คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2508/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำร้องของโจทก์ขอให้ศาลมีคำสั่งให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาเท่านั้น มิได้ขอให้มีคำสั่งจับกุมและกักขังจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 298 วรรคหนึ่ง แต่อย่างใด จึงไม่ต้องด้วยกรณีที่ศาลจะออกหมายจับ หรือสั่งกักขังลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ตามความในวรรคสอง

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2550 ว่าโจทก์ได้รับอนุญาตจากจำเลยให้ใช้ถนนพิพาท ซึ่งเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 9877, 85657 ตำบลบ้านเกาะ อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร ของจำเลยเป็นทางสัญจรเข้าออกจากที่ดินของโจทก์สู่ทางสาธารณะเป็นการชั่วคราวจนกว่าโจทก์ได้มีทางสัญจรอื่น ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 16 พฤษภาคม 2550 อ้างว่า จำเลยไม่ยอมให้โจทก์ใช้ทางพิพาทนำรถบรรทุกอิฐ หิน ปูน ทราย เข้าไปในวัดโจทก์เพื่อก่อสร้างพระอุโบสถและรั้ว ขอให้ศาลมีคำสั่งให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษา ศาลชั้นต้นออกหมายเรียกจำเลยมาสอบถาม จำเลยไม่มาตามนัด แต่ให้ทนายความจำเลยมาแทน ทนายความจำเลยแถลงว่า จำเลยปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความโดยอนุญาตให้โจทก์ใช้ทางพิพาทเป็นการชั่วคราว แต่ในขณะนี้โจทก์มีทางอื่นออกสู่ทางสาธารณะแล้ว โจทก์ควรใช้ทางดังกล่าว โจทก์แถลงว่าทางเข้าออกที่จำเลยอ้างเป็นทางเล็กยาวประมาณ 4 กิโลเมตร และเปลี่ยว ไม่สะดวกแก่การสัญจร ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีทางอื่นออกสู่ทางสาธารณะโดยสะดวก จำเลยยังมีความผูกพันตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่จะต้องให้โจทก์ใช้ทางพิพาทต่อไป เมื่อจำเลยยืนยันว่าไม่สามารถเปิดให้โจทก์ใช้ทางพิพาทได้ จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา ให้บังคับคดีโดยออกหมายจับจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 298 โดยศาลชั้นต้นมีคำสั่งในวันที่ 26 ตุลาคม 2550 ต่อมาวันที่ 29 ตุลาคม 2550 จำเลยมาศาล ศาลชั้นต้นจึงให้ออกหมายขังจำเลย และอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว
จำเลยอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ออกหมายจับ
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 297 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ภายใต้บังคับมาตรา 296 ทวิ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาชอบที่จะยื่นคำขอฝ่ายเดียว โดยทำเป็นคำร้องต่อศาลไม่ว่าเวลาใด ๆ นับแต่ระยะเวลาที่กำหนดไว้เพื่อการปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ขอให้มีการบังคับได้ล่วงพ้นไปจนถึงเวลาที่การบังคับคดีได้เสร็จสิ้นลง ขอให้ศาลมีคำสั่งจับกุมและกักขังลูกหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งจงใจไม่ปฏิบัติตามหมายบังคับคดี” ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 298 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “เมื่อมีคำขอให้จับตัวลูกหนี้ตามคำพิพากษาโดยเหตุจงใจขัดขืนไม่ปฏิบัติตามคำบังคับ ให้ศาลออกหมายเรียกลูกหนี้ตามคำพิพากษามาศาล” ความในวรรคสองบัญญัติว่า “ถ้าได้ออกหมายเรียกตามวรรคหนึ่งแล้ว ลูกหนี้นั้นไม่มาศาล และมิได้แจ้งเหตุอันสมควรในการที่ไม่มาให้ศาลทราบ หากศาลเห็นว่าลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้รับหมายเรียกแล้ว ศาลจะออกหมายจับลูกหนี้ตามคำพิพากษาก็ได้ หรือถ้าลูกหนี้ตามคำพิพากษามาศาลแต่แสดงเหตุอันสมควรในการปฏิบัติตามคำบังคับมิได้ ศาลมีอำนาจสั่งกักขังลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้นทันที หรือตั้งแต่วันใดวันหนึ่งที่ศาลเห็นสมควรกำหนดก็ได้ ถ้าลูกหนี้ตามคำพิพากษายังคงขัดขืนอยู่จนถึงวันนั้น” เห็นว่า คำร้องของโจทก์ฉบับลงวันที่ 16 พฤษภาคม 2550 โจทก์มิได้ขอให้ศาลมีคำสั่งจับกุมและกักขังจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาแต่อย่างใด โจทก์คงขอให้ศาลมีคำสั่งให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาเท่านั้น คำร้องดังกล่าวจึงมิใช่คำขอให้จับตัวลูกหนี้ตามคำพิพากษาโดยเหตุจงใจขัดขืนไม่ปฏิบัติตามคำบังคับ ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 298 วรรคหนึ่ง จึงไม่ต้องด้วยกรณีที่ศาลจะออกหมายเรียก หมายจับ หรือสั่งกักขังลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ตามความในวรรคสอง ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งออกหมายเรียก หมายจับ และหมายขังจำเลยมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยจะไม่ได้ยกขึ้นอ้างในฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบด้วยมาตรา 246 และมาตรา 247 ปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ว่า จำเลยมิได้จงใจขัดขืนไม่ปฏิบัติตามคำบังคับ จึงไม่จำต้องวินิจฉัย เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษากลับ ให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ออกหมายจับและหมายขังจำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลในชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share