แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่โจทก์จำเลยตกลงกันระงับหนี้ตามสัญญากู้ฉบับพิพาทที่โจทก์นำมาฟ้อง โดยโจทก์จำเลยตกลงให้ใช้สัญญากู้เงินฉบับใหม่แทน และต่อมาได้มีการชำระหนี้ตามสัญญากู้ฉบับใหม่นี้แล้ว การตกลงระงับหนี้ โดยทำสัญญาเป็นหนี้เงินกู้ใหม่เช่นนี้ ไม่จำเป็นต้องมีใบเสร็จ หรือเวนคืนเอกสารดังที่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 326 วรรคหนึ่งบัญญัติไว้ ทั้งไม่ใช่กรณีต้องห้ามการนำสืบตามมาตรา 653 วรรคสอง จำเลยจึงนำสืบได้ ไม่ต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินตามสัญญากู้จำนวน 446,250 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีจากต้นเงิน 300,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยทำสัญญากู้เงินโจทก์ฉบับตามฟ้องจริงแต่ต่อมาในวันที่ 1 มีนาคม 2537 จำเลยได้ชำระต้นเงินกู้คืนโจทก์จำนวน 40,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย จากนั้นโจทก์จำเลยทำสัญญากู้ฉบับใหม่ระบุว่าจำเลยกู้เงินไปจากโจทก์จำนวน 260,000 บาท ซึ่งต่อมาโจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ตามสัญญากู้ฉบับหลังทั้งหมดคืน และจำเลยได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์แล้ว หนี้ระหว่างโจทก์จำเลยจึงระงับลงโจทก์ไม่มีอำนาจบังคับให้จำเลยชำระหนี้ตามสัญญากู้ฉบับตามที่โจทก์นำมาฟ้องอีก
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 446,250 บาท พร้อมดอกเบี้ยจากต้นเงินจำนวน300,000 บาท อัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติได้ว่าเดิมเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2536 จำเลยได้ทำสัญญากู้เงินโจทก์จำนวน 300,000 บาท กำหนดชำระเงินคืนภายในวันที่ 5 เมษายน 2537 ตามหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งโจทก์นำมาฟ้องคดีนี้ ต่อมาวันที่ 1 มีนาคม 2537 โจทก์จำเลยทำสัญญากู้เงินกันอีกฉบับหนึ่งจำนวนเงิน 260,000 บาท หลังจากนั้นจำเลยชำระหนี้ตามสัญญากู้ฉบับหลังให้แก่โจทก์เสร็จสิ้นแล้ว
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์จำเลยตกลงระงับหนี้เงินกู้ตามสัญญากู้ฉบับเดิมเอกสารหมาย จ.1 โดยมาทำสัญญากู้เงินกันใหม่ตามจำนวนต้นเงินกู้เดิมที่ค้างชำระอยู่ จำนวน 260,000 บาท หรือไม่ ปัญหานี้โจทก์นำสืบว่า จำเลยยังไม่ได้ชำระหนี้ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยตามสัญญากู้ฉบับเดิมตามเอกสารหมาย จ.1 ให้แก่โจทก์เลยแต่ต่อมาวันที่ 1 มีนาคม 2537 จำเลยขอกู้เงินจากโจทก์อีกจึงมีการทำสัญญากู้อีกฉบับหนึ่งจำนวนเงิน 260,000 บาทเป็นหนี้คนละส่วนกับหนี้เงินกู้ตามสัญญากู้เอกสารหมาย จ.1 นั้นปรากฏว่าสัญญากู้เดิมตามเอกสารหมาย จ.1 กำหนดชำระเงินคืนแก่โจทก์ภายในวันที่ 5 เมษายน 2537 น่าเชื่อว่าเมื่อใกล้จะถึงกำหนดชำระหนี้จำเลยยังไม่สามารถชำระหนี้ทั้งหมดได้จึงชำระหนี้เงินกู้ให้โจทก์บางส่วนแล้วนำหนี้ต้นเงินกู้ที่ยังค้างชำระมาทำสัญญากู้กันเป็นฉบับใหม่ และตามสัญญากู้เอกสารหมาย จ.1 กำหนดให้จำเลยต้องชำระดอกเบี้ยให้โจทก์ทุกเดือนแต่โจทก์เบิกความว่าจำเลยไม่เคยชำระให้ ทั้งการกู้เงินดังกล่าวยังเป็นการกู้เงินที่ไม่มีการนำหลักทรัพย์มาเป็นประกันหากจำเลยไม่ชำระต้นเงินและดอกเบี้ยตามสัญญาก็ไม่น่าที่โจทก์จะยอมให้จำเลยกู้เงินไปอีกเป็นจำนวนถึง 260,000 บาทซึ่งเป็นจำนวนเงินที่สูงใกล้เคียงกับจำนวนเงินกู้เดิมที่ค้างชำระอยู่นอกจากนี้หากจำเลยยังค้างชำระหนี้ตามสัญญากู้ฉบับเดิมเอกสารหมาย จ.1 แล้วยังเป็นหนี้ใหม่เพิ่มขึ้นตามสัญญากู้ฉบับหลังอีก 260,000 บาท ดังที่โจทก์กล่าวอ้างแล้ว เมื่อโจทก์มอบให้ทนายความทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ก็ควรทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ตามสัญญากู้ฉบับเดิมซึ่งถึงกำหนดชำระก่อนแล้วด้วยแต่ปรากฏว่าโจทก์ได้มอบให้ทนายความทวงถามโดยมีหลักฐานตามหนังสือเอกสารหมาย ล.1 ซึ่งเป็นการทวงถามเฉพาะหนี้เงินกู้จำนวน 260,000 บาท ตามสัญญากู้ฉบับลงวันที่1 มีนาคม 2537 เท่านั้น ไม่ได้ทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ตามสัญญากู้เดิมเอกสารหมาย จ.1 อันเป็นเหตุให้น่าเชื่อว่าจำเลยมีหนี้เงินกู้ที่ค้างชำระต่อโจทก์เฉพาะหนี้ตามสัญญากู้ฉบับหลังเท่านั้นซึ่งเจือสมกับข้อนำสืบของจำเลย พฤติการณ์ตามที่โจทก์นำสืบมามีข้อพิรุธสงสัยต่าง ๆ ซึ่งโจทก์ไม่สามารถนำสืบให้สิ้นกระแสความได้ ทำให้พยานหลักฐานตามข้อนำสืบของโจทก์ยากที่จะรับฟังได้ ในทางตรงกันข้ามจำเลยสามารถนำสืบแยกแยะให้เห็นถึงจำนวนหนี้ การชำระหนี้บางส่วนแล้วเหลือหนี้อยู่อีกเท่าใดแล้วได้นำหนี้ต้นเงินที่ค้างชำระมาทำสัญญากันใหม่อย่างไรด้วยเหตุและผลอย่างมีขั้นตอนโดยมีข้อเท็จจริงสนองรับซึ่งกันและกันในทางที่เป็นไปได้ ทำให้พยานหลักฐานตามข้อนำสืบของจำเลยมีน้ำหนักให้รับฟังได้มากขึ้นเป็นลำดับ จึงมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์จำเลยตกลงกันระงับหนี้ตามสัญญากู้ฉบับเดิมที่โจทก์นำมาฟ้องแล้วโดยตกลงให้ใช้สัญญาใหม่เป็นสัญญากู้เงินจำนวน260,000 บาท แทน ซึ่งต่อมาก็ได้มีการชำระหนี้ตามสัญญากู้ฉบับใหม่นี้แล้ว และการตกลงระงับหนี้โดยทำสัญญาเป็นหนี้เงินกู้ใหม่เช่นนี้ไม่จำเป็นต้องมีใบเสร็จหรือเวนคืนเอกสารดังที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 326 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ ทั้งไม่ใช่กรณีต้องห้ามการนำสืบตามมาตรา 653 วรรคสองจำเลยจึงไม่ต้องชำระหนี้ตามสัญญากู้ฉบับเดิมเอกสารหมาย จ.1ที่โจทก์นำมาฟ้องให้จำเลยชำระหนี้คดีนี้
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์