คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4785/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยเช่าที่ดินสาธารณสมบัติซึ่งอยู่ในบริเวณเขตปรับปรุงอาคารมีกำหนด 10 ปี เมื่อครบกำหนดอายุสัญญาเช่าแล้วจำเลยไม่รื้อถอนขนย้ายอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดิน จึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 77 วรรคสี่ กรณีไม่จำต้องให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นแจ้งคำสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารก่อน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปรับปรุงอาคารในท้องที่ตำบลหัวหิน อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พ.ศ.2522 กำหนดให้ท้องที่ตำบลหัวหิน อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ภายในแนวเขตตามแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกาตามฉบับนี้เป็นเขตปรับปรุงอาคาร ต่อมาวันที่ 1 มิถุนายน 2534 ภายหลังพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวใช้บังคับแล้ว เทศบาลตำบลหัวหินซึ่งเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่น ตกลงให้จำเลยเช่าที่ดินที่เป็นสาธารณสมบัติเนื้อที่ 26.80 ตารางเมตร ซึ่งอยู่ในบริเวณเขตปรับปรุงอาคารตามพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวมีกำหนด 10 ปี ครบกำหนดอายุสัญญาเช่าในวันที่ 31 พฤษภาคม 2544 จำเลยได้เข้าไปปลูกสร้างอาคารและใช้ประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวแล้ว เมื่อระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน 2544 เวลากลางวัน อันเป็นวันที่สิ้นกำหนดเวลาเช่าตามสัญญาเช่าที่ดินดังกล่าวถึงวันฟ้องต่อเนื่องกันตลอดมารวม 852 วัน จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของผู้ครอบครองอาคารสิ่งก่อสร้างในที่ดินที่เป็นสาธารณสมบัติที่เช่าจากเทศบาลตำบลหัวหิน ไม่รื้อถอนขนย้ายอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างของตนออกจากที่ดินบริเวณเขตปรับปรุงอาคารที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าว เมื่อสิ้นกำหนดเวลาเช่าที่ดินแล้ว อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เหตุเกิดที่ตำบลหัวหิน อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 77 ปรับเป็นรายวันตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนหรือจนกว่าจำเลยยินยอมให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นเข้าดำเนินการรื้อถอดอาคารนั้นด้วย
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 77 ปรับ 40,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับ 20,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ส่วนที่โจทก์ขอให้ปรับเป็นรายวันอีกด้วยนั้น โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่า เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีคำสั่งให้รื้อถอนอาคารตั้งแต่เมื่อใด จึงไม่อาจปรับเป็นรายวันตามที่โจทก์ขอ ให้ยกคำขอส่วนนี้
โจทก์อุทธรณ์โดยรองอธิบดีอัยการฝ่ายคดีอาญาธนบุรีปฏิบัติราชการในหน้าที่อธิบดีอัยการฝ่ายคดีศาลสูงเขต 7 ซึ่งได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุดรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 77 วรรคสี่ ปรับ 60,000 บาท และปรับเป็นรายวันอีกวันละ 1,000 บาท รวม 852 วัน เป็นเงิน 852,000 บาท รวมเป็น 858,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับ 429,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยฎีกาโดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การกระทำของจำเลยตามที่โจทก์บรรยายมาในฟ้องเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 77 วรรคสี่ ตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาลงโทษหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 77 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ท้องที่ใดมีอาคารก่อสร้างขึ้นเป็นจำนวนมากในที่ดินเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับและมีสภาพหรืออาจทำให้เกิดสภาพที่ไม่เหมาะสม หรือไม่ปลอดภัยในการอยู่อาศัย การป้องกันอัคคีภัย การสาธารณสุข การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม การผังเมือง และการอำนวยความสะดวกแก่การจราจร เมื่อมีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปรับปรุงอาคารในท้องที่นั้นแล้ว ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง ดังต่อไปนี้ (4) มีคำสั่งให้เจ้าของอาคารทำสัญญาเช่าที่ดินกับเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และอัตราค่าเช่าที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด” และวรรคสี่ บัญญัติว่า “สัญญาเช่าที่ดินที่ทำขึ้นตามวรรคหนึ่ง (4) ให้มีระยะเวลาเช่าตามที่ตกลงกันแต่ต้องไม่เกินสิบปี การต่อระยะเวลาเช่าจะกระทำมิได้ เมื่อสิ้นกำหนดเวลาเช่าที่ดินแล้ว เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารผู้ใดไม่รื้อถอนขนย้ายอาคาร หรือสิ่งปลูกสร้างของตนออกจากบริเวณที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และต้องระวางโทษปรับเป็นรายวันอีกวันละหนึ่งพันบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืน หรือจนกว่าผู้นั้นยินยอมให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นเข้าดำเนินการรื้อถอนอาคารนั้นเองในกรณีหลังนี้ให้นำมาตรา 42 วรรคสี่และวรรคห้า มาใช้บังคับโดยอนุโลม” คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2534 เทศบาลตำบลหัวหินซึ่งเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นตกลงให้จำเลยเช่าที่ดินที่เป็นสาธารณสมบัติเนื้อที่ 26.80 ตารางเมตร ซึ่งอยู่ในบริเวณเขตปรับปรุงอาคารตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปรับปรุงอาคารในท้องที่ตำบลหัวหิน อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พ.ศ.2522 มีกำหนด 10 ปี ครบกำหนดอายุสัญญาเช่าในวันที่ 31 พฤษภาคม 2544 จำเลยได้เข้าไปปลูกสร้างอาคารและใช้ประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวแล้วเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2544 อันเป็นวันที่สิ้นกำหนดเวลาเช่าตามสัญญาเช่าที่ดินดังกล่าวถึงวันฟ้องต่อเนื่องกันตลอดมารวม 852 วัน จำเลยไม่รื้อถอน ขนย้ายอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างของตนออกจากที่ดินบริเวณดังกล่าว เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามฟ้องว่า จำเลยเช่าที่ดินที่เป็นสาธารณสมบัติเนื้อที่ 26.80 ตารางเมตร ซึ่งอยู่ในบริเวณเขตปรับปรุงอาคารมีกำหนด 10 ปี เมื่อครบกำหนดอายุสัญญาเช่าแล้วจำเลยไม่รื้อถอนขนย้ายอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดิน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามมาตรา 77 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้ว กรณีไม่จำต้องให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นต้องแจ้งคำสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารก่อนดังที่จำเลยฎีกา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้นชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share