอย ๆ ว่า นายดำรงค์สามีจำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินพิพาททั้งสองแปลงมาจากโจทก์เมื่อปี 2507 ในราคา 5,000 บาท โดยไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จากนั้นได้ครอบครองทำประโยชน์โดยนำออกให้เช่าและได้ชำระภาษีบำรุงท้องที่ตลอดมาเกินกว่า 10 ปีแล้ว โดยไม่มีข้อเท็จจริงใดมาสนับสนุนให้เชื่อได้ว่ามีการซื้อขายที่ดินพิพาทกันจริงตามอ้าง ส่วนพยานปากอื่น ๆ ที่จำเลยที่ 1 นำมาสืบก็ล้วนแต่เข้ามาเกี่ยวข้องหรือรับรู้ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นภายหลังปี 2507 หาได้มีพยานปากใดที่รู้เห็นในการซื้อขายที่ดินพิพาทไม่ ที่จำเลยที่ 1 อ้างว่า เป็นผู้เก็บค่าเช่า เสียภาษีบำรุงท้องที่ และดูแลบ้านที่ปลูกในที่ดินพิพาทตลอดมานั้น ก็หาใช่เป็นข้อบ่งชี้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ยึดถือที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเพื่อตนเอง ทั้งโจทก์เองก็นำสืบโต้แย้งว่า สาเหตุที่ให้จำเลยที่ 1 และนายดำรงเป็นผู้เก็บค่าเช่าเพราะต้องการจะช่วยเหลือทางด้านการเงินแก่บุคคลทั้งสองเนื่องจากทั้งสองมีภาระต้องเลี้ยงดูบุตรหลายคน ส่วนในเรื่องการเสียภาษีบำรุงท้องที่ โจทก์นำสืบยืนยันว่า ในปี 2522 โจทก์เป็นผู้แจ้งเสียภาษีด้วยตนเองโดยมีเอกสารมาสนับสนุน ข้ออ้างของจำเลยที่ 1 จึงไม่มีน้ำหนัก นอกจากนี้เมื่อพิจารณาถึงข้อเท็จจริงที่ว่า หากนายดำรงค์ซื้อที่ดินพิพาททั้งสองแปลงมาจากโจทก์จริง นายดำรงค์หรือจำเลยที่ 1 ก็น่าจะดำเนินการเพื่อให้มีการโอนกรรมสิทธิ์มาเป็นของนายดำรงค์หรือของจำเลยที่ 1 โดยเร็ว โดยเฉพาะเมื่อปรากฏว่าเมื่อปี 2523 จำเลยที่ 1 ได้ขอให้โจทก์โอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้ตน แต่โจทก์ปฏิเสธที่จะโอน จำเลยที่ 1 ก็น่าจะกระตือรือร้นเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิของตน ไม่น่าจะปล่อยให้เวลาล่วงเลยมาอีก 16 ปี แล้วจึงมาร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ ส่วนฝ่ายโจทก์นั้นนอกจากตัวโจทก์จะเบิกความยืนยันว่า โจทก์ไม่ได้ขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่นายดำรงค์แล้ว โจทก์ยังมีนายปราโมทย์ และนางสาวทัศนีย์ ซึ่งรู้เห็นและทราบความเป็นมาของที่ดินพิพาททั้งสองแปลงมาเป็นพยานเบิกความสนับสนุน ซึ่งพยานทั้งสองปากแม้จะเป็นน้องโจทก์ แต่ก็มีศักดิ์เป็นอาจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งนับว่าเป็นญาติที่ใกล้ชิด จึงไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่าจะเบิกความเข้าข้างโจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 มีภาระการพิสูจน์ แต่พยานหลักฐานที่นำมาสืบยังไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงมาโดยการครอบครองปรปักษ์ โจทก์มีสิทธิในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงดีกว่าจำเลยที่ 1 ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น …
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share