คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4725/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ป.พ.พ. มาตรา 193/17 วรรคสอง มีความหมายว่า กำหนดระยะเวลา 60 วัน เริ่มนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นซึ่งได้รับคำฟ้องไว้แต่แรกมีคำสั่งไม่รับฟ้องถึงที่สุด เมื่อศาลชั้นต้นอ่านคำวินิจฉัยของประธานศาลฎีกาซึ่งถือว่าเป็นคำสั่งถึงที่สุดตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญหาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 9 พร้อมกับมีคำสั่งไม่รับฟ้อง ให้จำหน่ายคดีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2548 กำหนดระยะเวลา 60 วัน ย่อมนับแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2548 มิใช่นับแต่วันที่ 4 เมษายน 2548 ซึ่งเป็นวันที่ประธานศาลฎีกามีคำวินิจฉัยเรื่องเขตอำนาจศาล

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2546 จำเลยทั้งสองว่าจ้างโจทก์ให้จัดการขนส่งสินค้าทางอากาศจากกรุงเทพมหานครถึงนครลอสแอนเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา สินค้าของจำเลยทั้งสองไปถึงผู้รับปลายทางเป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2546 ต่อมาวันที่ 2 เมษายน 2546 โจทก์เรียกเก็บค่าระวางและค่าบริการจัดส่งสินค้า 155,739 บาท จากจำเลยทั้งสอง แต่จำเลยทั้งสองไม่ชำระ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงิน 182,363.96 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 155,739 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจกท์
จำเลยทั้งสองให้การว่า เดิมโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองที่ศาลจังหวัดธัญบุรี แต่ประธานศาลฎีกามีคำวินิจฉัยที่ ทก. 31/2548 ลงวันที่ 4 เมษายน 2548 ว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ โจทก์จึงต้องฟ้องคดีต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ประธานศาลฎีกามีคำวินิจฉัย แต่โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2548 เกิน 60 วัน คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงิน 155,739 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 เมษายน 2546 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องไม่เกิน 26,624.96 บาท ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 6,000 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาซึ่งนั่งพิจารณาคดีในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางรับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ เมื่อเดือนมีนาคม 2546 โจทก์รับจัดการขนส่งสินค้าเสื้อผ้าเด็กทางอากาศจากกรุงเทพมหานครถึงนครลอสแอนเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา โจทก์ติอต่อจองระวางเครื่องบิน และสินค้าได้ขนส่งโดยเครื่องบินของสายการปินไชน่า แอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ ซีโอ 388/02 ไปถึงผู้รับปลายทางเป็นที่เรียบร้อยเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2546 โดยมีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของสินค้าตามใบกำกับสินค้า เอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 ใบรับขนของทางอากาศ เอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 โจทก์ได้จ่ายค่าระวางไปเป็นเงิน 126,237.50 บาท ตามใบกำกับภาษีหรือใบเสร็จรับเงิน ใบกำกับสินค้า สำเนาเช็ค เอกสาร จ.7 ถึง จ.9 ต่อมาวันที่ 2 เมษายน 2546 โจทก์เรียกเก็บค่าระวางและค่าบริการจัดการส่งขนส่งสินค้าจำนวน 155,739 บาท จากจำเลยทั้งสอง แต่จำเลยทั้งสองไม่ชำระ โจทก์ทวงถามอีกหลายครั้ง แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ตามหนังสือทวงถามพร้อมไปรษณีย์ตอบรับ เอกสารหมาย จ.11 คดีนี้เดิมโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองที่ศาลจังหวัดธัญบุรี ประธานศาลฎีกามีคำวินิจฉัยว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ศาลจังหวัดธัญบุรีจึงมีคำสั่งไม่รับฟ้องและจำหน่ายคดีออกจากสารบบความของศาลจังหวัดธัญบุรีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2548 โจทก์จึงนำคดีมาฟ้องที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2548 ตามสำเนาคำฟ้อง สำเนาหมายนัดและคำวินิจฉัยของประธานศาลฎีกาเอกสารหมาย จ.12 ถึง จ.14
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองประการแรกว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ข้อนี้จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่าโจทก์นำคดีมาฟ้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเกินกำหนด 60 วัน นับแต่วันที่ประธานศาลฎีกามีคำวินิจฉัยเรื่องเขตอำนาจศาลคือ วันที่ 4 เมษายน 2548 นั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งพาณิชย์ มาตรา 193/17 วรรคสอง ได้บัญญัติถึงกรณีที่ศาลไม่รับหรือคืนหรือให้ยกคำฟ้องเพราะเหตุคดีไม่อยู่ในอำนาจศาล และปรากฏว่าอายุความครบกำหนดไปแล้วในระหว่างการพิจารณา ให้เจ้าหนี้มีสิทธิฟ้องคดีใหม่ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นถึงที่สุด ย่อมมีความหมายว่ากำหนดระยะเวลา 60 วัน เริ่มนับแต่วันที่ศาลจังหวัดธัญบุรีซึ่งได้รับคำฟ้องไว้แต่แรกมีคำสั่งไม่รับฟัองถึงที่สุดนั่นเอง เมื่อปรากฏว่าศาลจังหวัดธัญบุรีอ่านคำวินิจฉัยของประธานศาลฎีกาซึ่งถือว่าเป็นคำสั่งถึงที่สุดตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 9 พร้อมกับมีคำสั่งไม่รับฟ้อง ให้จำหน่ายคดีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2548 กำหนดระยะเวลา 60 วัน ตามบทบัญญัติข้างต้นย่อมนับแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2548 หาใช่นับแต่วันที่ 4 เมษายน 2548 ซึ่งเป็นวันที่ประธานศาลฎีกามีคำวินิจฉัยเรื่องเขตอำนาจศาลดังที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์มาไม่ ดังนั้น เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้ในวันที่ 12 กรกฎาคม 2548 ยังไม่พ้นกำหนดเวลา 60 วัน นับแต่คำสั่งไม่รับฟ้องของศาลจังหวัดธัญบุรีถึงที่สุด โจทก์จึงยื่นฟ้องคดีใหม่ภายในกำหนดเวลาตามกฎหมายดังกล่าวแล้ว”
พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าทนายความในชั้นนี้แทนโจทก์ 5,000 บาท

Share