แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การขออนุญาตมีและใช้อาวุธปืน ผู้ขอจะต้องไปยื่นคำขอต่อนายทะเบียนอาวุธปืนท้องที่ที่ผู้ขอมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านก่อน เมื่อนายทะเบียนอาวุธปืนท้องที่เห็นว่าผู้ขอมีคุณสมบัติตามที่พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ กำหนดแล้วจึงอนุญาตให้ซื้อหรือรับโอนอาวุธปืนได้ โดยจะออกใบอนุญาตให้ซื้ออาวุธปืนหรือเครื่องกระสุนปืนส่วนบุคคล(แบบ ป.3) ให้ จากนั้นผู้ขอจึงนำใบ ป.3 ดังกล่าวไปซื้ออาวุธปืนจากร้านค้าหรือผู้ขายแล้วจึงนำอาวุธปืนพร้อมหลักฐานที่เกี่ยวข้องไปแสดงต่อนายทะเบียนอาวุธปืนผู้ออกใบอนุญาตเพื่อออกใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน (แบบ ป.4) ถือได้ว่านายทะเบียนอาวุธปืนผู้ออกใบอนุญาตได้อนุญาตให้ผู้ขอมีและใช้อาวุธปืนแล้วตั้งแต่ออกใบ ป.3ส่วนขั้นตอนการไปซื้อหรือรับโอนจนกระทั่งออกใบ ป.4 เป็นขั้นตอนต่อมาเพื่อควบคุมอาวุธปืนในราชอาณาจักรให้รู้ว่าอาวุธปืนแต่ละกระบอกอยู่ในครอบครองของผู้ใดเท่านั้นไม่ได้หมายความว่าผู้ขอเพิ่งได้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนเมื่อนายทะเบียนออกใบป.4 ให้ การที่จำเลยซื้อและครอบครองอาวุธปืนของกลางตามใบ ป.3 และดำเนินการขอออกใบ ป.4 สำหรับอาวุธปืนของกลางจนได้รับใบ ป.4 จึงไม่เป็นความผิดฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และเมื่อจำเลยได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนของกลางก่อนที่ศาลชั้นต้นสั่งริบ อาวุธปืนของกลางจึงไม่ใช่สิ่งที่มีไว้เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 91, 371 ริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิวรรคหนึ่ง, 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน จำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธปืน เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน รวมเป็นจำคุก 1 ปี 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 12 เดือน ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยพร้อมยึดได้อาวุธปืนรีวอลเวอร์ขนาด .38 จำนวน 1 กระบอก กระสุนปืนขนาด .38 จำนวน 5 นัด และซองปืนจำนวน 1 ซอง เป็นของกลาง คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่าจำเลยกระทำความผิดฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตหรือไม่ โจทก์มีพันตำรวจโทดิเรก ปลั่งดี และร้อยตำรวจโทสนั่น ชูสกุล ผู้จับกุมเบิกความเพียงว่าขณะจับกุมจำเลย จำเลยยอมรับว่าอาวุธปืนของกลางเป็นของจำเลยและจำเลยไม่สามารถนำใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนและใบอนุญาตให้พาอาวุธปืนมาแสดงได้ พยานจึงยึดอาวุธปืนไว้เป็นของกลางเท่านั้น แต่ปรากฏจากคำเบิกความของร้อยตำรวจเอกสมเกียรติ ทรัพย์ส่งเสริม พนักงานสอบสวนพยานโจทก์อีกปากหนึ่งที่มาเบิกความประกอบบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาเอกสารหมาย จ.3 ว่า ในชั้นสอบสวนจำเลยให้การว่าอาวุธปืนของกลาง จำเลยได้รับใบอนุญาตให้ซื้ออาวุธปืน (แบบ ป.3)แล้ว อยู่ระหว่างดำเนินการออกใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน (แบบ ป.4) เจือสมกับที่จำเลยนำสืบว่า จำเลยได้รับใบอนุญาตให้ซื้ออาวุธปืน (แบบ ป.3) เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม2540 ตามเอกสารหมาย ล.2 จำเลยเพิ่งไปรับอาวุธปืนจากร้านค้าก่อนเกิดเหตุเพียง1 วัน ขณะเกิดเหตุอยู่ระหว่างดำเนินการออกใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน (แบบ ป.4)และจำเลยได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน (แบบ ป.4) เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2540ตามเอกสารหมาย ล.5 ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนอาวุธปืนอำเภอหันคาให้ซื้ออาวุธปืนหรือเครื่องกระสุนปืนแล้ว จำเลยจึงซื้ออาวุธปืนของกลางมาตามใบอนุญาตดังกล่าวและอยู่ระหว่างดำเนินการจดทะเบียนรับใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน เห็นว่า การขออนุญาตมีและใช้อาวุธปืนผู้ขอจะต้องไปยื่นคำขอต่อนายทะเบียนอาวุธปืนท้องที่ที่ผู้ขอมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านก่อน เมื่อนายทะเบียนอาวุธปืนท้องที่พิจารณาเห็นว่าผู้ขอมีคุณสมบัติตามที่พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ กำหนดแล้วจึงอนุญาตให้ซื้อหรือรับโอนอาวุธปืนได้ โดยจะออกใบอนุญาตให้ซื้ออาวุธปืนหรือเครื่องกระสุนปืนส่วนบุคคล (แบบ ป.3) ให้ จากนั้นผู้ขอจึงนำใบ ป.3ดังกล่าวไปซื้ออาวุธปืนจากร้านค้าหรือผู้ขาย แล้วจึงนำอาวุธปืนพร้อมหลักฐานที่เกี่ยวข้องไปแสดงต่อนายทะเบียนอาวุธปืนผู้ออกใบอนุญาตเพื่อออกใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน(แบบ ป.4) สำหรับอาวุธปืนกระบอกดังกล่าวให้แก่ผู้ขอต่อไป ตามขั้นตอนดังกล่าวถือได้ว่านายทะเบียนอาวุธปืนผู้ออกใบอนุญาตได้อนุญาตให้ผู้ขอมีและใช้อาวุธปืนแล้วตั้งแต่ออกใบ ป.3 ส่วนขั้นตอนการไปซื้อหรือรับโอนจนกระทั่งออกใบ ป.4 เป็นขั้นตอนต่อมาเพื่อควบคุมอาวุธปืนในราชอาณาจักรให้รู้ว่าอาวุธปืนแต่ละกระบอกอยู่ในครอบครองของผู้ใดเท่านั้น ไม่ได้หมายความว่าผู้ขอเพิ่งได้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนเมื่อนายทะเบียนอาวุธปืนออกใบ ป.4 ให้ ทั้งตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 23(2)ก็กำหนดให้ใบ ป.3 มีอายุ 6 เดือน นับแต่วันออก การที่จำเลยซื้อและครอบครองอาวุธปืนของกลางตามใบ ป.3 และดำเนินการขอออกใบ ป.4 สำหรับอาวุธปืนของกลางจนได้รับใบ ป.4 ตามเอกสารหมาย ล.5 เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2540 ก่อนที่ใบ ป.3 เอกสารหมาย ล.2 จะสิ้นอายุประกอบกับพฤติการณ์ที่จำเลยไปขออนุญาตจากนายทะเบียนอาวุธปืนจนกระทั่งได้รับอนุญาตตามกฎหมาย ก็แสดงอยู่ในตัวว่าจำเลยไม่มีเจตนาจะฝ่าฝืนกฎหมาย การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตดังที่โจทก์ฟ้อง
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่าจำเลยกระทำผิดฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมืองหมู่บ้านหรือทางสาธารณะหรือไม่นั้น เห็นว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยไม่มีใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว (แบบ ป.12) แม้จำเลยจะนำสืบว่า คืนวันเกิดเหตุจำเลยมีเงินสดจำนวน60,000 บาท กับสลากกินแบ่งรัฐบาลที่ถูกรางวัลมีมูลค่า 290,000 บาท ติดตัวอยู่ด้วยและจำเลยต้องขับรถยนต์ผ่านจังหวัดสุพรรณบุรีมีระยะทาง 60 กิโลเมตร เป็นเส้นทางเปลี่ยวและเคยมีเหตุการณ์ปล้นทรัพย์บริเวณดังกล่าวก็ตาม แต่จำเลยก็มีเพียงตัวจำเลยปากเดียวเบิกความเป็นพยานโดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นสนับสนุน ทั้งตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาเอกสารหมาย จ.3 ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยให้การถึงเหตุผลความจำเป็นในการต้องพาอาวุธปืนติดตัวเอาไว้แต่อย่างใด พยานหลักฐานของจำเลยจึงเป็นพิรุธน่าสงสัยไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยพาอาวุธปืนของกลางติดตัวไปโดยไม่เป็นกรณีมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ จำเลยจึงมีความผิดฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตแต่เมื่อพิจารณาพฤติการณ์ในการกระทำความผิดของจำเลยแล้วไม่ปรากฏว่าจำเลยจะนำอาวุธปืนของกลางไปใช้ในการกระทำความผิดประกอบกับจำเลยมีอาชีพเป็นหลักแหล่ง และไม่ปรากฏว่าเคยต้องโทษถึงจำคุกมาก่อน กรณีสมควรรอการลงโทษให้จำเลย
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ประการสุดท้ายว่า สมควรริบอาวุธปืนของกลางหรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าต่อมาจำเลยได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนของกลางตามเอกสารหมาย ล.5 เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2540 ก่อนที่ศาลชั้นต้นสั่งริบอาวุธปืนของกลางจึงไม่ใช่สิ่งที่มีไว้เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่ริบอาวุธปืนของกลางจึงชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง,72 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 กรณีเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งมีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน และปรับ 3,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก4 เดือน และปรับ 2,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7