คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 811/2519

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ธนาคารโจทก์กับสาขาต่างประเทศและสาขากรุงเทพฯ ย่อมเป็นนิติบุคคลเดียวกัน เงินที่สาขาต่างประเทศส่งมาใช้เป็นเงินกองทุนและเป็นเงินทุนหมุนเวียนของสาขากรุงเทพฯ ต้องถือเป็นเงินทุนและเงินสำรองของโจทก์ เพราะพระราชบัญญัติธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 มาตรา 10, 12 ประกอบด้วยมาตรา 6 วรรคสองมีเจตนารมณ์ให้ธนาคารพาณิชย์ มีฐานะมั่นคงปลอดภัยแก่ทรัพย์สินของผู้เป็นลูกค้าหรื่อผู้ติดต่อทำธุรกิจ ไม่ประสงค์และไม่ได้บัญญัติให้ธนาคารสาขามีเงินทุน เงินสำรองต่าง ๆ หรือเงินกองทุนของตนเองแยกต่างหากจากสำนักงานใหญ่และสาขาอื่น ๆ
สาขาธนาคารโจทก์ที่ต่างประเทศส่งเงินมาให้สาขากรุงเทพฯ ใช้เป็นเงินกองทุน และเป็นเงินทุนหมุนเวียนของสาขากรุงเทพฯ แม้เงินที่ส่งมานั้นจะเคยเป็นเงินฝากของลูกค้าของสาขาต่างประเทศที่มีความผูกพันจะต้องจ่ายดอกเบี้ยแก่ผู้ฝากก็ตาม การที่สาขากรุงเทพฯ ส่งดอกเบี้ยสำหรับเงินจำนวนนี้ไปให้สาขาต่างประเทศ ก็เป็นเพียงการจ่ายเพื่อผ่อนภาระของสาขาต่างประเทศเท่านั้น มิใช่รายจ่ายโดยตรงของสาขากรุงเทพฯ ถือได้ว่าเป็นรายจ่ายที่กำหนดขึ้นเองโดยไม่มีการจ่ายจริง และเป็นค่าตอบแทนแก่ทรัพย์สินซึ่งนิติบุคคลเป็นเจ้าของเองและใช้เอง ทั้งเป็นดอกเบี้ยที่คิดให้สำหรับเงินทุนเงินสำรองต่าง ๆ หรือเงินกองทุนของตนเอง ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี (9) (10) (11) ซึ่งมิให้ถือเป็นรายจ่ายเพื่อหากำไรสุทธิในการเสียภาษีเงินได้
บริษัท ป. กู้เงินจากสาขาธนาคารโจทก์ที่ต่างประเทศ ดอกเบี้ยที่บริษัท ป. ขอให้สาขากรุงเทพฯ หักจากบัญชีเงินฝากของบริษัท ป. ส่งไปให้สาขาต่างประเทศนั้น ถือว่าเป็นรายได้ของโจทก์ที่จะต้องนำไปรวมคำนวณหากำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้เช่นเดียวกับเงินดอกเบี้ยที่สาขากรุงเทพฯ ส่งออกไปจากประเทศไทยดังกล่าวมาแล้ว และการที่ธนาคารโจทก์สาขากรุงเทพฯ ส่งเงินดอกเบี้ยทั้งสองรายนี้ออกไปให้สาขาต่างประเทศ ย่อมเป็นการจำหน่ายกำไรออกจากประเทศไทย ต้องเสียภาษีเงินได้อัตราร้อยละ 15 ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 70 ทวิ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดตามกฎหมายอังกฤษ มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่อาณานิคมฮ่องกง มีสาขาทั่วโลก รวมทั้งสาขากรุงเทพฯ สาขากรุงเทพฯ ได้ยืมเงินฝากของลูกค้าจากสาขานิวยอร์ค ลอนดอน และสาขาอื่นมาเป็นเงินกองทุน ตามพระราชบัญญัติธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. ๒๕๐๕ และเป็นเงินทุนหมุนเวียน ได้ส่งดอกเบี้ยไปให้สาขาที่ยืม รวมเป็นเงิน ๙,๘๗๕,๐๒๕ บาท ๗๑ สตางค์ แล้วตั้งเป็นรายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการ และได้ส่งเงินดอกเบี้ยที่บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด กู้จากสาขานิวยอร์ค รวมเป็นเงิน ๑,๖๙๒,๐๙๖ บาท ๘๐ สตางค์ ได้เสียภาษีตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๗๐ (๒) แล้ว เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ ๑ ถือว่าดอกเบี้ยเงินกู้ของสาขากรุงเทพฯ ที่ส่งไปนั้นเป็นรายจ่ายอันต้องห้ามมิให้หักตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๖๕ ตรี (๙) (๑๐) (๑๑) สั่งให้โจทก์เสียภาษีเพิ่ม และถือว่าเป็นการจำหน่ายเงินกำไรออกไปจากประเทศไทยต้องเสียภาษีร้อยละ ๑๕ ตามมาตรา ๗๐ ทวิ และเรียกเก็บจากดอกเบี้ยของบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด รวมเป็นเงินที่เรียกเก็บจากโจทก์ ๓,๓๙๖,๖๙๑ บาท ๓๐ สตางค์ กับให้เสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ ๒๐ ตามมาตรา ๒๗ โจทก์อุทธรณ์การประเมิน คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ โจทก์เห็นว่าการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ไม่ถูกต้อง และไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมิน และคำวินิจฉัยอุทธรณ์
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า การประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ชอบด้วยประมวลรัษฎากรแล้ว
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
คดีได้ความว่า สาขาของธนาคารโจทก์ที่นิวยอร์ค และลอนดอนส่งเงินฝากของลูกค้าสาขานิวยอร์ค ลอนดอน มาให้สาขากรุงเทพฯ โดยวิธีหักทอนบัญชีกันตามสเตทเม้นท์แอคเค้านท์ เอกสาร จ.๑ สาขากรุงเทพฯ เสียดอกเบี้ยให้ร้อยละ ๔ – ๕ ถ้ากู้จากที่อื่นจะเสียดอกเบี้ยประมาณร้อยละ ๙ สาขากรุงเทพฯ จะได้ดอกเบี้ยจากลูกค้าที่กู้ไปไม่เกินร้อยละ ๑๔ สาขากรุงเทพฯ จึงมีกำไร เมื่อส่งดอกเบี้ยออกไปจากประเทศไทย ได้ตั้งเป็นรายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการ และบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด กู้เงินจากสาขานิวยอร์ค ตามเอกสาร จ. ๓ แล้วขอให้สาขากรุงเทพฯ ซึ่งบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด มีบัญชีเงินฝาก ส่งดอกเบี้ยให้โดยวิธีหักเงินในบัญชีเงินฝากของบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ดอกเบี้ยเงินกู้ที่สาขากรุงเทพฯ ส่งออกไปจากประเทศไทยนั้น เห็นว่าเมื่อโจทก์กับสาขาต่างประเทศและสาขากรุงเทพฯ เป็นนิติบุคคลเดียวกัน เงินที่สาขาต่างประเทศส่งมาใช้เป็นเงินกองทุนและเป็นเงินหมุนเวียนตามฟ้อง ต้องถือว่าเป็นเงินทุนและเงินสำรองของโจทก์ เพราะพระราชบัญญัติธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. ๒๕๐๕ มาตรา ๑๐, ๑๒ ประกอบด้วยมาตรา ๖ วรรคสอง มีเจตนารมณ์ให้ธนาคารพาณิชย์ มีฐานะมั่นคง ปลอดภัยแก่ทรัพย์สินของผู้เป็นลูกค้าหรือผู้ติดต่อทำธุรกิจ ไม่ประสงค์และไม่ได้บัญญัติให้ธนาคารสาขามีเงินทุน เงินสำรองต่าง ๆ หรือเงินกองทุนของตนเองแยกต่างหากจากสำนักงานใหญ่ และสาขาอื่น ๆ และแม้เงินที่ส่งมานั้นจะเคยเป็นเงินฝากของลูกค้าของสาขาต่างประเทศที่มีความผูกพันจะต้องจ่ายดอกเบี้ยแก่ผู้ฝาก ดอกเบี้ยนั้นโดยแท้ก็เป็นการจ่ายเพื่อผ่อนภาระของสาขาต่างประเทศเอง มิใช่รายจ่ายโดยตรงของสาขากรุงเทพฯ ถือได้ว่าเป็นรายจ่ายซึ่งกำหนดขึ้นเองโดยไม่มีภาระจ่ายจริง และการให้ดอกเบี้ยแก่กันเช่นนี้ คือการส่งผลกำไรออกไปให้แก่ตนเองในต่างประเทศ ย่อมเป็นค่าตอบแทนแก่ทรัพย์สิน ซึ่งนิติบุคคลเป็นเจ้าของเองและใช้เอง ทั้งเป็นดอกเบี้ยที่คิดให้สำหรับเงินทุน เงินสำรองต่าง ๆ หรือเงินกองทุนของตนเอง ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร มาตรา ๖๕ ตรี (๙) (๑๐) (๑๑) ซึ่งไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ จึงต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อหากำไรสุทธิในการเสียภาษีเงินได้ ส่วนดอกเบี้ยของบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ที่ให้สาขากรุงเทพฯ ส่งออกไปจากประเทศไทย แม้จะเป็นดอกเบี้ยของเงินที่บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด กู้มาจากสาขานิวยอร์ค ก็ต้องถือว่าเป็นรายได้ที่จะต้องนำไปรวมคำนวณหากำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้ด้วยเหตุผลอย่างเดียวกับดอกเบี้ยเงินกู้ของสาขากรุงเทพฯ ที่ส่งออกไปจากประเทศไทยดังกล่าว การส่งดอกเบี้ยออกไปจากประเทศไทยทั้งสองกรณีตามฟ้อง จึงเป็นการจำหน่ายกำไรออกจากประเทศไทย ต้องเสียภาษีเงินได้อัตราร้อยละ ๑๕ ตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๗๐ ทวิ เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ ๑ ได้ทำการประเมินเรียกเก็บและจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายแล้ว
พิพากษายืน

Share